ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ASTVผู้จัดการรายวัน - ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสคาด ศิริราชพบแอนติบอดีรักษา อีโบลา อาจเป็นวิธีสกัดเซรุ่มบริสุทธิ์ หรือ โมโนโคเนอร์แอนติบอดี ระบุแต่ต้องขออนุญาตนำเข้าเชื้อ เมื่อสำเร็จต้องขออนุญาต อย. บอกรอนักวิจัยเป็นผู้เปิดเผย

นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ

วานนี้ (30 ก.ย.) ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา และที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กล่าวว่า มาตรฐานการรักษาโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาในปัจจุบันมีประมาณ 5 ประเภท คือ 1. การนำเลือดผู้ที่หายป่วยแล้วมาผลิตเป็นเซรุ่ม ซึ่งองค์การอนามัยโลกอนุญาตให้ใช้ 2. เซรุ่มบริสุทธิ์ที่สกัดจากใบยาสูบ หรือโมโนโคเนอร์แอนติบอดี ซึ่งเป็นวิธีเดียวกันกับการทำยาซีแมปที่สหรัฐอเมริกากำลังทดลองใช้ในคนที่ติดเชื้ออีโบลา แต่ยังไม่ยืนยันผลการรักษา เนื่องจากมีผู้หายจากอีโบลาด้วยยานี้เพียง 4 คน จาก 10 คนเท่านั้น  3. วัคซีนป้องกันโรค ซึ่งร่วมกันคิดค้นระหว่างแคนาดา และมหาวิทยาลัยเทกซัส ซึ่งเพิ่งได้รับการอนุญาตจากองค์การอาหารและยา สหรัฐ อเมริกาให้เริ่มทดลองได้ 4. ยาวีแกนที่ใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่ โดยญี่ปุ่นได้ทดลองใช้ยานี้รักษาผู้ป่วยอีโบลา ในประเทศไนจีเรีย และ 5. การทดลองของนักวิจัยทหารของประเทศจีน

ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าวว่า ส่วนกรณีข่าว ศ.เกียรติคุณ ดร.วันเพ็ญ ชัยคำภา ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ค้นพบแอนติบอดีนั้นตนไม่ทราบรายละเอียด แต่คาด ว่าน่าจะเป็นการศึกษาตัวโมโนโคเนอร์แอนติบอดี ซึ่งวิธีดังกล่าวต้องเอาส่วนหนึ่งของเชื้อไวรัสอีโบลามาถอดรหัสพันธุกรรม ซึ่งต้องขออนุญาตกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อนำเข้าเชื้อโรคตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2523 และหากเป็นตัวนี้จริงๆ เมื่อศึกษาทดลองได้โมโนโคเนอร์แอนติบอดีแล้ว จะต้องขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ว่ามีเซรุ่มเกิดขึ้นแล้ว และขออนุญาตทดลองตามมาตรฐานเภสัชอุตสาหกรรม (จีเอ็มพี) และแจ้งต่อองค์การอนามัยโลกให้ คณะกรรมการพิจารณาประมาณ 3 เดือน จากนั้นจึงผลิตขึ้นมาจำนวนหนึ่งเพื่อ จดทะเบียนเป็นยาใหม่เพื่อการทดสอบประสิทธิภาพขั้นตอนนี้ต้องมีคณะกรรมการพิจารณาอีก 3 เดือน

"หากผ่านขั้นตอนทั้งหมดเหล่านี้แล้ว จึงจะถึงขั้นตอนการทดลองในสัตว์ และในคนอีก 4 เฟส กินเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี ทั้งนี้ ถ้าพบว่ามีประสิทธิภาพดีเยี่ยมจะต้องจดทะเบียนอีกครั้งกับ อย. เพื่อขอจำหน่าย ตรงนี้จะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ดังนั้น จนกว่าจะสิ้นกระบวนการต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องรอให้ ศ.เกียรติคุณ ดร.วันเพ็ญ มาให้ข้อมูล" ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศ.คลินิก นพ. อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เคยให้สัมภาษณ์กรณีนี้สั้นๆ ว่า ไม่ได้มีการนำเชื้ออีโบลาเข้ามาศึกษาแต่อย่างใด

ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน วันที่ 1 ตุลาคม 2557

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หมอศิริราชยันไม่ได้พบยารักษาอีโบลา แต่พบแอนติบอดีพัฒนาวัคซีนเท่านั้น