ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัดสธ.เผยไทยมีขยะมากเกือบ 27 ล้านตัน ก่อปัญหาโรคอุจจาระร่วง  พบปีละกว่า 1 ล้านรายทั่วประเทศ เสียชีวิตในปี 2556 จำนวน 13 ราย  เร่งพัฒนาระบบการจัดการขยะมูลฝอยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยใช้ 5 ยุทธศาสตร์สำคัญ เช่น การแยกทิ้งขยะตั้งแต่ครัวเรือน บังคับใช้กฎหมายจริงจัง โดยกรมอนามัยจะตรวจสอบการปนเปื้อนน้ำจากแหล่งขยะในแหล่งน้ำอุปโภคบริโภค หากพบจะเสนอให้ฝังกลบและปรับเป็นพื้นที่สาธารณะพักผ่อนหย่อนใจ และป้องกันปัญหาขยะพิษ ขยะติดเชื้อที่ทิ้งรวมขยะทั่วไป  เพื่อสร้างความปลอดภัยชุมชนพร้อมเสนอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพิ่มค่าธรรมเนียมจัดการขยะ เพื่อใช้กำจัดและบำบัดอย่างถูกวิธี ซึ่งปัจจุบันท้องถิ่นสามารถเก็บได้เฉพาะค่าเก็บขนเท่านั้น

นายแพทย์ณรงค์  สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า  ในวันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) เพื่อให้ทุกประเทศ ตื่นตัวและตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีและมีความปลอดภัยต่อสิ่งมีชีวิตทั้งมวล โดยในปีนี้เน้นการรณรงค์เรื่อง “ยกระดับความคิด แก้วิกฤติน้ำท่วมโลก” (Raise your voice not the sea level)  เนื่องจากน้ำเป็นปัจจัยดำรงชีวิต คนทั่วโลกต้องใช้ในการอุปโภคบริโภค หากน้ำมีความสะอาด จะส่งผลให้ชีวิตของประชาชนแข็งแรง ไม่เจ็บป่วย ในทางตรงกันข้ามหากน้ำที่ประชาชนอุปโภคบริโภคมีสิ่งแปลกปลอม เชื้อโรค หรือสารเคมีปนเปื้อนอยู่ในน้ำ ก็จะส่งผลต่อสุขภาพประชาชน

นายแพทย์ณรงค์ กล่าวว่า การเจ็บป่วยที่เป็นผลกระทบที่เห็นได้ง่ายและเร็วที่สุด จากปัญหาน้ำและอาหารไม่สะอาด คือ โรคอุจจาจาระร่วง สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานตลอดในปี 2556  ทั่วประเทศป่วยจำนวน 1,130,763 ราย  เสียชีวิต 13 ราย ซึ่งกลุ่มที่มีอัตราการป่วยมากที่สุดคือ ผู้สูงอายุ ส่วนปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 2 มิถุนายน 2557 พบผู้ป่วยแล้ว 490,769 ราย เสียชีวิต 5 ราย โดยกลุ่มผู้สูงอายุยังเป็นกลุ่มที่มีอัตราการป่วยมากที่สุดเช่นเดิม จะเห็นได้ว่าอาหารและน้ำดื่มที่มีการปนเปื้อน มีผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพของประชาชนอย่างมาก โดยสาเหตุส่วนหนึ่งเป็นผลมากจากปัญหาการจัดการขยะมูลฝอยที่ไม่ถูกต้อง  เช่น เทกองกลางแจ้ง  ซึ่งหากมีปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่จะยากต่อการควบคุม และสถานที่ที่มีการกำจัดขยะยังใช้วิธีเผาในที่โล่งมากถึงร้อยละ 81 ส่วนตามบ้านเรือนยังไม่มีระบบการแยกขยะมีพิษออกจากขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ หรือทิ้งขยะลงแม่น้ำลำคลอง ส่งผลให้สิ่งปนเปื้อนและเชื้อโรคจากขยะเหล่านั้นแพร่กระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ เช่น แม่น้ำ ผิวดิน อากาศ จึงต้องให้ความสำคัญในเรื่องการจัดการขยะให้ถูกวิธีเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน

ทั้งนี้ ผลจากการสำรวจปี 2556  ของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั่วประเทศมีขยะมูลฝอยมากเกือบ27 ล้านตัน ขยะเหล่านี้ถูกนำไปกำจัดอย่างถูกต้อง 7.2 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 27 กำจัดแบบไม่ถูกต้อง 6.9 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 26 มีปริมาณขยะมูลฝอยตกค้างในพื้นที่ 7.6 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 28 อัตราการผลิตขยะต่อคนต่อวันเพิ่มขึ้นจากคนละ 1.03 กิโลกรัม ในปี 2546 เป็น 1.15กิโลกรัมต่อคนต่อวัน และยังพบการลักลอบทิ้งขยะอุตสาหกรรม เครื่องใช้ไฟฟ้าจากชุมชน โดยเป็นซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ร้อยละ 65  อีกร้อยละ 35 เป็นประเภทแบตเตอรี่ หลอดไฟ ภาชนะบรรจุสารเคมี  ระบบการจัดการที่มีอยู่ยังไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากทิ้งปนกับขยะทั่วไป  ได้มอบหมายให้กรมอนามัยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง   เร่งดำเนินการสร้างความปลอดภัยในเรื่องนี้

ทางด้านนายแพทย์พรเทพ  ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า  ในการแก้ปัญหาขยะล้นเมือง  รวมทั้งปัญหาไฟไหม้กองขยะที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปีนี้กรมอนามัย ได้กำหนดมาตรการดำเนินการไว้  5 ยุทธศาสตร์ประกอบด้วย 1.ส่งเสริมให้แยกทิ้งขยะประเภทที่นำกลับไปใช้ได้ใหม่ เช่น กระดาษ พลาสติก แก้ว โลหะ แยกขยะที่นำไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ เช่น เศษอาหาร เศษผักผลไม้ เพื่อเป็นการลดปริมาณขยะที่ต้องกำจัดลงได้มาก 2.การเพิ่มการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อสนับสนุนการแยกทิ้งขยะ  โดยจะออกกฎหมายตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุขพ.ศ.2535   ให้ท้องถิ่นหรือเทศบาล เพิ่มการเก็บค่าธรรมเนียม ให้มากกว่าปัจจุบันที่เก็บเพียงบ้านละ 40 บาทต่อเดือน  เพื่อนำเงินส่วนที่ได้ไปกำจัดขยะให้ถูกต้อง    ขณะนี้กรมอนามัยได้จัดทำร่างกฎหมายเสร็จเรียบร้อยแล้ว  พร้อมนำเสนอรัฐบาลชุดใหม่ทันที    3.สนับสนุนให้ท้องถิ่นมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการจัดการขยะให้ถูกสุขลักษณะ  และใช้งบประมาณให้มีประสิทธิภาพ    4.การควบคุมตรวจสอบการกำจัดขยะอย่างจริงจัง  เพื่อป้องกันการลักลอบทิ้งขยะพิษจากอุตสาหกรรม ปะปนรวมกับขยะจากบ้านเรือน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขยะอินทรีย์ และ 5.การดำเนินการจัดการกองขยะที่ยังตกค้างในแหล่งกำจัดขยะซึ่งมีประมาณร้อยละ 80 ของกองขยะทั่วประเทศ โดยกรมอนามัยจะดำเนินการตรวจสอบ หากพบว่ามีการปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะแหล่งน้ำบาดาล น้ำผิวดินและลำคลอง จะเสนอเจ้าของพื้นที่หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการฝังกลบและพัฒนาปรับให้เป็นพื้นที่สะอาด ใช้เป็นสถานที่พักผ่อนของประชาชนอีกทางหนึ่ง เช่นเดียวกับที่หลายประเทศใช้ เช่น เกาหลีใต้ โดยจะทำเป็นเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้มีผลในทางปฏิบัติโดยเร็ว    

นายแพทย์พรเทพกล่าวต่อว่า   สำหรับการจัดการขยะติดเชื้อที่มาจากสถานบริการการสาธารณสุขทั้งสัตว์และคน ที่มีปีละประมาณ 50,481  ตัน โดยร้อยละ 75 มาจากโรงพยาบาลรัฐและเอกชนขนาดใหญ่ ซึ่งโรงพยาบาลจะมีงบประมาณในการบริหารจัดการและมีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนในการจัดการมูลฝอยติดเชื้อตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ. 2545 อยู่แล้ว ตามมาตรฐานการประเมินและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล   ในส่วนของโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้มีระบบกำจัดขยะติดเชื้อของแต่ละโรงพยาบาลอยู่แล้ว 142แห่ง กำจัดขยะได้น้อยเพียง 2,352 ตันต่อปี  หรือประมาณร้อยละ 5 เท่านั้น ที่เหลือจะให้ภาคเอกชนดำเนินการเก็บ ขน และ กำจัด ให้เป็นระบบ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโรคจากขยะติดเชื้อ 

ทั้งนี้กรมอนามัย เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและกรมควบคุมมลพิษ อย่างไรก็ดี การจัดการขยะทีดีที่สุด ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนทุกคน เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างพฤติกรรมการคัดแยกขยะแต่ละประเภททิ้ง ให้ถูกวิธี  โดยเฉพาะขยะพิษ เช่น กระป๋องยาฆ่าแมลง หลอดไฟ ถ่านไฟฉาย  น้ำยาทำความสะอาด ควรแยกใส่ถุงพลาสติกและนำไปทิ้งในถังหรือภาชนะที่เก็บแยกซึ่งจะมีสีต่างจากถังขยะทั่วไป   ส่วนใหญ่ถังขยะประเภทนี้จะวางไว้ตามจุดต่าง ๆ เช่น ปั๊มน้ำมัน ห้างสรรพสินค้า หาก ไม่สามารถหาถังหรือภาชนะดังกล่าวเพื่อทิ้งขยะได้   ก่อนนำไปทิ้งต้องเขียนหน้าถุงว่าขยะอันตราย เพื่อไม่ให้มีการนำไปใช้อีก