ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.มติชน : ปี 2545 ประเทศไทยปฏิรูประบบสุขภาพครั้งใหญ่ ด้วย "โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า" หรือ โครงการสามสิบบาท รักษาทุกโรค ทำให้คนไทยทุกระดับเข้าถึงบริการทางการแพทย์ขั้นพื้นฐานได้อย่าง "ทั่วถึง" และ "เท่าเทียม" กันมากขึ้น สมัยนั้น นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ คือหัวหอกสำคัญในการผลักดันโครงการสามสิบบาทจนเกิดเป็นรูปธรรมในชื่อ "สิทธิบัตรทอง" และรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้นนำไปเป็นผลงาน

มาถึงปี 2558 ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มี ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นับเป็นอีกทศวรรษที่น่าจับตามองว่า การปฏิรูประบบสาธารณสุขไทยจะพลิกโฉมเหมือนเมื่อ 12 ปีที่ผ่านมาหรือไม่ และจะก่อประโยชน์กับประชาชนเฉกเช่นสิทธิบัตรทองได้มากน้อยแค่ไหน

หลายคนตั้งความหวังว่า ราว 1-2 ปีนับจากนี้ ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากนโยบายสุขภาพที่เปลี่ยนแปลง

"เราจะยกระดับคุณภาพการบริการด้านสาธารณสุขให้ทั่วถึงและเท่าเทียม โดยการจัด ทีมหมอครอบครัว เพื่อเข้าไปบริการดูแลสุขภาพคนในครอบครัวทุกคนไม่ให้เจ็บป่วย และดูแลผู้ป่วยที่พักฟื้นอยู่ที่บ้าน ซึ่งมีอยู่ 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ 1.ผู้สูงอายุ ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ หรือเรียกว่า ติดเตียง จำนวน 163,860 คน ของผู้สูงอายุที่มี 9 ล้านกว่าคน 2.ผู้พิการ จำนวน 1,580,525 คน และ 3.ผู้ป่วยระยะสุดท้าย จำนวน 41,557 คน รวมทั้ง 3 กลุ่ม มีจำนวน 1,785,942 คน" ศ.นพ.รัชตะกล่าว

การเดินหน้านโยบาย "ทีมหมอครอบครัวทั่วไทย คนไทยเข้มแข็ง แข็งแรง" ซึ่งจัดเป็นนโยบายอันดับต้นๆ ในการปรับเปลี่ยนระบบสุขภาพครั้งใหญ่ จากเดิมมุ่งเน้นการรักษาพยาบาล เป็นการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค และเน้นการดูแลประชาชนคนไทยให้สุขภาพดีในระดับครัวเรือน เรียกว่า จากนี้ไป แต่ละครอบครัวจะมีหมอประจำ คอยให้คำแนะนำด้านสุขภาพ มีการสื่อสารสร้างความเข้าใจกันมากขึ้น ขณะเดียวกัน ยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของภาครัฐ ที่ไม่ต้องไปมุ่งเน้นการรักษาพยาบาล หรือสร้างตึกโรงพยาบาลขนาดใหญ่เพื่อรองรับคนไข้มากเหมือนครั้งอดีต

อย่างไรก็ตาม นโยบายทีมหมอครอบครัว ไม่ใช่เรื่องใหม่ในยุคของ ศ.นพ.รัชตะ แต่มีการขับเคลื่อนมานานในรูปนักสุขภาพชุมชน ผ่านการทำงานของบุคลากรสาธารณสุขในสถานีอนามัย หรือ ปัจจุบันเรียกว่า "โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล" (รพ.สต.) ทำงานร่วมกับชุมชนมานาน เพียงแต่กระจัดกระจายและไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างตรงจุด ส่วนใหญ่การลงพื้นที่ทำงาน หากเป็นทีมแพทย์จากโรงพยาบาลขนาดใหญ่ พร้อมทั้งสหวิชาชีพต่างๆ ทั้งพยาบาล ทันตแพทย์ นักกายภาพบำบัด นักโภชนาการ ล้วนเป็นการเยี่ยมบ้านเสียมากกว่า หรือแม้แต่ละชุมชนจะมีการจัดตั้งหมู่บ้านจัดการสุขภาพขึ้น ก็ยังไม่เป็นภาพรวมระดับประเทศมากนัก

ด้วยเหตุนี้ สธ.จึงปลุกเรื่องนี้มาสนับสนุนและหวังให้เป็นโปรเจ็กต์ใหญ่ในการปรับเปลี่ยนระบบสุขภาพเพื่อคนไทยทุกคน เริ่มตั้งแต่ ศ.นพ.รัชตะ แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการ และคณะทำงานพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว และทีมหมอครอบครัว เพื่อเดินหน้าเรื่องดังกล่าว โดยมีที่ปรึกษา คือ นพ.อมร นนทสุต อดีตปลัด สธ.ผู้ริเริ่มงานสาธารณสุขมูลฐานของไทย หลังจากนั้น มีการประชุมคณะทำงานมาตลอด เพื่อจัดทำแผนระยะสั้น และระยะยาว หวังว่าจะก้าวเข้าสู่ทศวรรษพัฒนาปฐมภูมิ

สำหรับโครงสร้างทีมหมอครอบครัวจะเป็นทีมใหญ่ มีบุคลากรวิชาชีพทำงานร่วมกันทั้งระดับโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) รพ.สต. และภาคประชาชนในระดับหมู่บ้าน ซึ่งแบ่งออกเป็น ทีมอำเภอ มีสหสาขาวิชาชีพจากโรงพยาบาลชุมชน เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล นักจิตวิทยา นักกายภาพบำบัด นักโภชนาการ และทีมจากสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โดยทีมนี้จะมีแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนเป็นหัวหน้าทีม ดูแลทีมระดับตำบล 1-3 แห่ง ซึ่งทีมหมอครอบครัวระดับตำบล ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจาก รพ.สต. เช่น พยาบาลเวชปฏิบัติ เจ้าพนักงานสาธารณสุขด้านต่างๆ

ทั้งนี้ ทีมระดับตำบล ถือเป็นเจ้าของพื้นที่หลัก รับผิดชอบดูแลสุขภาพของผู้ป่วยและครอบครัว ในสัดส่วนเจ้าพนักงานสาธารณสุขในทีม 1 คน จะดูแลประชาชน 1,250 คน นอกจากนี้ ยังมีทีมชุมชน ซึ่งเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แกนนำ จิตอาสาต่างๆ จะช่วยสนับสนุนทีมหมอครอบครัวระดับตำบล

การทำงานของแต่ละทีมจะทำงานประสานกัน โดยทีมหมอครอบครัวระดับอำเภอ จะเป็นเหมือนหัวหน้าทีม คอยให้คำปรึกษา แนะนำต่างๆ เหมือนเป็นพี่เลี้ยง สนับสนุน บริหารจัดการให้แก่ทีมระดับตำบล ส่วนทีมระดับตำบลจะทำหน้าที่ประสานข้อมูล การส่งต่อผู้ป่วยไปยังทีมสหวิชาชีพของโรงพยาบาลชุมชนนั่นเอง โดยการทำงานทั้งหมดจะมีการวัดประเมิน และจะมีค่าตอบแทนเฉพาะ โดยวัดจากผลลัพธ์ของประชาชนเป็นหลัก

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้ข้อมูลว่า สปสช.มีส่วนในการขับเคลื่อนทีมหมอครอบครัว ผ่านการสนับสนุนงบบริการปฐมภูมิ ซึ่งเดิมทีงบก้อนนี้มีอยู่แล้วในการพัฒนางานด้านปฐมภูมิ สนับสนุนการทำงานของ รพ.สต.ในการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค แต่เมื่อมีการเดินหน้าโครงการทีมหมอครอบครัวขึ้น จึงมีการแปลงงบก้อนนี้มาเพื่อสนับสนุนอย่างตรงจุด

อย่างไรก็ตาม ขณะเดียวกัน สปสช.ได้เตรียมจัดตั้งกองทุนผู้สูงอายุขึ้น ซึ่งกองทุนดังกล่าวจะเป็นหนึ่งในนโยบายทีมหมอครอบครัว โดยจะทำงานคู่ขนานกันไป ซึ่งกองทุนดังกล่าวจะให้การดูแลผู้สูงวัยทุกคนในประเทศไทย ปัจจุบันมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปประมาณ 9 ล้านคน เบื้องต้นจะเน้นดูแลผู้สูงอายุที่ติดบ้านติดเตียง มีภาวะเคลื่อนไหวยาก โดยจะจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุขึ้น เพื่อจะออกเยี่ยมบ้านของผู้สูงอายุแต่ละคน เจ้าหน้าที่กลุ่มนี้เรียกว่า Care giver เบื้องต้นงบประมาณจากการคำนวณผู้สูงอายุแต่ละคนอยู่ที่ประมาณ 20,000 บาทต่อปี ซึ่งภาพรวมทั้งประเทศน่าจะอยู่ที่ 4,000 ล้านบาท แต่จะเป็นงบในส่วนของ สปสช. และของเทศบาลต่างๆ เพื่อมาร่วมกันดูแล

"สิ่งสำคัญของการเดินหน้าเรื่องนี้ต้องทำเป็นระบบ โดยรัฐบาลต้องเดินหน้าเรื่องนี้เต็มที่ มีการจัดสรรงบเพิ่มเติมสำหรับการดูแล ไม่เพียงแต่คนกลุ่มนี้ แต่ในเรื่องทีมหมอครอบครัว จะต้องมีงบสำหรับการจ้างงานด้วย และค่าตอบแทนต่างๆ เพราะขณะนี้ในช่วงเริ่มต้นค่าตอบแทนสำหรับทีมหมอครอบครัว จะเป็นการจัดสรรเพิ่มเติมให้กับโรงพยาบาลที่มีการพัฒนาทีมหมอครอบครัวอย่างดีเยี่ยม ส่วนจะมีการจ่ายเป็นรายบุคคลหรือรายทีมอย่างไร เป็นเรื่องอนาคต อย่างไรก็ตาม ขณะเดียวกันการเดินหน้าเรื่องนี้ จำเป็นอย่างยิ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เนื่องจากเป็นผู้ดูแลสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) รพช. และ รพ.สต. ซึ่งเป็นหัวหอกหลักในการทำงานเรื่องนี้ หากทุกอย่างร่วมมือกัน การเดินหน้าทีมหมอครอบครัว เพื่อคนไทยคงเป็นรูปธรรมได้ไม่ยาก" นพ.ประทีปกล่าว

ปัญหาคือ ระหว่าง สธ. และ สปสช.จะร่วมมือกันอย่างไร เพื่อประโยชน์ของคนไทย!

--มติชน ฉบับวันที่ 10 ม.ค. 2558 (กรอบบ่าย)--