ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หลายคนเป็นต้องส่ายหัวทุกครั้งเมื่อได้ยินหรือข้องแวะกับ “งานวิจัย” แม้จะทราบดีว่าข้อมูล สถิติ กรอบการศึกษาโดยอ้างอิงหลักวิชาการจะนำมาซึ่ง “ต้นทาง” ที่แท้จริงของปัญหา

นั่นเพราะ “ภาพจำ” เกี่ยวกับงานวิจัยส่วนใหญ่ไม่เป็นที่น่าประทับใจ นอกจากจะรุงรังเต็มไปด้วยข้อมูลที่ยากจะเข้าใจแล้ว ยังดูเหมือนเป็น “ของสูง” ที่ไกลเกินเอื้อม ... ไม่ใช่สิ่งที่คนทั่วไปจะจับต้องได้

ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว “งานวิจัย” เปรียบดั่งศาสตราวุธทรงอานุภาพ สามารถ “เจาะเกราะ” แทงทะลุได้ทุกปัญหา

สำนักข่าว Health focus ใช้พื้นที่แห่งนี้สะท้อน “งานวิจัย” ในมิติที่แตกต่างออกไป หวังเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับเปลี่ยนทัศนคติ โดยเฉพาะกับบุคลากรในแวดวงสาธารณสุขที่จะนำไปสู่การเปลี่ยน “วิธีคิด” ต่อการทำงาน

เริ่มต้นจาก ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ฉายภาพสถานการณ์สุขภาพของคนไทยว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้คนไทยในอดีตเสียชีวิตคือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อ แต่ปัจจุบันพบว่ากว่า 70% เกิดจากโรคที่ไม่ได้ติดเชื้อ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นโรคที่เกิดจาก “พฤติกรรม”

ที่น่าสนใจก็คือ เมื่อวิเคราะห์ลงลึกไปในรายละเอียดจะพบว่า 99% ของคนไทยทราบว่าอะไรดีอะไรไม่ดี อะไรควรรับประทาน อะไรควรหลีกเลี่ยง แต่คนไทยจำนวน 99% นั้นกลับยังเลือกรับประทานอาหารขยะ ดื่มน้ำอัดลม เช่นเดิม

คำถามคือ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ?

ทพ.กฤษดา อธิบายว่า ต้นทางที่ทำให้ประชาชนมีพฤติกรรมในทิศทางที่ไม่ถูกควร คือ “ฟู๊ดมาร์เก็ตติ้ง” หรือการตลาดในธุรกิจอาหาร เช่น ดื่มแล้วสดชื่น กินแล้วผิวขาว คำถามที่ตามมาก็คือเรายังสามารถใช้วิธีการจัดการในรูปแบบเดิมๆ ได้ผลหรือไม่ แน่นอนว่ามันไม่ได้ผลอีกต่อไปแล้ว

ผลการวิจัยเรื่องอุบัติเหตุสามารถอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน โดยพบว่ามีเพียง 5% ที่เป็นปัจจัยที่อยู่ภายในการควบคุม ส่วนอีก 95% เป็นสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุม ขึ้นอยู่กับแวดล้อมภายนอก ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจึงต้องอาศัยการวิจัยที่เป็น “ศาสตร์”เข้ามาช่วย

“ภาคเอกชนสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคได้สำเร็จเนื่องจากใช้การวิจัย ตัวอย่างเช่น เหตุใดบุหรี่กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องวางขายอยู่ใกล้จุดชำระเงินในห้างสรรพสินค้า เหตุใดถึงวางลำดับสินค้าแบบในปัจจุบัน แน่นอนว่าทุกอย่างมีคำอธิบาย เช่น คนโสดจะซื้อของอย่างไร ชิ้นที่หนึ่ง สอง และจะหยิบอะไรใส่ตะกร้าเป็นชิ้นที่สาม ทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานของงานวิจัยทั้งสิ้น” ทพ.กฤษดา อธิบาย

เมื่อจำแนกสินค้าทำลายสุขภาพออกตามความสามารถในการควบคุม จะพบว่าบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สามารถควบคุมได้ จึงเห็นนโยบายจากภาครัฐที่ออกมาจำกัดการโฆษณา แต่สำหรับอาหารและพฤติกรรมการกินคงอยู่เหนือการควบคุม ดังนั้นโจทย์ใหญ่ก็คือจะส่งเสริมธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพขึ้นมาเป็นคู่แข่งได้อย่างไร

“เมื่อ 95% อยู่ที่สิ่งแวดล้อม จึงจำเป็นต้องเข้าใจสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้น โดยในอนาคตประเทศไทยต้องเผชิญกับ 5 เทรนด์สำคัญ ได้แก่ สังคมสูงอายุ ความเป็นเมือง ความเหลื่อมล้ำ อาเซียน และกระแสรักสุขภาพ”

สำหรับสังคมผู้สูงอายุจะทำให้รัฐมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าคนพิการมีรายได้เฉลี่ยเพียงเดือนละ 2,000 บาท ถามว่าคุณภาพชีวิตคนเหล่านี้จะดีได้อย่างไร ในส่วนความเป็นเมืองตอนนี้เราพบว่าประเทศไทยมีร้านสะดวกซื้อมากที่สุดในอาเซียนซึ่งทำให้พฤติกรรมการกินเปลี่ยนไป หรือเด็กที่ใช้เวลาอยู่กับอินเตอร์เน็ตสูงมาก ถามว่าเราจะทำงานกับสภาพเหล่านี้อย่างไร

ยังไม่นับความเหลื่อมล้ำช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนที่ห่างกันมาก หรืออาเซียนที่เราพบว่าประเทศรอบข้างเรา บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ราคาถูกกว่าเราทั้งหมด และสิ่งเหล่านี้จะไหลเข้ามาในประเทศ รวมถึงกระแสรักสุขภาพที่โตขึ้นเรื่อยๆ แต่ประชาชนก็ยังมีสุขภาพที่ไม่ดีนัก

“ทั้งหมดต้องใช้งานวิจัยแก้ปัญหา งานวิจัยจะทำให้คนมีความสุขขึ้น เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือความรู้” ทพ.กฤษดา ระบุชัด

อีกหนึ่งโมเดลที่น่าศึกษาสะท้อนผ่านประสบการณ์ตรงของ นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ตอบคำถามว่างานวิจัยเปลี่ยนชีวิตคนได้อย่างไร ชนิดปราศจากข้อเคลือบแคลง

“ผมเคยทำงานอยู่ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตและมีโอกาสเรียนรู้การทำงานวิจัยในพื้นที่ ปัญหาในขณะนั้นคืออัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุสูงในลำดับต้นๆ ของประเทศ จึงเริ่มวิจัยเชิงระบาดวิทยาแบบง่ายๆ คือไปเก็บข้อมูลว่าอุบัติเหตุเกิดขึ้นที่ถนนสายไหน ช่วงเวลาใด และความรุนแรงเป็นอย่างไร” นพ.สัมฤทธิ์ อธิบาย

คุณหมอสัมฤทธิ์ อธิบายเพิ่มว่า เมื่อทราบข้อมูลก็สามารถบอกได้ว่าถนนเส้นใดเกิดเหตุบ่อย รุนแรงถึงชีวิตหรือไม่ จากนั้นผลงานวิจัยก็ถูกสานต่อเป็นเวทีในระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตมาเป็นประธาน แล้วก็นำไปสู่การออกนโยบายเพื่อแก้ปัญหาอย่างตรงจุด

“สิ่งสำคัญที่สุดคืองานวิจัยต้องมุ่งตอบสนองปัญหาสุขภาพประชาชน ต้องนำไปใช้ประโยชน์และจับต้องได้จริง ไม่ใช่วิจัยแล้วนำไปวางอยู่บนหิ้ง โดยหัวใจของการวิจัยคือการตั้งโจทย์ ก่อนที่จะได้โจทย์เราก็ต้องรู้จักปัญหา ซึ่งส่วนหนึ่งของปัญหาก็อยู่ที่บริบทของสิ่งแวดล้อม” นี่คือบทสรุปจากประสบการณ์ทำงานของเขา

“ถามว่าเราจะเจออะไรเมื่อประชาคมอาเซียน (เออีซี) เข้ามา แน่นอนว่าเรารู้ปัญหาแล้วคือมีแพทย์ไม่พอ พยาบาลไม่พอ ถามว่าเราต้องเตรียมตัวอย่างไรเพื่อลดผลกระทบเหล่านี้ นี่คือสิ่งที่ต้องวิจัย ระบบสุขภาพต้องตอบสนองบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป” นายแพทย์รายนี้ ระบุ

คุณหมอสัมฤทธิ์ ย้ำอีกว่า เหนือสิ่งอื่นใดคืองานวิจัยมักมีข้อจำกัดด้านเวลา แต่ละชิ้นไม่น้อยกว่า 6 เดือน ถึง 1 ปี ดังนั้นเราจำเป็นต้องวางแผนล่วงหน้าว่าอีก 3-5 ปี จะเกิดอะไรขึ้น แล้วก็ออกแบบการวิจัยในที่ควรจะเป็น

ขณะที่มุมมองจาก ดร.นเรศ ดำรงชัย จากศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) ตั้งประเด็นสำหรับการวิจัยเพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตคนไทย โดยมองแนวโน้มสิ่งที่มีความสำคัญของคนไทยที่จะเปลี่ยนไป คือมีคนสูงอายุมากขึ้น คำถามคือเราจะมุ่งให้พัฒนาชีวิตที่ดีเพื่อให้อายุยืนขึ้นใช่หรือไม่

แน่นอนว่าเมื่ออายุยืนเราก็ต้องเผชิญโรคอีกมากขึ้นโดยเฉพาะโรคที่ไม่ติดต่อ แต่หากเราย้อนหลังไป 12 ปี จะมีแนวโน้มชัดเจนว่าโรคที่ไม่ติดต่อ ทว่าเกี่ยวกับการดำรงชีวิตมีเพิ่มขึ้นแต่โรคติดต่อน้อยลง ขณะที่การเสียชีวิตยังคงมากเท่าเดิม

แนวโน้มตรงนี้บอกอะไรได้หลายอย่าง

“ดังนั้น ทั้งหมดของผลงานด้านวิจัยทางการแพทย์จะนำไปสู่การรักษาเชิงป้องกันอย่างไร ซึ่งนี่เป็นโจทย์ใหญ่มากที่สะท้อนกลับมา ดังนั้นการทำวิจัยเองก็ต้องมองภาพรวม คือสร้างแพลตฟอร์มเช่นคนไข้เข้าไม่ถึงการรักษาหรือเข้าไม่ถึงสิทธิบัตรทอง จะทำอย่างไรให้เขาเหล่านั้นสามารถซื้อบริการสุขภาพได้” ดร.นเรศ ทิ้งท้าย

งานวิจัยพลิกฟื้นคุณภาพชีวิตราวกับปาฏิหาริย์ ... คุณเชื่อหรือยัง ?