ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เบรกมติ สช.จัดตั้งเขตสุขภาพประชาชน ชี้ไม่มีส่วนร่วม ขาดองค์ความรู้ ทั้งการเร่งรัดตั้งคณะทำงานออกแบบเขตสุขภาพให้แล้วเสร็จใน 1 เดือน ถือเป็นการรวบรัด ไม่เคารพกระบวนการมีส่วนร่วมตามหลักสมัชชา แจงปัจจุบัน มีทั้งเขตสุขภาพของสปสช. ของสธ. น่าจะมีการทบทวนเขตสุขภาพที่มีอยู่ และหาแนวทางเพื่อกระจายอำนาจ ชี้เขตสุขภาพอาจเป็นคำตอบการปฏิรูบ แต่ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน สิ่งที่ต้องทำตอนนี้ คือ ลดความเหลื่อมล้ำสิทธิรักษา และสร้างความเป็นธรรม

สืบเนื่องจากการที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้จัดประชุมปรึกษาหารือเมื่อวันที่ 2 ส.ค. 57 ในกลุ่มผู้บริหารหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง และมีผู้แทนหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) (พลเรือตรีนวพล ดำรงพงศ์) เข้าร่วมประชุมด้วย โดยมีมติเสนอเรื่องเร่งด่วน ให้เห็นชอบหลักการในการจัดตั้งเขตสุขภาพประชาชน และแต่งตั้งคณะทำงานพัฒนารูปแบบการจัดตั้งเขตสุขภาพประชาชนเพื่อพัฒนารูปแบบให้แล้วเสร็จใน 1 เดือน โดยจะประชุมในวันศุกร์ที่ 8 ส.ค. นี้

นส.สุภัทรา นาคะผิว

7 ส.ค. 57 นส.สุภัทรา นาคะผิว โฆษกกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า ข้อเสนอการปฏิรูประบบสุขภาพ โดยการจัดตั้งเขตสุขภาพประชาชน ที่เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จใน 1 เดือน ของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นการปฏิรูประบบสุขภาพ ที่ยึดหลักธรรมาภิบาล และไม่ใช่การพัฒนานโยบายสาธารณะที่เอื้อต่อสุขภาพด้วยกระบวนการแบบมีส่วนร่วมที่ใช้องค์ความรู้เป็นฐานอย่างเพียงพอตามวิสัยทัศน์ของ สช. ทั้งยังเป็นกระบวนการที่ขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน

โฆษกกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เสนอให้ตั้งคณะทำงานส่วนต่างๆเพื่อร่วมกันพัฒนาแนวทางปฏิรูป ทั้งนี้ควรต้องให้ทุกภาคส่วนเข้าไปมีส่วนในคณะทำงานต่างๆ อย่างรอบด้าน เช่น การจัดตั้งคณะกรรมการเขตสุขภาพตามแนวทางของกระทรวงสาธาณสุขหรือตามแนวทางของสมัชชาสุขภาพฯ หรือของสปสช. ควรต้องมีสัดส่วนจากทุกภาคส่วนอย่างเหมาะสม และยังไม่ใช่ความเร่งด่วนในการปฏิรูป

“การปฏิรูปต้องมุ่งไปสู่ การลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม โดยประเด็นเร่งด่วนที่ควรสร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชนในระบบสุขภาพ ในระยะเร่งด่วนนี้ คือการยกเลิกการร่วมจ่ายด้านสุขภาพของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ซึ่งเป็นเพียงกลุ่มเดียวที่ต้องจ่ายเงินเอง” โฆษกกล่าว

“ขอเรียกร้องให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติที่จะมีการประชุมในวันที่ 8 ส.ค. 57 นี้ ไม่ควรที่จะมีการลงมติเห็นชอบใดๆในการจัดตั้งเขตสุขภาพประชาชน จนกว่าจะมีกระบวนการมีส่วนร่วมและลงความเห็นตามแนวทางสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” นส.สุภัทราทิ้งท้าย

นายนิมิตร์ เทียนอุดม คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ภาคประชาชน กล่าวว่า การกระจายอำนาจและจัดให้เกิดระบบการบริหารสุขภาพในระดับเขต ถือเป็นแนวทางหนึ่งที่อาจนำไปสู่การปฏิรูประบบสุขภาพได้ แต่ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน และที่ผ่านมามีการออกแบบการบริหารแบบเขตสุขภาพ 13 เขต โดยระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดังนั้นการปฏิรูประบบสุขภาพ ควรต้องมีการทบทวนระบบบริหารสุขภาพระดับเขตของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารูปแบบที่เหมาะสมและไม่ซ้ำซ้อนซึ่งอาจส่งผลต่อผู้ปฏิบัติ รวมไปถึงควรมีการทบทวนระบบบริหารสุขภาพระดับเขตของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“เดิมมีเขตสุขภาพของ สปสช. และเขตสุขภาพของ สธ. อยู่แล้วหากมีการตั้งเขตสุขภาพประชาชนขึ้นมาอีก จะเป็นการตั้งกลไกที่ซ้ำซ้อนกับการบริหารที่มีอยู่แล้ว อาจจะทำให้มี 3 หน่วยงานที่ดูแลในเขตสุขภาพเดียวกัน ซ้ำซ้อนงาน บทบาทหน้าที่และความยุ่งยากในการปฏิบัติ”

นายนิมิตร์ กล่าวต่อว่า ต้องมีการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบเครื่องมือ หรือกลไกในการที่จะปฏิรูประบบสุขภาพ เพราะแต่ละภาคส่วนต่างมีการพัฒนาแนวทางกลไกเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปสุขภาพ การมีมติให้ตั้งคณะทำงานเพื่อจัดตั้งเขตสุขภาพประชาชนภายใน 1 เดือน ถือว่าเป็นการรวบรัด และไม่เคารพต่อกระบวนการมีส่วนร่วมตามแนวทางสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ