ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข จัดโครงการรวมใจปรองดองสมานฉันท์ ส่งทีมแพทย์ นักจิตวิทยา ออกเยี่ยมดูแลและฟื้นฟูจิตใจประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุชุมนุมทางการเมือง 4 กลุ่ม เริ่มตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2557 คาดคนไทยจะกลับมามีความสุขในชีวิตเพิ่มขึ้นภายในเดือนกันยายนนี้

นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้เร่งดำเนินการดูแลสุขภาพประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุชุมนุมทางการเมือง ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต หลังจากที่เกิดปัญหาวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองจากความคิดเห็นที่แตกต่างมาเป็นเวลา 9 เดือน ทำให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิต และบาดเจ็บ รวม 862 ราย เหตุการณ์ดังกล่าวได้ก่อให้เกิดความเครียด ตื่นตระหนก วิตกกังวล รู้สึกไม่ปลอดภัยและไม่มีความสุข

นายแพทย์ณรงค์ กล่าวว่า ในการช่วยเหลือดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำโครงการรวมใจปรองดองสมานฉันท์ เพื่อให้การดูแลช่วยเหลือด้านจิตใจผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น ผู้พิการ ผู้สูญเสีย รวมถึงญาติและผู้ถูกคุมขัง ซึ่งคาดว่ามีประมาณ 1,000 ครอบครัว2.กลุ่มผู้อยู่ในสถานการณ์ เช่น ผู้ร่วมชุมนุม 3.กลุ่มผู้ปฏิบัติงาน เช่น ผู้เข้าไปช่วยเหลือ และ 4.กลุ่มประชาชนทั่วไป ซึ่งจะให้การดูแล เยี่ยมบ้าน อย่างต่อเนื่องทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว สังคม และชุมชน สร้างเป้าหมายร่วมกันในการพัฒนาชุมชน สังคม ประเทศ อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2557 เป็นต้นไป โดยจะสำรวจระดับอารมณ์ทางการเมืองของประชาชนเดือนละ 1 ครั้ง มอบให้กรมสุขภาพจิตดำเนินการ คาดว่าแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2557 นี้อย่างแน่นอน

ทางด้านนายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานประธานศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขและป้องกันปัญหาสาธารณสุข กล่าวว่า ในปี 2555 องค์การสหประชาชาติ ได้รายงานจัดอันดับให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความสุขลำดับที่ 52 ในโลก จาก 156 ประเทศ และอยู่ในลำดับที่ 3 ของประเทศในกลุ่มอาเซียน ส่วนผลสำรวจสุขภาพจิตคนไทย ของสสส. สำนักงานสถิติแห่งชาติ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และกรมสุขภาพจิต ล่าสุดในปี 2555 พบว่า ความสุขของคนไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย จาก 33.09 คะแนนในปี 2552 เป็น 33.30 คะแนนในปี 2553 และ 33.58 คะแนนในปี 2555 เนื่องจากเผชิญความขัดแย้งทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง โดยค่าเฉลี่ยความสุขทั่วประเทศเท่ากับร้อยละ 74.63 จังหวัดนครพนมคว้าแชมป์จังหวัดที่มีความสุขที่สุด คิดเป็นร้อยละ 81.56 ส่วนจังหวัดสมุทรสงครามรั้งท้ายตารางแห่งความสุข คิดเป็นร้อยละ 59.83 องค์ประกอบสำคัญอันเป็นที่มาแห่งความสุขที่สำคัญคือ การสนับสนุนของครอบครัว รวมทั้งปัจจัยด้านเศรษฐกิจ และสุขภาพด้วย ส่วนผลสำรวจความสุขคนไทยในปีนี้อยู่ระหว่างการแปลผล

นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตได้กำหนด 3มาตรการ เยียวยาจิตใจประชาชน คือ มาตรการเร่งด่วน เน้นการเยียวยาด้านสังคมจิตใจ ติดตามเยี่ยมบ้านผู้ได้รับบาดเจ็บ พิการ ครอบครัวผู้เสียชีวิตหรือถูกคุมขัง และส่งต่อผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตซับซ้อนไปรับการรักษา โดยมีอาสาสมัครสาธารณสุขทั่วประเทศและชุมชนร่วมดูแล สำหรับมาตรการระยะกลาง เน้นการสื่อสารฟื้นฟูและเยียวยาสังคม โดยตั้งศูนย์เฝ้าระวังอารมณ์และความเครียดทางการเมือง ใช้การสำรวจลงพื้นที่และโทรศัพท์ เสริมศักยภาพด้านฟื้นฟูเยียวยาจิตใจแก่สื่อมวลชนด้วย มีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ เพื่อสร้างความสมานฉันท์ในชุมชน สังคมและประเทศ และมาตรการระยะยาว เน้นเสริมพลังชุมชน เพื่อสร้างความเข้มแข็ง จัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการอยู่ร่วมกัน นับเป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่จะนำไปสู่ความรู้สึกความมั่นคงปลอดภัย เห็นความสำคัญของการรวมกลุ่มในชุมชน รู้สึกถึงความเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ร่วมกันเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมอย่างมีความหวัง ซึ่งจะช่วยให้สังคมไทยมีความสงบและประชาชนมีความสุขมากขึ้น ทั้งนี้ ประชาชนสามารถปรึกษาปัญหาข้อขัดแย้ง ได้ที่สายด่วน 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง นายแพทย์เจษฎากล่าว