ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะทำงานศึกษาค่ารักษาพยาบาลเจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียว เร่งหาข้อสรุปอัตราจ่าย รพ.เอกชนในสัปดาห์นี้ ชี้ไม่จ่ายตามดีอาร์จี แต่จ่ายตามรายการย่อย และใช้ต้นทุนเป็นฐานในการคิดตัวเลข ดังนั้นฝั่งเอกชนไม่มีขาดทุนแน่นอน

นพ.ถาวร สกุลพาณิชย์

นพ.ถาวร สกุลพาณิชย์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) ในฐานะคณะทำงานศึกษาค่ารักษาพยาบาลโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉิน เข้าได้ทุกที่ ฟรีทุกสิทธิ เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่ได้สรุปตัวเลขอัตราค่าบริการที่ต้องจ่ายแก่ รพ.เอกชน ในกรณีผู้ป่วยฉุกเฉิน 72 ชั่วโมงแรก โดยคณะทำงานของฝ่ายกองทุนสุขภาพและรพ.เอกชน อยู่ระหว่างหารือในรายละเอียดและคาดว่าจะมีข้อสรุปที่ชัดเจนในสัปดาห์นี้ จากนั้นในสัปดาห์ต่อไปจึงจะเสนอให้ตัวแทนชุดใหญ่ของทั้ง 2 ฝ่ายเจรจากันอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม แนวทางการจ่ายค่ารักษาพยาบาลแก่ รพ.เอกชน ได้ตกลงกันแล้วว่าจะไม่ใช้วิธีการจ่ายตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (DRGs) แต่จ่ายตามรายการย่อย เช่น ใช้เวลาผ่าตัดกี่ชั่วโมง ใช้น้ำเกลือกี่ขวด เลือดกี่ถุง ไหมเย็บแผลกี่เส้น เป็นต้น

นพ.ถาวร กล่าวต่อไปว่า อัตราที่ใช้เป็นพื้นฐานในการเจรจา มาจากตัวเลขที่ได้จากการวิจัยสำหรับเสนอให้กรมบัญชีกลางปรับค่าใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาล แต่ยังไม่มีการประกาศใช้ออกมา จึงนำตัวเลขที่ได้นี้มาปรับใช้ในการจ่ายค่ารักษาโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินก่อน โดยยืนยันว่าเป็นการคิดอัตราค่าใช้จ่ายโดยคำนวนจากฐานของต้นทุน ไม่ใช่คำนวณจากราคาจ่ายของภาครัฐ ครอบคลุมทั้งต้นทุนค่าวัสดุ ครุภัณฑ์ สิ่งก่อสร้าง ค่าแรง ฯลฯ ดังนั้นฝั่ง รพ.เอกชนไม่มีการขาดทุนแน่นอน

“ตัวเลขยังบอกไม่ได้ อยู่ที่ว่าทั้ง 2 ฝ่ายยอมรับกันได้ตรงไหน หลักๆ คือเรื่องค่าแรงว่า รพ.เอกชนจะลดค่าตัวให้แค่ไหน เพราะต้นทุนค่าวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ก็ไม่ได้หนีจากฝั่งของภาครัฐเท่าใดนัก แต่ส่วนของค่าแรง ทาง รพ.เอกชนจ่ายมากกว่าภาครัฐและมีวิธีการจ่ายที่หลากหลายมาก แต่เราจะพยายามให้มีข้อสรุปโดยเร็ว เพราะเรื่องนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องการให้จบ” นพ.ถาวร กล่าว