ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประชุมร่วม อย. ตัวแทนเครือข่ายเภสัชฯ ปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.ยาฯ เหลว ยังไม่ได้ข้อสรุป ด้าน อย.มั่นใจ 2 สัปดาห์แล้วเสร็จก่อนเสนอให้วิชาชีพอื่นพิจารณา หากเห็นด้วยพร้อมส่งคืนกฤษฎีกา

เว็บไซต์มติชนออนไลน์รายงานว่า เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 13 ตุลาคม ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการ อย. เป็นประธานเปิดการประชุมร่วมกับตัวแทนเครือข่ายเภสัชกรจำนวน 25 คนเพื่อหารือในการปรับแก้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ยา พ.ศ... แทน พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 ภายหลังที่เกิดการรวมตัวกันของเภสัชกรภาคใต้ ภาคอีสาน และตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศออกมาคัดค้านร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่ในประเด็นต่างๆ อาทิ การแบ่งประเภทยาที่ไม่เป็นไปตามหลักสากล การอนุญาตให้แบ่งบรรจุยา การผสมยา ซึ่งเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค เป็นต้น

ภก.วินิต อัศวกิจวิรี และ ภก.รศ.(พิเศษ) กิตติ พิทักษ์นิตินันท์

ภก.รศ.(พิเศษ) กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า จากการหารือครั้งนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป แต่ยังมีเวลาอีก 2 สัปดาห์ตามที่ อย.เคยระบุไว้ก่อนจะส่งคืนให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาอีกครั้งภายใน 30 วัน ทั้งนี้ สำหรับประเด็นที่ต้องมีการหารือปรับปรุงร่างพ.ร.บ. ยา พ.ศ... มีทั้งหมด 8 ประเด็น คือ 1.แบ่งประเภทยาไม่เป็นไปตามหลักสากล เนื่องจากมีการแบ่ง ดังนี้ (1) ยาที่ต้องจ่ายตามใบสั่งยา สามารถสั่งจ่ายโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยด้านเวชกรรมไทย เท่ากับว่าหมายถึงทุกวิชาชีพ (2) ยาที่ต้องจ่ายโดยผู้ประกอบวิชาชีพตามที่กล่าวมา ไม่ใช่กำหนดเพียงแต่เภสัชกร แต่ให้กับวิชาชีพอื่น ๆ ด้วย (3) ยาสามัญประจำบ้าน ยาสำเร็จรูปที่ประชาชนใช้สำหรับการดูแลรักษาสุขภาพเบื้องต้นและสามารถซื้อหาได้เองทั่วไป

ภก.รศ.(พิเศษ) กิตติ กล่าวว่า การแบ่งประเภทยาลักษณะนี้ ถือว่าไม่เป็นไปตามหลักสากล เนื่องจากประเทศอื่นๆ ไม่ทำกัน และส่วนใหญ่จะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ ยาที่ต้องใช้ใบสั่งยา (Prescription-Only Medicines) ยาที่เภสัชกรเป็นผู้สั่งจ่าย (Pharmacist-Only Medicines) และยาที่ประชาชนเลือกใช้ได้เอง (General Sale List หรือ Over-the-Counter Medicines) ซึ่งกฎหมายตัวเดิมก็ใช้แบบนี้ โดยเภสัชกรส่วนใหญ่มองว่า ควรแบ่งกลุ่มให้ชัดเจนระหว่างผู้สั่งจ่ายยา คือแพทย์ หรือผู้ประกอบวิชาชีพต่างๆ และผู้จ่ายยา คือ เภสัชกร เพื่อให้มีการตรวจสอบยา ความถูกต้อง ขนาดของยา โดยเฉพาะยาควบคุมพิเศษ ซึ่งเภสัชกรจะตรวจสอบซ้ำอีกครั้ง เพื่อป้องกันผลข้างเคียงจากการใช้ยา รวมทั้งผู้ป่วยบางคนอาจแพ้ยา ซึ่งถือว่าดีมาก และทำกันทั่วประเทศ ตรงนี้ควรมีการระบุในร่างกฎหมายใหม่ให้ชัด

ภก.รศ. (พิเศษ) กิตติ กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นที่ 2 ที่ต้องหารือ คือ มาตรา 24 (2) ระบุว่าการนำยาที่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาไว้แล้ว มาผสมตามหลักวิชาต้องเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม เป็นต้น ประเด็นนี้ต้องมาหารือและปรับเขียนใหม่ให้ชัดเจน เพราะไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นเปิดให้ทุกวิชาชีพ และจะควบคุมอย่างไร 3.การยกเว้นให้ผู้ที่ไม่เชี่ยวชาญจัดการ/ ควบคุมการผลิต ขาย นำเข้ายา 4.การมีข้อยกเว้นไม่ต้องขึ้นทะเบียนตำรับยา และการไม่ทบทวนทะเบียนยา 5.การไม่มีข้อห้ามการผลิต การแบ่งยา ขายยาชุด 6.ลักษณะการลงโทษที่ไม่เป็นธรรมและไม่มีโทษทางปกครอง 7.เปิดให้มีการโฆษณายาทุกประเภท ไม่มีการควบคุมการส่งเสริมการขาย และ 8.การผลิต ขาย นำเข้าเภสัชสมุนไพร(สมุนไพรที่ไม่แปรสภาพที่ใช้เป็นยา) ซึ่งข้อนี้อาจทำให้เข้าใจผิดว่าคนปลูกสมุนไพรจะถูกควบคุมด้วย ซึ่งรายละเอียดจะต้องคุยและให้ได้ข้อสรุปใน 2 สัปดาห์

ภก.วินิต อัศวกิจวิรี ผู้ทรงคุณวุฒิ อย. กล่าวว่า แม้จะยังไม่ได้ข้อสรุป แต่ยังมีเวลาภายใน 2 สัปดาห์ที่จะหารือเนื้อหา และถ้อยคำในตัวบทกฎหมายฉบับใหม่ว่า จะเขียนแบบใด จากนั้นในสัปดาห์ที่ 3 จึงจะเชิญตัวแทนวิชาชีพอื่นๆ เพื่อให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวว่า มีความคิดเห็นสอดคล้องกันหรือไม่ จากนั้นจึงจะเข้าสู่กระบวนการเสนอไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) ก่อนตอบกลับไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาอีกครั้งว่า จะแก้ไข หรือยืนยันร่างเดิม ส่วนประเด็นการปรับปรุงร่างกฎหมายนั้น ที่ประชุมเห็นว่าต้องยึดในหลักการ คือ คุ้มครองประชาชนให้ได้รับประโยชน์และความปลอดภัยอย่างแท้จริง และต้องคำนึงถึงการเข้าถึงยาของประชาชนทั้งหมด ซึ่งหลักการดังกล่าวสอดคล้องกับพ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ฉบับเดิมอยู่แล้ว เพียงแต่ครั้งนี้อาจต้องปรับถ้อยคำให้เข้าใจตรงกันมากขึ้น