ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมว.สธ.เผย ครม. มีมติเห็นชอบให้องค์การเภสัชกรรม เดินหน้าการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก ใช้เวลาอีก 513 วัน คาดจะผลิตวัคซีน รุ่นทดลองได้ในในต้นปีพ.ศ.2561

10 ธ.ค.57 ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557 ได้มีมติเห็นชอบตามที่องค์การเภสัชกรรมเสนอ ในการดำเนินการเดินหน้าก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนก ตามมาตรฐานจีเอ็มพี(GMP) ขององค์การอนามัยโลก ที่ ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี เพื่อเป็นสถานที่ผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ทั้งในสถานการณ์ปกติและในกรณีเกิดการระบาดใหญ่ใช้ในประเทศไทย โดยหลังจากนี้จะใช้เวลาในการก่อสร้างอีกประมาณ 513 วัน ควบคู่กับการติดตั้งและทดสอบเครื่องจักรและอุปกรณ์การผลิตต่างๆให้เป็นไปตามมาตรฐาน คาดว่าต้นปีพ.ศ. 2561 สามารถเริ่มดำเนินการผลิตวัคซีน เพื่อใช้ในการทดลองทางคลินิก หากผลการทดสอบผ่านและได้รับการอนุมัติทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)แล้ว ประเทศไทยก็จะมีวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ และไข้หวัดนก ที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม ไว้ใช้บริการแก่ประชาชนต่อไป

ภญ.วนิชา ใจสำราญ รองผู้อำนวยการรักษาการผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า การก่อสร้างโรงงานวัคซีนขององค์การเภสัชกรรมนี้ นับเป็นโรงงานผลิตวัคซีนแห่งแรกของประเทศไทย ที่มีกระบวนการผลิตครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำจนได้วัคซีนสำเร็จรูป ซึ่งมีความซับซ้อนทั้งในด้านกระบวนการและเทคโนโลยี การผลิต การก่อสร้างจึงต้องมีการทบทวน ตรวจสอบการออกแบบในรายละเอียดให้มีความเหมาะสมรอบคอบ ซึ่งต้องใช้เวลาดำเนินการ โดยมีเหตุผลทางวิชาการและเหตุผลทางเทคนิคสนับสนุนตามข้อแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลก และสถาบันคาเค็ตสุเกน(kaketsuken) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านเทคนิคการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการเพิ่มความปลอดภัยในการปฏิบัติงานและความปลอดภัยต่อชุมชนรอบข้างโรงงานให้สูงขึ้น

“โรงงานฯนี้ เมื่อการดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลชนิดเชื้อตาย เริ่มต้นปีละ 2 ล้านโด๊ส และสูงสุดถึง 10 ล้านโด๊สต่อปี และสามารถเพิ่มกำลังการผลิตกรณีเกิดการระบาดใหญ่ (Pandemic)ได้ไม่ต่ำกว่า 60 ล้านโด๊ส ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นคงและความยั่งยืนในการพึ่งพาตนเองของประเทศไทยในด้านวัคซีน รองรับการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ที่มีความรุนแรงและมีแนวโน้ม จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต”ภญ.วนิชา กล่าว