ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอถาวร” ห่วงคนไทยเมินใช้สิทธิ “ผู้ป่วยนอกบัตรทอง” เพิ่ม หลังผลสำรวจสำนักงานสถิติแห่งชาติชี้ มีผู้มีสิทธิเพียงร้อยละ 50 เลือกใช้บริการ คาดเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่เชื่อมั่น ระบบบริการไม่ตอบสนอง จี้เร่งปรับปรุงดึงผู้มีสิทธิเข้ารับบริการ สร้างความมั่นคงกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่างยั่งยืน        

22 ต.ค.57 ขณะที่หลายประเทศอยู่ระหว่างการก้าวเข้าสู่บันไดขั้นที่หนึ่ง คือการสร้าง “ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วหน้า” เพื่อให้คนในประเทศมีสิทธิเข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึง นับเป็นสิ่งท้าทาย ซึ่งประเทศไทยได้ผ่านช่วงเวลาดังกล่าวและได้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 12 ของการจัดตั้ง “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ดูแลคนไทย 48 ล้านคน แม้ว่าจะได้รับความชื่นชมจากต่างประเทศ พร้อมยกให้เป็นประเทศต้นแบบของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่สามารถดำเนินการภายใต้งบประมาณที่จำกัด แต่สิ่งท้าท้ายต่อจากนี้คือการทำให้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีความยั่งยืน

จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ได้สำรวจการเข้ารับบริการรักษาพยาบาลของประชาชน พบว่าผู้มีสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีเพียงประมาณร้อยละ 50 ที่เข้ารักษาพยาบาลโดยใช้สิทธิเบิกจ่ายจากกองทุน สะท้อนให้เห็นทั้งปัญหาการเข้าถึงการรักษาที่อาจรวมไปถึงความเชื่อมั่นของประชาชนต่อบริการรักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

นพ.ถาวร สกุลพาณิชย์ 

นพ.ถาวร สกุลพาณิชย์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Health Focus ว่า จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติข้างต้นนี้ เป็นการสะท้อนภาพรวม “การเข้ารับบริการผู้ป่วยนอก รวมถึงการตรวจสุขภาพและป้องกันโรค” ที่มีจำนวนไม่มาก แต่ในส่วนของผู้ป่วยในนั้นไม่เป็นปัญหาเพราะส่วนใหญ่ประชาชนเลือกใช้สิทธิเบิกจ่ายจากองทุนเกือบทั้งหมด ทั้งการไม่ใช้สิทธิบริการผู้ป่วยนอกและการตรวจสุขภาพป้องกันโรคเป็นไปได้ 2 แนวทาง คือ 1.ผู้มีสิทธิที่อยากใช้บริการ แต่มีปัญหาการเข้าถึง ทำให้ไม่ได้ใช้สิทธิ และผู้มีสิทธิที่สามารถเข้าถึงบริการได้ แต่เลือกที่จะไม่ใช้บริการ จึงส่งผลต่อจำนวนผู้รับบริการระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

กรณีผู้มีสิทธิที่อยากใช้บริการระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่มีปัญหาการเข้าถึงนั้น ข้อมูลนี้สอดคล้องกับ “รายงานสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 4” ของสำนักงานสำรวจสุขภาพประชาชนไทย (สสท.) ที่ชี้ว่า แม้ว่าคนไทยเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น แต่ขณะเดียวกันพบว่ายังมีคนไทยจำนวนมากที่ไม่รู้ว่าตนเองป่วยเป็นโรค ซึ่งหากบริการครอบคลุมเข้าถึงคนทุกกลุ่มก็ไม่ควรมีกลุ่มคนที่ไม่รู้ว่าตนเองป่วย อย่าง โรคเบาหวาน ความดัน เป็นต้น ขณะเดียวกันยังมีกลุ่มที่ไม่สะดวกไปรับบริการ โดยเฉพาะผู้สูงอายุเจ็บป่วยที่อยู่ตามบ้าน แต่ไม่มีลูกหลานพาไปโรงพยาบาล

นพ.ถาวร กล่าวว่า ส่วนกลุ่มผู้มีสิทธิที่สามารถเข้าถึงบริการได้ แต่เลือกที่จะไม่ใช้ หันไปรักษายังโรงพยาบาลเอกชนและจ่ายเงินเองนั้น สาเหตุอาจมาจากความไม่ศรัทธาต่อระบบ ไม่เชื่อมั่นต่อการรักษา มีความต้องการพบแพทย์เป็นการเฉพาะ หน่วยบริการอยู่ไกล และความไม่สะดวกในการเข้ารับบริการ เป็นต้น ซึ่งข้อเท็จจริงยังไม่สามารถวิเคราะห์ลงลึกได้ เนื่องจากยังเป็นเพียงการสำรวจภาพรวมที่มีรายละเอียดไม่มาก แต่สะท้อนได้ว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังไม่ตอบสนองเพียงพอ ผู้จัดบริการยังต้องปรับระบบเพื่อตอบสนองผู้รับบริการ สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่แต่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่เผชิญปัญหานี้อยู่ แต่รวมถึงระบบประกันสังคมที่ประสบปัญหานี้เช่นกัน

ทั้งนี้หากยังคงปล่อยให้สถานการณ์ผู้รับบริการในระบบเป็นเช่นนี้และไม่มีการปรับปรุงนั้น มองผลระยะสั้น แม้ว่ารัฐบาลจะได้ประโยชน์เพราะใช้งบในระบบน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ลดภาระงบประมาณจากจำนวนผู้มีสิทธิที่เลือกและเข้ารับบริการไม่มาก แต่ในระยะยาวนับเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจ เพราะเท่ากับงบค่ารักษาที่รัฐบาลกระจายไปยังหน่วยบริการไม่ได้ถูกนำไปใช้ ประชาชนเลือกจ่ายเงินเพื่อซื้อบริการเอง แต่ทั้งนี้ยังไม่มากเท่าการสูญเสียความเชื่อมั่นในระบบ ตรงนี้สำคัญ เพราะในที่สุดจะทำให้กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอยู่ไม่ได้ ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญ

“เมื่อพูดถึงความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปัญหาความยั่งยืนทางการเงินการคลัง ส่วนใหญ่คนกังวลในเรื่องนี้มาก และทอดทิ้งความมั่นคงทางการเมืองและความมั่นคงทางสังคม ซึ่งตามทฤษฎีในการสนับสนุนนโยบายหลักประกันสุขภาพของรัฐบาลและนักการเมืองนั้น เขาไม่ได้กลัวเรื่องเงิน แต่ดูที่ความต้องการของประชาชนเป็นหลัก ไม่เช่นนั้น นโยบายกองทุนน้ำมันที่รัฐบาลยังคงเดินหน้า นักการเมืองยังสนับสนุนแม้ว่าจะขาดทุน หากยกเลิกประชาชนคงไม่ยอมแน่ ซึ่งที่ผ่านมาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็เป็นแบบเดียวกัน เพราะหากประชาชนยังศรัทธา ท้ายสุดนักการเมืองต้องฟังเสียงประชาชน” ผอ.สวปก. กล่าว

ในทางกลับกัน หากประชาชนไม่ต้องการ ย่อมส่งผลกระทบต่อความมั่นคง นพ.ถาวร กล่าวว่า ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือสิทธิประโยชน์บำนาญในระบบประกันสังคม ที่มีปัญหาความกังวลของผู้ประกันตนที่กลัวไม่ได้เงินตามสิทธิ ขณะเดียวกันทางกองทุนเองขาดการสื่อสารที่ดี การชี้แจงที่ชัดเจนเกี่ยวกับการจ่ายเงินสมทบขั้นบันไดเพื่อออมสะสมในกองทุน ทำให้เกิดความไม่มั่นใจและไม่ส่งเงินสมทบตามเงื่อนไข ตรงนี้เป็นเรื่องน่ากลัวมาก เพราะแนวโน้มในอนาคตมีโอกาสที่กองทุนต่างๆ รวมถึงกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะสูญเสียความเชื่อมั่นจากสังคมมากขึ้น เนื่องจากจะมีจำนวนคนชั้นกลางรุ่นใหม่ แม้จะไม่รวยแต่ก็มีรายได้มากขึ้น ทำให้เขาเหล่านี้มีทางเลือก ซึ่งหากเรายังคงปล่อยให้ระบบบริหารแบบเดิมโดยไม่ปรับปรุง แน่นอนคนเหล่านี้ย่อมเลือกไปใช้ช่องทางอื่นแทน

“กองทุนประกันสังคมเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน จะเห็นได้ว่าบริษัทไหนอยากเอาใจพนักงานก็จะไปหาสวัสดิการอื่นมาเสริม นอกจากกองทุนประกันสังคมที่ต้องทำเป็นภาคบังคับ เช่น การประกันอุบัติเหตุ เป็นต้น ซึ่งการดำเนินการของบริษัทเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าสิทธิประโยชน์ในระบบที่เป็นอยู่ยังไม่เพียงพอ ทำให้คนไม่ศรัทธาต่อระบบมากขึ้น ซึ่งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่ควรเดินไปเช่นนี้”

ส่วนวิธีการสร้างความเชื่อมั่นเพื่อให้ประชาชนยังคงศรัทธาต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น นพ.ถาวร กล่าวว่า วิธีการตรงไปตรงมาแบบการตลาด คือเมื่อกลุ่มเป้าหมายต้องการอะไร ให้ระบบดำเนินการไปตามนั้น แต่ทั้งนี้ต้องไม่ใช่คาดหวังและความต้องการที่สูงเกินไป หากเป็นเช่นนั้นต้องสื่อสารว่าทำไมได้ ซึ่งจำเป็นต้องให้ความรู้ประชาชนถึงบริการสุขภาพในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าว่าอะไรเป็นสิทธิประโยชน์ที่ควรได้ เพื่อไม่ให้เกิดความคาดหวังต่อระบบที่สูงจนเกินไป

ขณะเดียวกันด้านผู้บริหารระบบประกันสุขภาพและโรงพยาบาลที่ให้บริการเอง ต้องเข้าใจถึงความคาดหวังต่อระบบบริการที่เปลี่ยนไปเช่นกัน จากภาวะสังคมและรายได้ที่เปลี่ยนแปลง รวมไปถึงความรู้และการศึกษาที่เพิ่มสูงขึ้น เหล่านี้สัมพันธ์กับความต้องการ เมื่อก่อนอาจยอมรับได้กับการจัดบริการแบบเดิมๆ ที่ได้รับ แต่ตอนนี้อาจรู้สึกรับไม่ได้ สถานการณ์นี้มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้สอดคล้องกับผลการศึกษาวิจัยดำเนินการโดย สวปก. ที่พบว่า ประชาชนที่มีการศึกษาแตกต่างกัน ส่งผลต่อการยอมรับการบริการที่แตกต่างกัน เพราะมีความคาดหวังในระดับที่ไม่เท่ากัน โดยผู้ที่มีการศึกษาในระดับปริญญาตรีมีความพึงพอใจต่อระบบน้อยกว่าผู้ที่มีการศึกษาในระดับที่ต่ำกว่า ไม่แต่เฉพาะกับประเทศไทย แม้แต่ในต่างประเทศก็มีทิศทางเดียวกัน ดังนั้นจำเป็นที่ผู้บริหารระบบหลักประกันสุขภาพและผู้ให้บริการต้องปรับปรุงเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน เพื่อนำไปสู่การสร้างความยั่งยืนให้กับระบบ

“ขณะนี้เริ่มเห็นแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้ว โดยเฉพาะความต้องการที่เพิ่มขึ้นของประชาชนในการเข้ารับบริการในระบบหลักประกันสุขภาพ แต่ในฝั่งผู้บริหารระบบและผู้ให้บริการยังเห็นการปรับตัวในเรื่องนี้น้อยมาก เข้าใจว่ายังอาจตีโจทย์ไม่แตก อย่างไรก็ตามต้องดูว่าผู้มีสิทธิวันนี้เขาเลือกใช้สิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพราะอะไร เป็นการใช้สิทธิเพราะไม่มีทางเลือก ต้องทนใช้หรือไม่ หรือมองเป็นเพียงระบบประกันสุขภาพชั้นสอง หากเป็นเช่นนั้นเมื่อไหร่ที่คนเหล่านี้มีทางเลือก เขาจะไม่ใช่สิทธิกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแน่นอน และจะหันไปใช้บริการเอกชน ซึ่งมีแนวโน้มของทิศทางเป็นเช่นนั้น เห็นได้จากอัตราเติบโตของบริษัทประกันเอกชนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 ต่อปี ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศมาเลเซียและศรีลังกา ที่รัฐบาลจัดระบบสวัสดิการดูแลรักษาพยาบาลให้กับประชาชน แต่ประชาชนกลับไม่ใช้และเลือกใช้บริการเอกชนมากกว่า” ผอ.สวปก. กล่าว   

นพ.ถาวร กล่าวต่อว่า วันนี้ต้องยอมรับว่าระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทยไม่ได้เลวร้าย ทั้งยังเป็นระบบสุขภาพที่ดีกว่าในอีกหลายประเทศ แต่จากผลสำรวจที่พบจำนวนผู้ใช้สิทธิบริการผู้ป่วยนอกไม่ถึงครึ่งนี้ ควรมีการดำเนินการเพื่อปิดจุดอ่อน ปรับปรุงระบบ ไม่ว่าจะเป็นการจัดระบบบริการเพื่อเพิ่มการเข้าถึง การสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน รวมถึงการดึงโรงพยาบาลเอกชนเข้าร่วมระบบ ซึ่งจะทำให้กับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีความยั่งยืนด้วยการสนับสนุนของประชาชนเอง.