ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผอ.สพช. เผยการแบ่งระดับบริการของรพ. เป็น ปฐมภูมิ ทุตยภูมิ และตติยภูมิ ยึดตามหลักธรรมชาติของโรคเชิงระบาดวิทยาที่มีโรคและความเจ็บป่วยที่ซับซ้อนแต่กต่างกัน ส่งผลให้ต้องใช้วิธีการรักษาและเครื่องมือแพทย์ที่แตกต่างกัน ชี้ต่างชาติจะแยกรพ.ผู้ป่วยนอกออกจากรพ.ผู้ป่วยใน ไม่ปะปนเหมือนไทยที่รพ.รักษาโรคซับซ้อนก็ยังต้องรักษาโรคเบื้องต้นปะปนกัน แถมเจอปัญหากระจายทรัพยากรเหลื่อมล้ำ เลยเป็นปัญหาสะสม หนุน สธ.ปรับเกณฑ์พิจารณาขึ้นตำแหน่งระดับสูงเท่าเทียม เปิดกว้างให้ แพทย์ รพช.มีโอกาสขึ้นผู้บริหาร สธ. ไม่จำกัดแค่ รพศ./รพท. เหตุงาน รพช.มีคุณค่าและความยากคนละแบบ

พญ.สุพัตรา ศรีวณิชชากร ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยและพัฒนาระบบสาธารณสุขชุมชน (สพช.) กล่าวว่า การจัดระดับบริการ แยกเป็นระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ เป็นการจัดแบ่งตามธรรมชาติของโรคในเชิงระบาดวิทยาที่จะมีโรคและความเจ็บป่วยที่ซับซ้อนและแตกต่างกัน ซึ่งจะใช้ความรู้และเครื่องมือทางการแพทย์ที่แตกต่างกันออกไปเช่นกัน ถ้าเป็นโรคที่เจ็บป่วยทั่วไปพบบ่อย การบริการขั้นพื้นฐานระดับปฐมภูมิก็เพียงพอ เพราะไม่จำเป็นต้องใช้การรักษาที่ซับซ้อน ขณะที่บางโรคต้องการนอนยังโรงพยาบาล ต้องการแพทย์เฉพาะทางในการรักษา ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้มีจำนวนน้อย ดังนั้นการลงทุนในทุกโรงพยาบาลเพื่อให้มีศักยภาพเท่ากันอาจไม่คุ้มค่า จึงต้องแบ่งเป็นระดับการให้บริการรักษาและใช้ทรัพยากรทั้งงบประมาณและกำลังคนที่จำกัดอย่างคุ้มค่า ที่สอดคล้องกับการแบ่งระดับของกระทรวงสาธารณสุขที่แยกเป็นโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไป

ทั้งนี้ในต่างประเทศมีการแยกระดับหน่วยบบริการรักษาเช่นกัน แต่แตกต่างที่จะแยกหน่วยบริการรักษาผู้ป่วยนอกออกจากการดูแลผู้ป่วยในสิ้นเชิง ไม่ปะปนกัน ต่างจากประเทศไทยที่โรงพยาบาลรักษาโรคซับซ้อนยังอาจรับดูแลผู้ป่วยนอกอยู่ แต่ที่ผ่านมาหลังมี 30 บาท ได้มีความพยายามในการแยกเช่นกันด้วยการแยกจ่ายค่ารักษาคนไข้ในและคนไข้นอกที่ไม่อิงตามลักษณะโรงพยาบาล แต่ก็ยังทำได้ยากอยู่ และการที่ประเทศไทยเป็นเช่นนี้ เพราะหน่วยบริการบ้านเราถูกสร้างให้มีหน้าที่แบบนี้ ขณะที่ภาพรวมการกระจายของหน่วยบริการเมื่อดูตามอัตราประชากรแล้ว พบว่ายังมีปัญหา เช่น ภาคอีสานซึ่งมีประชากรมากกว่าภาคกลาง แต่โรงพยาบาลภาคกลางกลับมีจำนวนมาก ซึ่งโรงพยาบาลในภาคอีสาน อย่างที่ จ.นครราชสีมา โรงพยาบาล 1 แห่ง ต้องรับดูแลประชากรมากว่า 1 แสนคน ขณะที่โรงพยาบาลในภาคกลาง อย่างเช่นที่ จ.ราชบุรี ที่มีโรงพยาบาลขนาดใหญ่ถึง 3 แห่ง ดูแลประชากรเพียงแค่ 2 หมื่นคน จากข้อมูลข้างต้นนี้เชื่อมโยงต่อการลงทุน ดังนั้นจำเป็นต้องมีการจัดการลงทุนให้มีความเหมาะสม

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในแง่การลงทุนที่ผ่านมา มีเสียงจาก รพช.ที่พูดถึงความเหลื่อมล้ำ ได้รับจัดสรรงบลงทุนน้อย พญ.สุพัตรา กล่าวว่า เนื่องจาก รพช.บางแห่งต้องยอมรับว่า มีหน้าที่รับผิดชอบประชากรมาก และมากพอๆ กับ รพศ./รพท. อย่างที่ รพ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช ที่ดูแลประชากรหลักแสนคน ดังนั้นจึงมีความต้องการแพทย์เฉพาะทางเช่นกัน เทียบเท่ากับ รพศ./รพท. แต่ที่ผ่านมาเกณฑ์การกระจายงบลงทุนของกระทรวงเป็นการจัดสรรตามระดับโรงพยาบาลที่ไม่ดูความเป็นจริงด้านบริการและสุขภาพ จึงทำให้เกิดปัญหา และไม่เหมาะสม ทั้งที่การจัดสรรควรดูว่าโรงพยาบาลให้บริการอะไรและควรจัดสรรงบและกำลังคนไปตามความจำเป็นของหน่วยบริการ  

“การกระจายลงทุนควรคิดจากข้อมูลประชากร ลักษณะปัญหาโรคในพื้นที่เชิงระบาดวิทยา ซึ่งเป็นวิธีคิดตามหลักวิชาการ แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่ได้กระจายการลงทุนด้วยวิธีนี้ แต่เป็นการกระจายตามการบริหาร ตามระดับโรงพยาบาล ไม่ได้กระจายโดยมองปัญหาประชากรและสุขภาพเป็นที่ตั้ง” ผอ.สพช. กล่าว

ต่อข้อซักถามว่า มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำในความก้าวหน้าในวิชาชีพ จากปัญหาการแยกระดับบริหารโรงพยาบาลของ สธ. พญ.สุพัตรา กล่าวว่า เป็นเรื่องความต่างของความก้าวหน้าระหว่างแพทย์ใน รพช. และ รพศ./รพท. โดยในส่วนของแพทย์ที่ทำงานใน รพศ./รพท.จะมีความก้าวหน้ามากกว่า รพช. ในการเข้าสู่ตำแหน่งระดับสูง ซึ่งหากดูข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมองว่าควรต้องปรับเกณฑ์ เพื่อเปิดทางให้แพทย์ที่ทำงานใน รพช.มีโอกาสก้าวหน้าเช่นกัน  

“ข้อเสนอในเรื่องนี้น่าเป็นการปรับ คงไม่ถึงสลายระดับ รพ. ทั้งนี้เพื่อให้มีการปรับเกณฑ์ความก้าวหน้าที่เหมาะสม โดยในกรณีของ รพช.อาจใช้วิธีประเมินงานฟื้นฟูเป็นหลัก ไม่ใช่ไปจำกัดกีดกัน ซึ่งขณะนี้ต้องยอมรับว่าเป็นระบบให้คุณค่างานใน รพศ./รพท.มากกว่า เน้นที่แพทย์เฉพาะทาง ทั้งนี้งาน รพช.ที่เป็นการดูแลประชาชนในภาพกว้างก็มีความยากเช่นกัน แต่เป็นความยากคนละแบบ ดังนั้นในด้านความก้าวหน้า สธ.จึงต้องปรับเกณฑ์การให้น้ำหนักที่เท่าเทียม”