ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ผอ.สวรส.

ประเทศที่รายได้ประชาชาติสูง ต่างปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ในการครองตลาดอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ทั้งสิ้น เพราะเทคโนโลยีสมัยใหม่ในด้านอิเล็กทรอนิกส์ผสมผสานกับการแพทย์ปัจจุบันได้สร้างนวัตกรรมมากมายเพื่อรองรับความต้องการของมนุษย์ไม่จบ

เช่นเดียวกับปัญหาที่นวัตกรรมส่วนใหญ่จากงานวิจัยไม่สามารถนำสู่เชิงพาณิชย์ได้ สมาคมวิจัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทยได้รวบรวมผลงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ แต่ก็ประสบปัญหาที่เรียกกันว่า หุบเหวแห่งความตาย (Valley of Death)

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จึงเป็นตัวกลางที่เชื่อมประสานหน่วยงานและองค์กรต่างๆ โดยเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วน ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สถาบันพลาสติก สมาคมยางพาราไทย สมาคมเครื่องมือแพทย์ไทย บริษัท SCG บริษัท ป.ต.ท. กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) สมาคมวิจัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย กระทรวงการคลัง BOI เป็นต้น เป้าหมายการเสวนาเพื่อระบุปัญหาหรือช่องว่างในสายพานการนำส่งนวัตกรรมจากงานวิจัยไปสู่ตลาดให้ได้

จากวงเสวนา เราพบว่า เรามีบริษัทกว่า 300 บริษัทที่มีศักยภาพที่นำยางพาราและพลาสติกออกสู่ตลาดได้ และมีบางบริษัทที่เริ่มทำชิ้นส่วนเครื่องมือแพทย์ แต่ไม่มีโครงสร้างพื้นฐานจากหน่วยงานภาครัฐมารับรอง จึงไม่แพร่หลายและตลาดมีความจำกัด กำลังการผลิตจึงไม่มากตามความต้องการที่แท้ของตลาด เนื่องจากยังพึ่งการนำเข้าจากต่างประเทศอยู่ ในการนี้ สวรส. ต้องการระบุช่องว่างระหว่างสายพานการนำงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ เพื่อดำเนินการปิดช่องว่าง (Fill the gap) ที่ประชุมเห็นพ้องว่า ควรเริ่มต้นที่อุตสาหกรรมพลาสติกและยางพาราในเครื่องมือแพทย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ-ปานกลาง (Low-medium risk) คือ ใช้ภายนอกร่างกาย ไม่ฝังในร่างกาย

ประเด็นปัญหาคือ ขาดการรับรองมาตรฐานวัสดุที่ใช้ทางการแพทย์ (Medical grade) ไม่มีห้องสัตว์ทดลองที่ทดสอบความเป็นพิษ แพ้สาร ไม่มี one-stop service และ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เองก็ยอมรับเฉพาะมาตรฐานรับรองจากต่างประเทศ และไม่ทำเองอีกด้วย ปัญหาทั้งหมดนี้เกิดจากไม่มีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาหยิบยื่นความช่วยเหลือให้เกิดธุรกิจการตลาดสินค้าเครื่องมือแพทย์กลุ่มนี้เลย ที่ประชุมจึงเริ่มให้มีสถาบันพลาสติก ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ริเริ่มการจัดตั้งห้องทดสอบเพื่อรับรองผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นในไทย

ปัญหาและอุปสรรคยังมีอยู่อีกมาก และรอการแก้ไขและการสนับสนุนจากภาครัฐในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพื่อปูทางสู่เวทีการค้าโลกได้