ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.มติชน : 'ศิริราช'ส่งทีมนักวิจัยบินตรงสหรัฐ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ เผยนำ'แอนติบอดี'ไปทดลองในห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 4 หากสำเร็จฮูขอส่งไปช่วยผู้ติดเชื้ออีโบลาในพื้นที่ระบาด

ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะนักวิจัยของศิริราชพยาบาลได้ร่วมกันผลิตแอนติบอดีรักษาโรคติดเชื้ออีโบลาสำเร็จในระดับหนึ่ง และองค์การอนามัยโลกได้เชิญผู้วิจัยไปร่วมทดลองในห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 4 (BSL4) ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยนำแอนติบอดีที่ผลิตได้ไปทดลองกับเชื้อไวรัสอีโบลาจริง เพื่อพิสูจน์ว่าสามารถรักษาโรคได้จริงตามสมมติฐาน และการทดสอบในระดับห้องปฏิบัติการได้จริงหรือไม่นั้น ล่าสุด คณะนักวิจัยจะออกเดินทางไปสหรัฐในวันที่ 18 พฤศจิกายนนี้ นำทีมโดย ศ.เกียรติคุณ วันเพ็ญ ชัยคำภา หัวหน้าทีมผู้ผลิตแอนติบอดีรักษาโรคไข้เลือดออกอีโบลา ศ.รวงผึ้ง สุทเธนทร์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย คาดว่าจะใช้เวลาในการทดสอบประมาณ 2 สัปดาห์ และมีความเป็นไปได้สูงว่าสำเร็จ

"แอนติบอดีที่สร้างขึ้นใช้แบคทีเรียช่วยสร้างและทดสอบกับเชื้อไวรัสที่ผลิตขึ้นในห้องปฏิบัติการซึ่งมีลำดับยีนส์เหมือนไวรัสต้นฉบับ แต่อีโบลามีหลายสายพันธุ์ ต้นฉบับแอนติบอดีที่ทำไปในครั้งนี้ จึงเป็นแบบผสม 5 สายพันธุ์ หรือ 5 โครน เพื่อป้องกันการแปรสายพันธุ์ เพราะคุณสมบัติของไวรัสสามารถแปรสายพันธุ์ได้ตลอดเวลา และแอนติบอดีที่เตรียมไปทดลองจะเป็นตัวที่สามารถป้องกันได้หลายสายพันธุ์" ศ.คลินิก นพ.อุดมกล่าว และว่า เบื้องต้นได้รับการประสานว่า หากผลการทดลองสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ องค์การอนามัยโลกจะขอนำไปใช้กับผู้ป่วยจริงในพื้นที่ระบาดทันที เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันยังมีผู้ป่วยติดเชื้อและเสียชีวิตทุกวัน

ศ.คลินิก นพ.อุดมกล่าวอีกว่า หากการทดลองสำเร็จ จะใช้เทคโนโลยีที่สหรัฐขยายแอนติบอดีให้เพียงพอต่อการใช้กับผู้ป่วยจริง ส่วนเรื่องสิทธิบัตรยังเป็นเรื่องที่จะตกลงกันต่อไป ทั้งนี้ ตั้งแต่ รพ.ศิริราชประกาศว่าสามารถผลิตแอนติบอดีเพื่อหยุดเชื้อไวรัสอีโบลาได้ ยังไม่มีห้องปฏิบัติการ หรือคณะนักวิจัยจากประเทศใดๆ โต้แย้งในวิธีที่ รพ.ศิริราช สามารถทำได้แต่อย่างใด ซึ่งปัจจุบันมีห้องปฏิบัติการจำนวนมากทั่วโลกที่แข่งขันกันเพื่อหาวิธีหยุดยั้งอีโบลา

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 10 พฤศจิกายน 2557