ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อครั้งที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ “สมเด็จย่า”ของพสกนิกรชาวไทย  ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมตำรวจตระเวณชายแดน ตามจังหวัดชายแดนต่างๆ ในปี พ.ศ. 2507พระองค์ได้ทรงพบเห็นความยากลำบากของราษฎร ในการเดินทางมารักษายังโรงพยาบาลจังหวัดเวลาที่เจ็บป่วย อาการก็หนักเกินกว่าจะรักษา หรือโรคที่ไม่ได้รุนแรง แต่กลับเรื้อรังจนต้องพิการทุพพลภาพ จนเกิดพระราชกระแสรับสั่งของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อคืนวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ.  2512 ขณะทรงประทับอยู่ที่พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ ว่า

“ฉันได้ไปเยี่ยมตำรวจตระเวนชายแดนที่ปฏิบัติงานในป่าเขา เพื่อปกป้องและรักษาแผ่นดินเราเขาเสี่ยงอันตรายหลายอย่าง รวมทั้งโรคภัยไข้เจ็บด้วย ชาวบ้านและชาวเขาที่อยู่ตามป่าดงเหล่านั้น ก็มีปัญหาเรื่องป่วยไข้เช่นเดียวกัน เพราะอยู่ห่างไกล การคมนาคมไม่สะดวก หากพวกเราจะไปดูและรักษาเขาบ้าง จะเป็นเดือนละครั้ง สองเดือนครั้ง หรือแม้แต่สามเดือนครั้งก็ได้ จะได้ช่วยเหลือเขา เป็นประโยชน์มาก”

ถือเป็นจุดกำเนิดของกิจการแพทย์อาสา โดยเบื้องต้นแพทย์อาสาประกอบด้วย แพทย์และพยาบาล อาสาสมัครจากโรงพยาบาลแมคคอร์มิคและโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ออกปฏิบัติงานครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2512 ที่บ้านดอยสามหมื่น กิ่งอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนจะขยายไปทั่วประเทศในปัจจุบัน โดยเชิญชวนคนในพื้นที่ให้มาเป็นอาสาสมัครของหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในพระองค์ ซึ่งอาสาสมัครจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ประเภทแรกคือ อาสาสมัครสายแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งประกอบด้วยแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล ทันตนามัย เจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน เป็นต้น อีกประเภท อาสาสมัครสายสนับสนุน ซึ่งมีทั้งข้าราชการและบุคลากรในภาคเอกชน

หน่วยแพทย์อาสาจะออกปฏิบัติการเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ และไปเช้าเย็นกลับในวันเดียวกัน โดยจะเคลื่อนที่เข้าไปให้การรักษาราษฎรตามท้องถิ่นต่างๆ และใช้เฮลิคอปเตอร์เป็นยานพาหนะหลัก การออกปฎิบัติงานนั้น ในแต่ละหน่วยจะประกอบด้วย แพทย์ 2 คน ทันตแพทย์ 1 คน เภสัชกรหรือพยาบาลที่มีความรู้เรื่องยา 1 คน พยาบาล 3 คน และอาสาสมัครสมทบ 1 คน ซึ่งอาสาสมัคร พอ.สว.ทุกคนจะสวมเสื้อสีเทา กระเป๋าเสื้อสีเขียว มีเครื่องหมายของหน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ประชาชนจะเรียกขานอาสาสมัครเหล่านี้ว่า “หมอกระเป๋าเขียว” แม้แต่ผู้ที่มีอุดมการณ์ต่างกันในบางพื้นที่ ยังยกเวันการทำร้าย "หมอกระเป๋าเขียว" ทั้งนี้อาสาสมัครจะทำงานโดยไม่มีรายได้ตอบแทน และจะมีภูมิลำเนาหรือรับราชการอยู่ในจังหวัดนั้นๆ

ในปี 2516 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ทรงเริ่มนำระบบสื่อสารทางวิทยุรับ-ส่งมาใช้เพื่อให้คำปรึกษาโรคกับประชาชนในพื้นที่ห่างไกล เรียกว่า “แพทย์ทางอากาศ” หรือต่อมาเรียก แพทย์ทางวิทยุ ซึ่งดำเนินการตามแนวปฏิบัติของ The Royal Flying of Doctor Service of Australia ของออสเตรเลีย ทำให้หน่วยแพทย์อาสา พอ.สว. ถูกแบ่งออกเป็น 2 หน่วย คือ

หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ พอ.สว.  ทำหน้าที่ดูแลรักษาประชาชนที่ด้อยโอกาสในท้องถิ่นทุรกันดาร โดยได้รับการสนับสนุนด้านพาหนะจากกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ หรือกรมตำรวจ ในพื้นที่นั้น

หน่วยแพทย์ทางวิทยุ พอ.สว.  มีทั้งสิ้นใน 24 จังหวัดทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่สำนักงานกลาง วังสระปทุม

ในการดำเนินงานแพทย์อาสานั้น สมเด็จย่าทรงเป็นห่วงเรื่องงบประมาณเป็นอย่างยิ่ง เพราะงานแพทย์

อาสานั้นต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อเป็นการวางรากฐานให้การดำเนินงานของ พอ.สว.มีรากฐานที่มั่นคง สมเด็จย่าจึงโปรดเกล้าฯพระราชทานทุนทรัพย์เริ่มแรก 1 ล้านบาท ในการจดทะเบียนหน่วยแพทย์อาสา เป็น "มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนคริน ทราบรมราชชนนี" มีชื่อภาษาอังกฤษว่า  “The Princess  Mother’s  Medical  Volunteer Foundation”  เลขทะเบียนลำดับที่ 802 ในปี 2517 โดยพระองค์ทรงเป็นนายิกากิตติมศักดิ์ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้นเป็นประธานกรรมการบริหาร โดยมี ศ.นพ.อุดม โปษกฤษณะ เป็นเลขาธิการมูลนิธิ

จังหวัดที่มีกิจการแพทย์อาสา เรียกว่า จังหวัดแพทย์อาสา ทรงวางกฎเกณฑ์ไว้ว่า จังหวัดที่ต้องการตั้งหน่วยแพทย์อาสา ควรจะเป็นจังหวัดที่มีอาณาเขตติดกับชายแดน หรือการคมนาคมไม่สะดวก มีที่ทุรกันดาร หรือจำเป็นต้องอาศัยกิจการแพทย์อาสา ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดร่วมด้วยคณะแพทย์ของจังหวัดนั้นๆ ขอพระราชทานตั้งจังหวัดของตนเป็นจังหวัดแพทย์อาสาเสียก่อน เมื่อทรงพิจารณาเห็นว่าเหมาะสม จึงจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับไว้เป็นจังหวัดแพทย์อาสา กำหนดวางแผนการทำงานโดย คณะกรรมการระดับจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานคณะกรรมการ พอ.สว. ประจำจังหวัดโดยตำแหน่ง การติดต่อ ประสานงานในการปฏิบัติการทุกครั้ง ควบคุมโดย สำนักงานกลาง พอ.สว. ตั้งอยู่ที่วังสระปทุม ภายใต้การควบคุมของ คณะกรรมการกลาง ซึ่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเป็นองค์ประธานด้วยพระองค์เอง 

ซึ่งปัจจุบันมีจังหวัดแพทย์อาสาทั้งสิ้น 55 จังหวัด และอาสาสมัคร พอ.สว.ประมาณห้าหมื่นกว่าคน

ต่อมา เมื่อสมเด็จย่า เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 18 กรกฏาคม 2538 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จ พระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ทรงดำรงตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์สืบต่อมา ทั้งได้มีการปรับปรุงการบริหารภายในมูลนิธิ โดยมี นายแพทย์ประมุท จันทวิมล เป็นเลขาธิการมูลนิธิ พลเรือเอก หม่อมหลวงอัศนี ปราโมช เป็นประธานมูลนิธิรวมทั้งของบประมาณในการสนับสนุนจากรัฐบาล และได้มีการจัดสรรงบประมาณโดยกระทรวงสาธารณสุขเพื่อสนับสนุนทุกปี

ในปัจจุบัน หลังจากพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงสิ้น พระชนม์ เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2551 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงดำรงตำแหน่งเป็นประธานกิตติมศักดิ์ มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี และพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์  ในการบำบัดทุกบำรุงสุขแก่ราษฎรด้านการแพทย์และสาธารณสุขสืบต่อไป โดยเริ่มปฏิบัติพระกรณียกิจในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสเป็นจังหวัดแรก ระหว่างวันที่ 26 - 28 กันยายน พ.ศ. 2552

เอกสารอ้างอิง

ประวัติความเป็นมาของมูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทรา. [Online], สืบค้นเมื่อวันที่ 2 พศจิกายน 2557. จาก http://www.pmmv.or.th/index.php/derivation

มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี. [Online], สืบค้นเมื่อวันที่ 2 พศจิกายน 2557. จาก http://th.wikipedia.org/wiki/มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

"พอ.สว." คือ พระปณิธาน คือ ต้นธารแห่งการให้. [Online], สืบค้นเมื่อวันที่ 2 พศจิกายน

2557. http://www.volunteerspirit.org/node/234