ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เร่งพัฒนาคุณภาพอาหารกลางวันเด็กตั้งเป้า 10 ปี ข้างหน้า ส่งเสริมให้เด็กไทยมีโภชนาการสมวัย ไอคิวดีสามารถลดภาวะผอม อ้วน และเตี้ย หนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียน มีการจัดบริการอาหารแบบครัวกลาง 1 ตำบล 1 ครัวมาตรฐาน พร้อมจัดทำนวัตกรรมโภชนาการสมวัย ฉบับปรับปรุงใหม่ที่ง่ายต่อการนำไปใช้พัฒนางานด้านการจัดการอาหารและโภชนาการ อย่างมีประสิทธิภาพ

วันนี้ (23 มิถุนายน 2557) นายแพทย์ณรงค์ สายวงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง "การพัฒนาศักยภาพเครือข่ายด้านการจัดการอาหารและโภชนาการ” ณ โรงแรมริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี ว่า จากการสุ่มประเมินคุณภาพอาหารโรงเรียนใน 4 ภาค 20 จังหวัด รวม 66 แห่ง ของกรมอนามัยร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 4-14 มีนาคม 2557

โดยทำการสุ่มประเมินหลังจากโรงเรียนได้รับค่าอาหารกลางวันนักเรียนเพิ่มจากอัตราวันละ 13 บาท/คน เป็น 20 บาท/คน พบว่ามีเพียงร้อยละ 20 ของโรงเรียนเท่านั้นที่สามารถจัดอาหารกลางวันมีคุณภาพได้มาตรฐาน ที่เหลือยังต้องปรับปรุงทั้งคุณภาพ ปริมาณ และความสะอาด รวมทั้งทักษะด้านการเรียนรู้ร่วมกันในครั้งนี้จะช่วยให้ภาคีเครือข่ายเข้าใจหลักการสามารถถ่ายทอดและนำชุดความรู้ สื่อ นวัตกรรม ไปประยุกต์ใช้ในการจัดการอาหารและโภชนาการให้มีคุณภาพได้มาตรฐานโภชนาการ สุขาภิบาลอาหาร และอาหารปลอดภัย รวมทั้งขยายผลแหล่งเรียนรู้ด้านการจัดการอาหารและโภชนาการในชุมชน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และโรงเรียน จากปี 2556 ที่มีอยู่ 706 แห่ง เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 300 แห่ง ตลอดจนส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดจังหวัดต้นแบบการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านอาหารและโภชนาการ อย่างน้อย ภาคละ 1 จังหวัด ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับเด็กไทยประมาณ 6 ล้านคน ได้กินอิ่มอย่างมีคุณภาพ และคาดหวังว่าภายใน ระยะ 10 ปี (พ.ศ. 2567) จะสามารถลดภาวะผอม จากร้อยละ 9.1 เหลือร้อยละ 7 ภาวะอ้วนและเตี้ย จากร้อยละ 17 และ 16.3 เหลือไม่เกินร้อยละ 11 หรืออย่างน้อยภาวะอ้วน และเตี้ยลดลงได้ ร้อยละ 0.5 ต่อปีเมื่อเทียบกับสถานการณ์เดิม และส่งเสริมให้เด็กไทยเพศหญิงและเพศชายมีความสูงเฉลี่ย 165, 175 ซม. และมีไอคิวเฉลี่ยมากกว่า 100 จุด

นายแพทย์ณรงค์ กล่าวต่อไปว่า ใน ปี 2557 นี้ กรมอนามัย มีเป้าหมายสำคัญที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการจัดการอาหาร และโภชนาการมากที่สุดใน 3 เรื่อง คือ 1) การบรรจุนักโภชนาการหรือ นักจัดการอาหารและโภชนาการ ระดับตำบล โดยใช้งบประมาณท้องถิ่น 2) การผลักดันให้ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียนมีการจัดบริการอาหารแบบครัวกลาง 1 ตำบล 1 ครัวมาตรฐาน 3) การพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ให้มีทักษะการจัดการอาหารและโภชนาการ และได้รับการตรวจสุขภาพประจำปีทุกคน โดยมี 4 มาตรการขับเคลื่อนงานสู่ความสำเร็จ คือ 1) เร่งรัดให้กระทรวงศึกษาธิการ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำมาตรฐานการจัดการอาหารและโภชนาการไปใช้ในการพัฒนา ควบคุม กำกับ ติดตาม และตรวจสอบคุณภาพอาหาร ขนม นม และเครื่องดื่ม รวมทั้งมีกระบวนการส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก ครอบครัว และชุมชน ในการพัฒนาพฤติกรรมโภชนาการที่พึงประสงค์

2) ผลักดันให้ทุกจังหวัดบรรจุงานอาหารและโภชนาการ เพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัย ไว้ในยุทธศาสตร์จังหวัดและแผนพัฒนาท้องถิ่น โดยมีงบประมาณรองรับ และนำสู่การปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนพัฒนากลไก กฎระเบียบหรือแนวทางที่เอื้อต่อการจัดการอาหารและโภชนาการได้ทันเวลาและมีคุณภาพตามมาตรฐาน 3) ส่งเสริม สนับสนุนให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีระบบควบคุม กำกับ ติดตาม และประเมินผลการจัดการคุณภาพอาหาร ทั้งในระดับพื้นที่และระดับจังหวัด ปีละ 2 ครั้ง สำหรับส่วนกลางประเมินปีละครั้ง พร้อมทั้งมีการเฝ้าระวังภาวะโภชนาการของ เด็กปฐมวัย และเด็กวัยเรียนต่อเนื่อง โดยการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง อย่างน้อย ปีละ ๒ ครั้ง สำหรับเด็กกลุ่มเสี่ยงได้รับการแก้ไขปัญหาโดยมีการติดตามเดือนละครั้ง และ 4) เสริมพลัง สร้างแรงจูงใจให้ทุก อปท. จัดทำและขับเคลื่อนมาตรการทางสังคม ธรรมนูญสุขภาพตำบล หรือข้อบัญญัติท้องถิ่นด้านการจัดการอาหารและโภชนาการที่นำสู่การปฏิบัติได้จริงอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งผลให้เด็ก ผู้ปกครอง และชุมชน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโภชนาการที่พึงประสงค์ได้ง่าย และยั่งยืน

"ทั้งนี้ กรมอนามัยยังได้จัดทำนวัตกรรมโภชนาการสมวัย ฉบับปรับปรุงใหม่ที่ง่ายต่อการนำไปใช้พัฒนางาน ด้านการจัดการอาหารและโภชนาการอย่าง มีประสิทธิภาพ ได้แก่ 1) ชุดเรียนรู้สร้างเสริมสุขภาพ เพื่อนักเรียนไทยมีโภชนาการสมวัย ซึ่งบูรณาการใน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ตั้งแต่ ป.1- 6 2) คู่มือมาตรฐานอาหารสำหรับครู ผู้ดูแลเด็ก แม่ครัว และผู้ประกอบอาหาร ใช้กำหนดอาหารที่จำหน่ายหรือบริการศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียน ชุมชน ตามเกณฑ์โภชนาการ 3) เครื่องมือการเฝ้าระวังตนเองด้านอาหารและโภชนาการทั้งระดับปัจเจกบุคคล และระดับองค์กร สำหรับชุมชน ศุนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียน และ อปท. ใช้เป็นเครื่องมือประเมินตนเอง เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านโภชนาการของพ่อ แม่ ผู้ปกครอง เด็กปฐมวัย และเด็กวัยเรียน ” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด