ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นับจากนี้ไปอีก 11 ปี คือในปี 2568 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประเมินไว้ว่า ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุกว่า 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมดที่มีอยู่ประมาณ 6 ล้านคน และมีผู้ป่วยติดเตียงรวมถึงผู้ป่วยภาวะพึ่งพิงมากเกือบ 15% ของผู้สูงอายุทั้งหมด หรือกว่าประมาณ 1 ล้านคน

ระยะเวลา 11 ปี กับความพร้อมของระบบสุขภาพในการตั้งรับ อาจเรียกได้ว่า “สุ่มเสี่ยง” มีแนวโน้มที่จะล้มเหลว

นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง ในห้วงเวลาที่ขนาบใกล้เข้ามาเรื่อยๆ

นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ผู้สูงอายุที่ประเทศไทยกำลังเผชิญในปัจจุบัน โดยพบว่ามีประชากรสูงอายุประมาณ 15% ของประชากรทั้งหมด และมีถึง 10 จังหวัด ประกอบด้วย ชัยนาท สมุทรสงคราม แพร่ สิงห์บุรี อุตรดิตถ์ พิจิตร อุทัยธานี ลำปาง สุโขทัย และอ่างทอง ที่ประชากรสูงอายุมากถึง 20% ของประชากรในพื้นที่

นพ.เอกชัย เล่าว่า สธ.ได้มีการปรับใช้แผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมและพัฒนาผู้สูงอายุ ตามแผนผู้สูงอายุแห่งชาติฉบับ 2 โดยตั้งเป้าเพิ่มอัตราส่วนประชากรผู้สูงอายุที่มีพฤติกรรมสุขภาพอันพึงประสงค์เป็น 30% ของผู้สูงอายุทั้งหมด ทว่าในช่วงต้นปี2557 กลับพบว่ามีอัตราส่วนอยู่ที่ 26% เท่านั้น

สำหรับผู้สูงอายุที่ยังไม่ผ่านเกณฑ์พฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์มีความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรัง (NCDs) และนำไปสู่ภาวะพึ่งพิงในที่สุด ผลการสำรวจภาวะสุขภาพผู้สูงอายุไทยของ สธ.ประจำปี 2556-2557 พบว่าประมาณ 70% ของผู้สูงอายุมีภาวะอ้วน  18% มีโรคแทรกซ้อนจากเบาหวาน 13% มีโรคแทรกซ้อนจากความดันโลหิตสูง และมีถึง 95% ที่มีภาวะเจ็บป่วยจากโรคใดโรคหนึ่ง จากเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ข้อเข่าเสื่อม ซึมเศร้า ภาวะนอนติดเตียง

ในส่วนของการคัดกรองโรคยังทำได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด โดยผู้สูงอายุกว่า 1 ใน 3 ที่มีความผิดปรกติ แต่ไม่ทราบว่าตัวเองเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรค

แม้ปัจจุบันจะมีระบบการเยี่ยมเยียนผู้สูงอายุติดเตียงถึงบ้าน แต่ นพ.เอกชัย ให้ข้อมูลว่า มีผู้สูงอายุมากกว่า 20% ที่ไม่ได้รับการเยี่ยม และจากการสำรวจผู้สูงอายุใน 4 จังหวัด ได้แก่ พังงา อุดรธานี ลำปางและกาญจนบุรี ซึ่งนำร่องโครงการจัดระบบบริการจัดการผู้สูงอายุแบบบูรณาการของ สธ. พบว่าผู้สูงอายุมีรายจ่ายนอกระบบในการตรวจสุขภาพและรักษาโรค 948 บาทต่อคนต่อปี อุปกรณ์เครื่องช่วยพิการ 70 บาทต่อคนต่อปี วัสดุสิ้นเปลือง เช่น ผ้าอ้อม ถุงอุจจาระ ถุงปัสสาวะ 133 บาทต่อคนต่อปี

ทั้งหมดบ่งชี้ได้ว่า ผู้สูงอายุยังไม่ได้รับการดูแลจากระบบซึ่งอำนวยการโดยภาครัฐได้อย่างสมบูรณ์แบบ

นพ.เอกชัย บอกอีกว่า จากการถอดบทเรียนของ สธ.ในโครงการการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวในระดับตำบล ซึ่งมีกว่า 2,000 ตำบลเข้าร่วม แสดงให้เห็นถึงปัญหาของการบริหารจัดการระบบดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทย อาทิ 1.หลายหน่วยงานมีแผนแต่ยังนำมาปฏิบัติไม่ได้ แม้แต่แผนผู้สูงอายุแห่งชาติฉบับ 2 ก็ยังทำได้เพียง 20% เท่านั้น 2.หลายภาคส่วนเป็นเจ้าภาพในการทำเรื่องระบบดูแลผู้สูงอายุ แต่ยังไม่มีการบูรณาการที่ดีนัก 3.คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติควรจะมีบทบาทมากกว่านี้

4.มาตรฐานกำกับการดูแลผู้สูงอายุและสถานบริบาลผู้สูงอายุยังอยู่ในช่วงการพัฒนาและยังไม่ประกาศใช้ 5.ความยั่งยืนจากงบประมาณ เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งได้ค่าจ้างเพียงคนละ 600 บาทต่อเดือน ทั้งที่เป็นกลุ่มที่จะสามารถต่อยอดการดูแลผู้สูงอายุได้ 6.ที่เป็นปัญหาสำคัญอย่างยิ่งคือการที่กว่า 50% ของสังคมยังมีทัศนคติเชิงลบต่อผู้สูงอายุ

“สธ.ตั้งเป้าไว้ในปี 2566 ว่าคนไทยต้องมีอายุเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 80 ปี และผู้สูงอายุที่อายุต่ำกว่า 72 ปี ต้องมีสุขภาพดี โดยจะเน้นการส่งเสริมสุขภาพ จัดทำฐานระบบข้อมูลผู้สูงอายุแห่งชาติ และใช้มาตรการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้สูงอายุ เช่น การจัดทำสมุดบันทึกสุขภาพ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้ดูแลสุขภาพร่วมกับเจ้าหน้าที่ สธ.ได้ริเริ่มโครงการ 70 ปี ไม่มีคิวเพื่อเพิ่มช่องทางการเข้าถึงการรักษาแก่ผู้สูงอายุ” นพ.เอกชัย เล่าถึงทิศทางการขับเคลื่อนของ สธ.หลังจากนี้

ทางด้าน นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) บอกว่า สปสช.มีความพยายามผลักดันยุทธศาสตร์การดูแลผู้สูงอายุระยะยาวปี 2557-2561 โดยเน้นให้ลูกหลานมีการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน ส่วน สปสช.จะช่วยเสริมด้านความรู้และความเข้าใจ

“ยุทธศาสตร์นี้ได้ผ่านการอนุมัติจากทางบอร์ด (คณะกรรมการ) แล้ว แต่ยังติดที่เรื่องงบประมาณ ในส่วนของงบเหมาจ่ายรายหัวได้มีการชงให้เพิ่มแถวผู้สูงอายุเข้าไปด้วย แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณาจากผู้มีอำนาจ” นพ.สัมฤทธิ์ ให้ภาพอุปสรรคการดำเนินงาน

อย่างไรก็ตาม สปสช.ได้มีการนำร่องระบบดูแลผู้สูงอายุใน 10 จังหวัด แม้ปี 2558 จะยังไม่ได้งบประมาณ แต่ก็จะพยายามขยายพื้นที่นำร่องต่อไป ในส่วนของโครงสร้างระบบการบริหารระบบไม่น่าจะเป็นปัญหา เพราะมีองค์ประกอบไล่เรียง เช่น ท้องถิ่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือ อสม.แต่ที่จะมีปัญหาในอนาคตคือเขตเมือง โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งการเข้าถึงระบบจะยากกว่าต่างจังหวัด เนื่องจากโรงพยาบาลและเตียงเกินกว่าครึ่งอยู่ในภาคเอกชน

นายมานพ ตันสุภายน รองนายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลหนองตองพัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ ชี้ให้เห็นถึงอุปสรรคในการจัดระบบผู้สูงอายุในส่วนท้องถิ่นนั้น เกิดจากข้อจำกัดทางด้านงบประมาณและการถ่ายโอนอำนาจลงสู่ท้องถิ่น โดยเทศบาลตำบลหนองตองพัฒนาเป็นพื้นที่นำร่อง 1 ใน 10 ในการจัดระบบดูแลผู้สูงอายุแบบบูรณาการ มีประชากรรวมกว่า 8,000 คน เป็นผู้สูงอายุประมาณ 1,800 คน ในจำนวนนี้ช่วยตัวเองได้ประมาณ 60% กลุ่มผู้ป่วยติดบ้านและติดเตียงประมาณ 40%

สำหรับการจัดระบบที่ผ่านมานั้น ได้ใช้การบูรณาการระหว่างหน่วยงานรัฐ มี อสม.กว่า 60 คน และได้สร้างศูนย์อเนกประสงค์ในปี 2551 และปรับปรุงเป็นศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ พร้อมทั้งฝึก “หมอบ้าน” หรือช่างฝีมือที่มีทักษะและความรู้ในการสร้างอาคารหรือจัดสิ่งแวดล้อมที่เหมาะกับผู้สูงอายุ

อย่างไรก็ตาม แม้ว้าท้องถิ่นจะมีทรัพยากรบุคคลพร้อม แต่ไม่สามารถจัดระบบดูแลผู้สูงอายุได้เต็มที่ เนื่องจากทางส่วนกลางไม่ถ่ายโอนภารกิจลงสู่ท้องถิ่น บางครั้งถ่ายมาเฉพาะงานแต่ไม่มีงบประมาณให้ หากต้องการทำโครงการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพอาจถูกทักว่าเล่นบทบาทซ้ำซ้อน ทางออกจึงควรให้มีการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น เพื่อที่จะดูแลผู้สูงอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในส่วนของภาคธุรกิจที่ตื่นตัวและมองเห็นโอกาสในสังคมผู้สูงอายุอย่าง ดร.รัชฎา ฟองธนกิจ นายกสมาคมส่งเสริมธุรกิจบริการผู้สูงอายุไทย เชื่อว่า ผู้สูงอายุต้องมีการพึ่งพาธุรกิจบริการผู้สูงอายุในอนาคต โดยรูปแบบธุรกิจบริการในอนาคตน่าจะเป็นรูปแบบของ1.Day-care เพราะสอดคล้องกับวัฒนธรรมไทยที่ค่อนข้างเป็นห่วงพ่อแม่ 2.elderly care center ซึ่งเป็นธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นมาอาจมีต่างชาติมาลงทุน 3.บริการอาบน้ำให้ที่บ้าน 4.บริหารช่วยเหลืองานบ้าน 5.บริการด้านการขนส่ง 6.บริการสายด่วนและติดตั้งสัญญาณบอกเหตุ

สำหรับปัจจุบัน สามารถแบ่งสถานที่ดูแลผู้สูงอายุออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 1.โรงพยาบาลผู้สูงอายุ มีประมาณ 20 แห่ง ให้บริการทั้งแบบ day care และอยู่ประจำ 2. สถานบริบาลผู้สูงอายุ (Nursing home) พบมากตามหมู่บ้านและชุมชน มีงานสำรวจพบว่ามี 100 กว่าแห่งทั่วประเทศ แต่เชื่อว่ามีมากกว่านั้น ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจ SME 3.สถานสงเคราะห์ผู้สูงอายุหรือมูลนิธิ 4.ศูนย์บริบาลสุขภาพ (Health centre) เช่น สปา สถานที่ให้บริการส่งเสริมสุขภาพ 5.ที่อยู่อาศัยเฉพาะผู้สูงอายุ (Housing) อาจเป็นหมู่บ้าน มีการเช่าหรือซื้อ

ในส่วนของสถานบริบาลผู้สูงอายุ พบปัญหาต่างๆ อาทิ ไม่มีหน่วยงานเข้ามากับดูแลมาตรฐานของสถานดูแลผู้สูงอายุ เช่น มีการใช้ผู้ดูแลผู้สูงอายุที่ไม่มีความรู้ เป็นต่างด้าวที่ไม่สามารถสื่อสารกับผู้สูงอายุได้ และไม่มีกฎหมายที่ชัดเจนมากำกับมาตรฐานของสถานบริการ

นอกจากนั้นยังขาดแคลนผู้ที่มาดูแลผู้สูงอายุ เนื่องจากเป็นงานที่ไม่ท้าทายและหลักสูตรดูแลผู้สูงอายุโดยมากเป็นของเอกชน นักเรียนไม่สามารถกู้ยืมเงินเรียนเหมือนหลักสูตรปริญญาตรี

ชัดเจนชนิดไม่มีข้อเคลือบแคลง หากภาครัฐยังไม่ให้น้ำหนักกับสังคมผู้สูงอายุอย่างจริงจัง ระยะเวลาที่เหลืออีกเพียง 11 ปี คงไม่เพียงพอ และที่สุดระบบสุขภาพคนสูงวัยจะพังครืน