ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อย. เร่งแก้ไขปัญหาผลิตภัณฑ์สุขภาพไม่ปลอดภัย โฆษณาผิดกฎหมาย เผยให้หน่วยงานทั้งส่วนกลางและภูมิภาคสนธิกำลังตำรวจและทหารจับกุมผู้กระทำผิด ยึดของกลาง ดำเนินคดี รวมถึงระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพอวดสรรพคุณเกินจริง พร้อมแจ้งระงับโฆษณา เปรียบเทียบปรับ ฟ้องคดีตามกฎหมาย ทั้งกำหนดระยะเวลาพักใช้

นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เปิดเผยว่า ตามนโยบายของ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในการดำเนินมาตรการเร่งด่วนเกี่ยวกับมาตรการป้องกัน แก้ไขปัญหาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ปลอดภัยและการโฆษณาโอ้อวดเกินจริง หรือหลอกลวงให้ผู้บริโภคหลงเชื่อในทางที่ไม่สมควร ซึ่งเป็นการสนองนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่จะทำให้ผู้บริโภคได้รับอันตรายให้หมดสิ้นไปจากสังคมไทยด้วย ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงขอแจ้งให้สาธารณชนทราบดังนี้ กระทรวงสาธารณสุขมีมาตรการให้ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคสนธิกำลังกับเจ้าหน้าตำรวจ และทหาร ตรวจสอบเฝ้าระวังผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย ผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายอย่างเข้มงวดและเร่งด่วนในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบของตนเอง โดยให้ยึดของกลางทั้งหมด ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดอย่างเคร่งครัด และหากเป็นผู้ผลิตหรือนำเข้า ผลิตภัณฑ์สุขภาพ กระทำผิด ให้พักใช้ใบอนุญาตผลิตหรือนำเข้า หรือใบอนุญาตที่เรียกชื่ออย่างอื่นไว้จนกว่าคดีจะถึงที่สุดภายใต้ความเห็นชอบของคณะกรรมการ
       
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข โดย อย. ได้ประสานงานกับ กรมศุลกากร ในการสกัดกั้นการลักลอบนำเข้า หรือการสำแดงเท็จเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย และขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด และศาลยุติธรรม เร่งรัดการดำเนินตามกระบวนการยุติธรรมทางคดีเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพื่อให้การลงโทษเป็นไปอย่างทันเหตุการณ์ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้คิดจะกระทำผิดเกิดความเกรงกลัว นอกจากมาตรการดังกล่าวข้างต้น กระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้หน่วยงานภายในทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ตรวจสอบเฝ้าระวังการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพโอ้อวดเกินจริง หรือหลอกลวงให้หลงเชื่อโดยไม่สมควรในเขตพื้นที่รับผิดชอบของตนเองอย่างเคร่งครัด และหากพบว่ามีการฝ่าฝืนกฎหมาย ขอให้รีบดำเนินการ แจ้งระงับโฆษณา เปรียบเทียบปรับ ฟ้องคดีต่อศาลตามกฎหมาย รวมทั้งให้ใช้มาตรการทางการปกครองแก่ผู้ผลิต นำเข้า ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่ฝ่าฝืนกฎหมายโฆษณาดังกล่าวด้วยการพักใช้ใบอนุญาตผลิต หรือนำเข้า หรือใบอนุญาตที่เรียกชื่ออย่างอื่นภายใต้ความเห็นชอบ ของคณะกรรมการ ได้แก่ หากโฆษณาฝ่าฝืนกฎหมายครั้งที่ 1 ให้พักใช้ใบอนุญาต 30 วัน, หากโฆษณาฝ่าฝืนกฎหมายครั้งที่ 2 ให้พักใช้ใบอนุญาต 60 วัน, หากโฆษณาฝ่าฝืนกฎหมายครั้งที่ 3 ให้พักใช้ใบอนุญาต 120 วัน และหากเป็นโฆษณาที่เป็นความผิดและมีการฟ้องคดีต่อศาลให้ดำเนินการพักใช้ใบอนุญาตจนกว่าคดีจะถึงที่สุด
        
นพ.บุญชัย กล่าวต่อว่า อย. ได้ประสานงานกับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ใช้อำนาจที่อยู่ในความรับผิดชอบดำเนินการกับผู้รับใบอนุญาตผู้ประกอบการกิจการวิทยุ ทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวี ที่โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพโอ้อวดเกินจริงหรือหลอกลวงให้หลงเชื่อดังกล่าวอย่างเคร่งครัด รวมทั้งขอให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และ กสทช. ดำเนินการกับเว็บไซต์หรือโซเชียลมีเดียที่โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพโอ้อวดเกินจริง หรือหลอกลวงดังกล่าว มาตรการเร่งด่วนต่างๆ เหล่านี้ อย. จะเป็นหน่วยงานประสานงานประเมินผลการดำเนินงานดังกล่าว และจะรายงานให้กระทรวงสาธารณสุขทราบทุกวัน ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
       
เลขาธิการ อย. กล่าวต่อไปว่า ลักษณะข้อความโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่โอ้อวด เกินจริง หรือหลอกลวงให้ผู้บริโภคหลงเชื่อในทางที่ไม่สมควร ที่ส่วนใหญ่มักจะพบในสื่อต่างๆ โดยเฉพาะทางเว็บไซต์ ทีวีดาวเทียม โซเชียลมีเดีย เช่น ผลิตภัณฑ์อาหาร อวดสรรพคุณทางยาว่า ช่วยบำบัด บรรเทา รักษา หรือป้องกันโรคต่างๆ เช่น อ้างว่าสามารถรักษาโรคเบาหวาน ลดอัตราการเกิดมะเร็ง เป็นต้น อวดสรรพคุณว่าสามารถเปลี่ยนแปลงรูปร่าง ลักษณะ และโครงสร้างของอวัยวะในร่างกาย เช่น อ้างว่าลดความอ้วนไม่ว่าจะเป็นทั้งหมดหรือบางส่วน ทำให้หน้าเล็ก เรียว แหลม เพิ่มส่วนสูง ขยายขนาดหน้าอก ขยายและเพิ่มขนาดอวัยวะเพศ อวดสรรพคุณทางเครื่องสำอาง เช่น ทำให้ผิวขาว ลดริ้วรอย ลดฝ้า กระ จุดด่างดำ เป็น
       
ผลิตภัณฑ์ยาอวดสรรพคุณว่าสามารถบำบัด บรรเทา รักษาโรค หรืออาการของโรค ที่มีการประกาศห้ามโฆษณา ได้แก่ มะเร็ง วัณโรค เรื้อน อัมพาต เบาหวาน โรคหรืออาการของโรคเกี่ยวกับสมองหัวใจ ปอด ตับ ม้าม ไต เนื่องจากอาจทำให้ผู้บริโภคขาดโอกาสในการรักษาในระยะเบื้องต้น และคำแนะนำที่ถูกต้อง อวดสรรพคุณ ฟื้นฟูร่างกายและระบบอวัยวะภายในอันเป็นสาเหตุของสุขภาพที่เสื่อม ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานโรค เช่น โรคไตวาย เบาหวาน อัมพฤกษ์ อัมพาต บำรุงเลือด อวดสรรพคุณยาว่าสามารถบำบัด บรรเทารักษา หรือป้องกันโรคหรือความเจ็บป่วยได้อย่างศักดิ์สิทธิ์ หรือหายขาด เช่นคำว่า “มหัศจรรย์” “มหัศจรรย์พลังชีวิต” “ยอดเยี่ยม” “วิเศษ” “ดีที่สุด” “เหนือกว่าใคร” “บำรุงให้ฟิต” รวมถึงข้อความลักษณะรับรองหรือยกย่องสรรพคุณยาโดยบุคคลอื่น เช่น การรับรองโดยอ้างสถาบัน หน่วยงาน หรือบุคคล หรือผู้โฆษณาการนำเสนอประสบการณ์การใช้ยาและรับรองผลของยา การรับรองเกี่ยวกับความปลอดภัย เช่น คำว่า “อย. รับรอง” “ผ่านการรับรองจาก อย.” “ปลอดภัยเพราะผ่าน อ.ย.” “องค์การอนามัยโลกรับรอง” “ได้รับ ใบรับรองจาก อย.” - คำว่า “การันตีโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญปลอดภัย 100% เห็นผลภายใน 7 วัน” ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง - แสดงสรรพคุณทางยา เช่น รักษาสิวโดยไม่ต้องทานยา, บรรเทาอาการสิวอักเสบ และผดผื่นคัน, ลดอาการปวดประจำเดือน, บรรเทาอาการริดสีดวงทวาร ลดอาการติดเชื้อที่ทวารหนักและลำไส้ใหญ่, ดีต่อ เข่าเสื่อม ไม่ต้องเสี่ยงผ่าเข่า บำบัดอาการของโรคข้อเข่าเสื่อม เป็นต้น - ทำให้เข้าใจว่ามีผลเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของร่างกาย เช่น ลดเซลลูไลท์บริเวณขา ต้นแขน ต้นขา สะโพก, โครงหน้ายกกระชับ, ขยายทรวงอก ทำให้ทรวงอกอวบอิ่ม, กระชับช่องคลอด-รีแพร์-ช่องคลอด เป็นต้น
       
“อย. จะไม่หยุดนิ่งดำเนินการทุกวิถีทาง เพื่อกำจัดโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายให้หมดสิ้นไปจากสื่อทุกสื่อ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค และขอให้ผู้บริโภคช่วยเป็นตาแทนราชการด้วย และแจ้งร้องเรียนโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เห็นว่าโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ได้ที่ สายด่วน อย. 1556 ตลอด 24 ชั่วโมง” เลขาธิการ อย. กล่าว