ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทยสภาเสนอสปช.ปฏิรูปกำลังคนด้านสุขภาพ ต้องมีแพทย์เพียงพอ เผยแพทย์รพ.รัฐงานหนัก ตรวจคนไข้นอกครึ่งวันเช้าสูงถึง 100-200 คน ส่งผลสื่อสารกับผู้ป่วยน้อย มีปัญหาคุณภาพการรักษา แจงมีแพทย์ในสังกัดสธ. เพียง 13,500 คนเท่านั้น แถมติดปัญหาตำแหน่งรองรับ เพราะสธ.อยู่ใต้ก.พ. ต้องขออัตราแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สธ.จากก.พ.ทุกปี ชี้ต้องทำให้คล่องตัว พยาบาล-เจ้าหน้าที่สธ. ไม่ควรเป็นลูกจ้าง เพราะเป็นขวัญกำลังใจ ถ้าออกจากก.พ.แล้วมีประโยชน์มากกว่า ก็น่าจะพิจารณา

11 พ.ย.57 พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา กล่าวถึงแนวทางการปฏิรูประบบสุขภาพ ว่า การปฏิรูประบบสุขภาพที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ การปฏิรูปเรื่องกำลังคนด้านสุขภาพ ได้แก่ บุคลากรทางด้านสาธารณสุขให้เพียงพอต่อการให้บริการประชาชน เนื่องจากที่ผ่านมาแพทย์/พยาบาล มีจำนวนจำกัด แต่ให้บริการประชาชน ผู้ป่วยจำนวนมาก โดยเฉพาะในโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งที่ผ่านมาแพทย์มีภาระงานมาก จนน่าเห็นใจ โดยข้อมูลที่ผ่านมา พบว่าแพทย์ที่ตรวจวินิจฉัยคนไข้โอพีดี หรือคนไข้นอกทั่วไป ในโรงพยาบาลรัฐและเอกชนพบว่า ภาพรวมทั้งประเทศแพทย์ออกตรวจคนไข้สูงถึง 240 ล้านครั้งต่อปี แบ่งเป็นแพทย์ที่ตรวจคนไข้ใน 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐ คือ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม กองทุนสิทธิสวัสดิการข้าราชการ รวมแล้วประมาณ 200 ล้านครั้งต่อปี นอกนั้นอีก 40 ล้านครั้งเป็นแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชน

“โดยพบว่าแพทย์ที่ตรวจคนไข้ระบบหลักประกันสุขภาพฯ หรือบัตรทองอยู่ที่ 160-180 ล้านครั้ง ข้อเท็จจริงเราพบว่าในหลายสถานพยาบาลรัฐ แพทย์ 1 คนต้องตรวจวินิจฉัยคนไข้สูงถึง 100-200 คนต่อการออกตรวจคนไข้นอก 1 ครั้ง คือ ตั้งแต่ช่วงเช้าถึงเที่ยง หรือคิดเป็น 180 นาที ซึ่งการตรวจในกลุ่มนี้จะทำให้มีเวลาในการพูดคุยสื่อสารทำความเข้าใจกับคนไข้บางรายเพียงคนละ 1 นาทีเท่านั้น ทำให้โอกาสเสี่ยงที่จะเกิดความไม่เข้าใจกัน จากการสื่อสาร ที่ไม่สามารถซักถามกันได้พอ สิ่งสำคัญจึงต้องมีการบริหารจัดการเวลาที่เรียกว่า Working Time Directive ซึ่งเป็นเวลาการทำงานของแพทย์ที่เหมาะสมกับภาระงาน ตัวอย่างเช่นในการตรวจวินิจฉัยคนไข้แต่ละคนอย่างเหมาะสม โดยอาจไม่ต้องถึงขั้นโรงเรียนแพทย์ที่แพทย์ออกตรวจวินิจฉัยคนไข้วันละประมาณ 30 คนต่อการออกตรวจ 1 ครั้ง แต่หากแพทย์ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดให้แพทย์แต่ละคนสามารถตรวจคนไข้ให้เท่าที่ตนเองทำได้โดยมีคุณภาพ โดยเพิ่มแพทย์และลดความเจ็บป่วย ก็จะมีเวลาในการสื่อสารกับคนไข้มากขึ้น คุณภาพการรักษาก็จะดียิ่งขึ้น และความสัมพันธ์ก็จะดีขึ้นด้วย แต่ต้องระวังให้ไม่กระทบสิทธิที่จะทำให้ผู้ป่วยที่จำเป็นเสียโอกาสในการเข้าถึงหรือรอคิวจนนานเกินไป” พล.อ.ต.นพ.อิทธพร กล่าว

รองเลขาธิการแพทยสภา กล่าวอีกว่า การจะบริหารเวลาการดูแลรักษาผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้นนั้น สิ่งสำคัญคือ จะต้องมีบุคลากรรัฐที่เพียงพอ ในปัจจุบัน บุคลากรแพทย์ใน สธ.มีประมาณ 13,500 คน จากแพทย์ทั้งประเทศ 47,000 คน โดยในปี 2558 จะมีแพทย์จบใหม่อีก 2,600 คน ซึ่งจะโดยทั่วไปจะบรรจุในโรงพยาบาลสังกัด สธ.ประมาณ 2,000 คน ทั้งนี้โรงพยาบาลในสำนักงานปลัดกระทรวง สธ.มีกว่า 840 แห่งทั่วประเทศ แพทย์ที่จบใหม่แม้ในปีแรกจะอยู่ รพ.ขนาดใหญ่ แต่จะกระจายลงใน รพ.ขนาดเล็กในปีที่ 2 และ 3 ถึงส่วนหนึ่งกลับไปเรียนต่อ ที่เหลือจะส่งผลให้มีแพทย์เพิ่มในรพ.แต่ละแห่งที่ขาดได้อีกถึง2- 3 คน/ปี ก็จะช่วยให้ระบบการรักษาบริการดีขึ้นได้

นพ.อิทธพร กล่าวว่า ปัญหาคือ จะต้องมีตำแหน่งรองรับด้วย ที่ผ่านมาทุกปีมักจะเกิดปัญหาขาดตำแหน่ง ด้วยเหตุที่ สธ.ยังอยู่ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และต้องขออัตราทั้งแพทย์ พยาบาล และสาธารณสุขอื่นๆ ทุกปี ซึ่งเป็นทั้งจุดที่ต้องปรับปรุงให้คล่องตัวตามความเป็นจริง รวมถึงการพิจารณาออกนอกระบบ ก.พ. หากเกิดประโยชน์มากกว่า และเร่งสร้างขวัญกำลังใจต่อผู้ปฏิบัติงาน หากการบรรจุข้าราชการทำได้ทั้งหมดที่จำเป็น ทั้งแพทย์และพยาบาล โดยเฉพาะพยาบาลไม่ต้องไปเป็นลูกจ้างชั่วคราวเช่นที่เกิดขึ้นในหลาย รพ.รัฐ ย่อมดีที่สุด ดังนั้นการปฏิรูประบบสาธารณสุขครั้งนี้จึงควรให้ความสำคัญกับบุคลากรเป็นลำดับแรกโดยขอให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) พิจารณานำปัญหาเรื่องบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทันตแพทย์ ฯลฯ ในภาครัฐเป็นเรื่องด่วนลำดับต้นๆ เพราะหากมีจำนวนในภาครัฐเพียงพอกับภาระงาน มี working time directive ที่เหมาะสม ไม่อยู่เวรซ้อนยาวนาน ไม่มีงานเกินกำลัง มีคุณภาพชีวิตที่ดี สุดท้ายผลดีคือการดูแลคนไข้ย่อมทำได้อย่างมีทั้งคุณภาพ และประสิทธิภาพ นำไปสู่การลดปัญหาความไม่เข้าใจกันระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และคนไข้ได้ ทั้งนี้จะนำเสนอผ่าน กรรมาธิการ สาธารณสุข ของสภาปฏิรูปแห่งชาติต่อไป