ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมช.ศึกษาธิการเผยผลประชุมโครงการผลิตแพทย์เพิ่ม มีมติให้ผลิตแพทย์ปีละ 3,000 คนใน 10 ปี ลดการกระจุกตัวของแพทย์ในเมืองใหญ่ พร้อมชงเพิ่มค่าปรับกรณีที่แพทย์เรียนจบแล้วผิดสัญญาไม่ทำงาน รพ.รัฐเพื่อใช้ทุนเป็น 5 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2561 นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประชุมหารือโครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทย ปี พ.ศ.2561-2570 (ระยะที่ 1 พ.ศ. 2561-2562) โดยมี รศ.นพ.โศภณ นภาธร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ, นายสุภัทร จำปางทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา, ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ตลอดจนผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงบประมาณ เข้าร่วมประชุม

นพ.อุดม คชินทร

นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า โครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการต่อเนื่องมากว่า 10 ปี และสิ้นสุดระยะเวลาดำเนินโครงการฯ ไปเมื่อปี 2560 ประกอบกับสำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ให้ข้อเสนอแนะให้มีการทบทวนโครงการ เนื่องจากใช้งบประมาณมากถึง 90,000 ล้านบาท (พ.ศ.2561-2570) กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) จึงได้เสนอโครงการดังกล่าวให้กระทรวงศึกษาธิการพิจารณาแนวทางการดำเนินงาน โดยแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ปี พ.ศ.2561-2562 และระยะที่ 2 พ.ศ.2563-2570

จากการหารือร่วมกันในครั้งนี้ ทุกฝ่ายเห็นพ้องให้กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข ตั้งเป้าหมายผลิตแพทย์ร่วมกัน ปีละ 3,000 คนต่อเนื่องเป็นเวลา 10 ปี ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวเป็นไปตามผลการศึกษาวิจัย ทั้งในเรื่องของสัดส่วนของแพทย์ต่อจำนวนประชากร อยู่ที่สัดส่วน 1:1,200 และการลดการกระจุกตัวของแพทย์ในเมืองใหญ่ ตลอดจนการผลิตแพทย์ให้ตรงตามความจริงและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก

โดยเตรียมที่จะบริหารจัดการงบประมาณใหม่ใน 2 ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นงบดำเนินการในการผลิตแพทย์ 300,000 บาทต่อคนต่อปี และส่วนที่สอง เป็นงบจัดหาอุปกรณ์และครุภัณฑ์พื้นฐาน สำหรับการเรียนการสอน 2,000,000 บาทต่อคนต่อหลักสูตร โดยให้คำนึงถึงความคุ้มค่าของอุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ ตามอายุการใช้งานเฉลี่ยตามมาตรฐานกลางของกรมบัญชีกลาง และมิให้ซ้ำซ้อนกับที่มีอยู่แล้ว

ในส่วนของตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการฯ เน้นที่ "คุณภาพชีวิตของประชาชน" เป็นสำคัญ โดยวัดจากการเข้าถึงการให้บริการทางการแพทย์ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ในขณะที่กระทรวงสาธารณสุข ก็ต้องปรับกระบวนการส่งเสริมสุขภาพประชาชนในด้านต่าง ๆ เพื่อลดจำนวนผู้ป่วย พร้อมนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยในการรักษา ที่จะทำให้ใช้แพทย์น้อยลงอีกทางหนึ่งด้วย

นอกจากนี้ ยังได้หารือถึงแนวทางการป้องกันและรักษาแพทย์ให้คงอยู่กับภาครัฐ ไม่ไหลไปอยู่กับภาคเอกชน ที่จะส่งผลต่อจำนวนแพทย์ที่ไม่เพียงพอในโรงพยาบาลของรัฐ โดยอาจจะกำหนดมาตรการในสัญญาการรับทุนแพทย์ เป็น "ค่าปรับ" กว่า 5 ล้านบาท กรณีที่แพทย์เรียนจบแล้วผิดสัญญา โดยจะนำเงินส่วนนี้ส่งคืนภาครัฐต่อไป เป็นต้น ทั้งนี้เดิมมีค่าปรับ 4 แสนบาท

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า การดำเนินงานต่อจากนี้ ทาง กสพท.จะได้จัดทำและนำเสนอโครงการให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ โดยในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งรับผิดชอบเรื่องการผลิตแพทย์เป็นหลัก ถือว่าปัญหาสุขภาพของประชาชนเป็นเรื่องใหญ่ และเป็นความจำเป็นเร่งด่วน ที่รัฐต้องจัดบริการด้านสุขภาพให้กับประชนอย่างทั่วถึง เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจริง ๆ