ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สวทช.จับมือ สปสช. หนุนงานวิจัยพัฒนานวัตกรรม – เทคโนโลยีทางการแพทย์ไทย มุ่งลดการนำเข้าเครื่องมือแพทย์ หลังขาดดุลปีละกว่า 5พันล้านบาทและมีแนวโน้มเพิ่ม ช่วยสร้างความเข็มแข็งให้ประเทศ

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ( สปสช. ) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ( สวทช. ) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “ การกำหนดแนวทางการสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาและบริหารผลงานวิจัยด้านการแพทย์สู่การใช้ประโยชน์ ”

โดยปัจจุบัน ประเทศไทยมีความต้องการวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์เพิ่มสูงขึ้นทุกปี คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตประมาณร้อยละ 9.1ต่อปี ทำให้มูลค่าตลาดเครื่องมือแพทย์ในไทยเพิ่มขึ้นจาก 25,928 ล้านบาทในปี 2010 เป็น 38,000 ล้านบาทในปี 2015 ที่ผ่านมาประเทศไทยนำเข้าวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์มากกว่าส่งออก ขาดดุลปีละ 5,000ล้านบาท และมีแนวโน้มที่จะขาดดุลเพิ่มสูงขึ้น จึงเกิดความร่วมมือด้านการกำหนดแนวทางการสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาและบริหารผลงานวิจัยด้านการแพทย์สู่การใช้ประโยชน์ ระหว่าง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อต่อยอดผลงานวิจัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์ ภายใต้บทบาทภารกิจ สปสช. ในฐานะผู้จัดหาบริการและมีข้อมูลสุขภาพและบริการสาธารณสุขของประเทศ

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)  กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ เป็นความร่วมมือเพื่อกำหนดแนวทางการสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาและบริหารผลงานวิจัยด้านการแพทย์สู่การใช้ประโยชน์ มีเป้าหมายร่วมเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องร่วมกัน กำหนดแนวทางการวิจัย พัฒนา ผลิตภัณฑ์ นวัตกรรม และเทคโนโลยีด้านการแพทย์ให้ตรงกับความต้องการใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ สปสช.เป็นแหล่งรวมข้อมูลที่ได้จากการให้บริการสาธารณสุขในโรงพยาบาลที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทั้งภาครัฐและเอกชน แต่ละปีจะมีข้อมูลผู้ป่วยในประมาณ 6ล้านรายการ ผู้ป่วยนอกประมาณ 170ล้านรายการ ซึ่งนอกจากใช้เพื่อวางแผนการเงินการคลังระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว ยังใช้เพื่อวิเคราะห์ความต้องการในการรักษาและดูแลสุขภาพของผู้ป่วยที่นำไปสู่การวางแผนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพมาตรฐาน

ความร่วมมือในวันนี้นับว่าเป็นอีกก้าวหนึ่ง นอกจากเป็นการสนับสนุนนักวิจัยไทยในการคิดค้นผลงาน และสร้างความเข้มแข็งในการแข่งขันและพัฒนาประเทศอย่างยั่นยืน ยังประโยชน์ให้กับประชาชน ในอนาคตเชื่อว่าจะได้เห็นผลงานจากความร่วมมือครั้งนี้ ซึ่ง สปสช. ยินดีให้ข้อคิดเห็นและเสนอแนะแนวทางการสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนาที่จะนำมาสู่ประโยชน์ของประเทศชาติต่อไป