ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เว็บไซต์ไทยรัฐ -สสส.แจงการบริหารงานตลอด 10 ปี ถูกตรวจสอบหลายชั้น ทั้ง "ครม.-รัฐสภา-สตง." และการประเมินจากนานาชาติ หลังมีการเสนอให้โรงงานยาสูบส่งงบเข้าคลังแทน ด้าน นพ.หทัย ชี้อนุสัญญาโลกมาตรา 5.3 ระบุชัดห้ามธุรกิจยาสูบเอี่ยวนโยบายรัฐ

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์

10 ก.ย.57 เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า ทพ.สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงกรณีที่รักษาการผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ (รยส.) เตรียมเสนอให้ คสช. พิจารณาให้โรงงานยาสูบต้องส่งงบประมาณเข้าคลัง แทนการจัดสรรให้ สสส. และไทยพีบีเอส เพื่อให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้าไปตรวจสอบได้ ว่า สสส.เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 ซึ่งกำหนดกลไกการตรวจสอบ และได้พัฒนาระบบธรรมาภิบาลอย่างต่อเนื่อง

ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ในส่วนระบบธรรมาภิบาลตามกฎหมาย สสส. มีถึง 2 บอร์ด ที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรีมาดูแล คือ คณะกรรมการกองทุนที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รัฐมนตรีสาธารณสุขเป็นรองประธาน มีตัวแทนกระทรวงที่เกี่ยวข้อง 9 กระทรวงอยู่ด้วย ซึ่งยังได้ตั้งคณะกรรมการอีก 7 คณะ ลงมากำกับดูแลแผนการดำเนินงาน 15 แผน ที่ต้องมีเป้าหมายยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน บอร์ดที่ 2 คือ คณะกรรมการประเมินผลที่กระทรวงการคลังเสนอผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ให้ ครม.แต่งตั้งทำหน้าที่กำหนดตัวชี้วัด และประเมินผลทั้งองค์กรในทุกด้าน ผลการประเมินเหล่านี้ต้องรายงานเสนอต่อ ครม. และรัฐสภาทั้ง 2 สภา รวมทั้งส่งผลให้คณะกรรมการกองทุนหมุนเวียน กระทรวงการคลัง และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพร.) วิเคราะห์และนำเสนอ ครม.อีกทางหนึ่งด้วย

"ในด้านการตรวจสอบ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน จะต้องเข้ามาตรวจสอบความถูกต้องของการใช้เงินและระบบการทำงาน และรับรองการตรวจสอบบัญชีทุกปี โดยตรวจไปถึงโครงการต่างๆ ที่ได้รับทุนด้วย โดยที่ สสส.จัดให้มีห้องทำงานแก่เจ้าหน้าที่ สตง. เพื่อความสะดวกในการตรวจสอบที่ใช้เวลาหลายเดือนในแต่ละปี" ทพ.สุปรีดา กล่าว

รองผู้จัดการ สสส. กล่าวอีกว่า ระบบธรรมาภิบาลและการประเมินผลของ สสส. ที่พัฒนาการตลอดมา เช่น ตอน สสส. ทำงานครบ 10 ปี คณะกรรมการประเมินผล จัดให้มีคณะผู้ประเมินนานาชาติ เช่น จากองค์การอนามัยโลก ธนาคารโลก มูลนิธิร็อดกี้เฟลเลอร์ มาประเมินภาพรวมการทำงานตามมาตรฐานสากล รวมทั้งปีที่ผ่านมา ได้พัฒนาดัชนีชี้วัดระดับธรรมาภิบาลขององค์กรขึ้น ซึ่งตอนนี้มีหลายหน่วยงานขอมาศึกษาเพื่อนำไปใช้ แม้แต่ระบบการอนุมัติโครงการก็เป็นระบบเปิด นอกจากคณะกรรมการต่างๆ ที่กล่าวไป เรายังใช้ระบบกลั่นกรองโดยผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ไม่ได้ใช้อำนาจของผู้บริหารแต่อย่างใด ปัจจุบันมีผู้ทรงคุณวุฒิในบัญชีที่ร่วมกลั่นกรองโครงการต่างๆ ของ สสส. กว่า 600 คน

ทพ.สุปรีดา กล่าวอีกว่า สำหรับแนวคิดของรักษาการผู้อำนวยการ รยส. หากมองในฐานะหน่วยงาน ก็เป็นส่วนงานที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับข้อเสนอในการที่จะขอไม่ให้ส่งเงินให้กับ สสส. หรือทีพีบีเอส ตามที่กฎหมายกำหนด อีกทั้งเป็นที่น่าสังเกตว่า หลังจากที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีข้อเสนอให้นำเงิน 2% จากภาษีสุราและยาสูบ มาจัดตั้งเป็นกองทุนใหม่เพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในประเทศ ก็ทราบว่ามีขบวนการพยายามเคลื่อนไหวส่งข้อมูลที่คลาดเคลื่อนและให้ร้าย สสส. อย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นเจตนาจากผู้เสียประโยชน์หากกำหนดให้มีการเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้นหรือไม่

นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย กล่าวว่า งบประมาณดังกล่าว มีการระบุเป็นกฎหมายไว้อย่างชัดเจน ว่า สสส.จะต้องได้รับงบ 2% จากภาษีเหล้า บุหรี่ เพื่อนำมาใช้ในการรณรงค์ให้ประชาชนลดการบริโภคแอลกอฮอล์และยาสูบ ตามพันธกิจของกองทุน ที่สำคัญประเทศไทยเป็นสมาชิกตามกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก ที่มีเป้าหมายเพื่อลดอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของประชาชนทั่วโลก จากการบริโภคยาสูบ โดยมีกฎข้อบังคับให้ประเทศสมาชิกได้ทำตาม โดยเฉพาะการไม่ยอมให้อุตสาหกรรมยาสูบ มีส่วนเกี่ยวข้องกับนโยบายรัฐในการควบคุมการบริโภคยาสูบ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยเป็นสมาชิกองค์การอนามัยโลก มีอนุสัญญา 5.3 เพื่อลดการบริโภคยาสูบ ให้คนลดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากบุหรี่ให้น้อยลง ซึ่งเป็นการหาข้อกำหนดที่จะทำเพื่อประชาชนทุกคนในโลก ถือเป็นการขัดขวางเหมือนการฆ่าคนไทยด้วยกันเองให้มากขึ้น มีหลายเรื่องที่โรงงานยาสูบทำเรื่องผิดกฎหมายหลายเรื่อง เช่น การส่งเสริมการขาย การโฆษณาอย่างเปิดเผย โดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย มีหลักฐานที่เก็บได้และยังคงกระทำผิดอยู่เรื่อยๆ