ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เภสัชปฐมภูมิเครือข่ายบริการสุขภาพที่ 4 ผุด เครื่องมือจัดเก็บข้อมูลการใช้ยา และการดูแลด้านยาในชุมชน  หนุนบริการใกล้บ้านใกล้ใจ รพสต.มีเภสัชกรรมสั่งจ่ายยา ประชาชนได้รับความปลอดภัยจากการใช้ยา ลดค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศ

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 4 สระบุรีร่วมกับเภสัชปฐมภูมิเครือข่ายบริการสุขภาพที่ 4 ประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานเภสัชกรรม มีทีมเภสัชกรร่วมออกแบบและวิเคราะห์ข้อมูลการสั่งใช้ยาอย่างสมเหตุผล ประกอบด้วย ภญ.อาภัสรี  บัวประดิษฐ์ เภสัชกรชำนาญการ สสจ.นครนายก พร้อม นายวีรยุทธ พิมพ์ดี นักวิชาการคอมพิวเตอร์ สสจ.นครนายก ผู้ร่วมออกแบบการเก็บข้อมูลดังกล่าว

นพ.ชลอ ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 4 สระบุรี กล่าวว่า เป้าหมายของกองทุนยาเวชภัณฑ์และวัคซีนคือการบริหารระบบยาในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ให้ประชาชนเข้าถึงยาที่จำเป็นอย่างทั่วถึง ด้วยความมั่นใจในคุณภาพและมีความเหมาะสมในการสั่งใช้ยา  ที่ผ่านมา สปสช.เขต 4 สระบุรี ได้สนับสนุนงานเภสัชกรรมปฐมภูมิ  เพื่อกระตุ้นให้เกิดเครือข่ายภายในจังหวัดและการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมให้ รพสต.มีเภสัชกรดูแลหรือติดตามผู้ป่วยในชุมชน ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดันจะต้องได้รับการดูแลและแก้ปัญหา เมื่อพบปัญหาการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม และต้องได้รับการเยี่ยมบ้านอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งผลให้ผู้ป่วยมีการรักษาที่ดีขึ้น ที่สำคัญต้องมีระบบการจัดเก็บข้อมูลรายการยาหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เป็นปัญหาในชุมชน อย่างเป็นระบบและมาตรฐานเดียวกัน

ภญ.อาภัสรี  บัวประดิษฐ์ เภสัชกรชำนาญการ กล่าวถึงการใช้เครื่องมือดังกล่าว ว่าใช้สำหรับเก็บรวมรวมข้อมูลภารกิจของงานเภสัชกรรมปฐมภูมิ ประกอบด้วยการบริหารเวชภัณฑ์ บริการเภสัชกรรม คุ้มครองผู้บริโภค ตลอดจนการใช้ยาสมุนไพร ซึ่งที่ผ่านมาเภสัชกรปฐมภูมิ ปฎิบัติภารกิจในพื้นที่โดยที่ยังไม่มีระบบการจัดเก็บข้อมูลที่เพียงพอ  ดังนั้นหากจะมีเครื่องมือที่เรียกว่า “โปรแกรมเภสัชกรรมปฐมภูมิ” เพื่อเป็นแหล่งจัดเก็บรวมรวมข้อมูล เพื่อให้การบริหารยาและเวชภัณฑ์ ตลอดจนการแก้ปัญหาที่เกิดจากการใช้ยาของผู้ป่วยในชุมชน จะทำให้มีการแก้ปัญหาได้ตรงจุด และมีแหล่งข้อมูลการใช้ยาที่สามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว   

ผอ.สปสช.เขต 4 สระบุรี กล่าวต่อว่า เวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานเภสัชกรรม เป็นเวทีสัญจรรายจังหวัด ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายคือเภสัชกร ที่ผ่านมาได้สัญจรไป 3 จังหวัดแล้ว และจะได้สัญจรให้ครบทั้ง 8 จังหวัด เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานเภสัชกรรมปฐมภูมิ  เกิดการพัฒนางานเภสัชกรรมปฐมภูมิในรูปแบบใหม่ๆ ที่จะต้องมีการเก็บข้อมูลที่เป็นไปในแนวทางเดียวกันในภาพของเครือข่ายบริการสุขภาพที่ 4  เพื่อประชาชนจะได้ปลอดภัยจากการใช้ยา