ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.มติชน : คตร.รับร้องเรียน สปสช.บริหาร 'งบเหมาจ่ายรายหัว' ขาดธรรมาภิบาล ส่งหนังสือถึง 'รมว.สธ.' ให้ข้อมูลภายใน 30 วัน แต่ไร้วี่แวว ต้องเรียกหมอณรงค์ชี้แจงแทน

กรณีโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) ระบุว่า การจัดสรรงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง) ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำให้โรงพยาบาลกว่า 100 แห่งขาดทุน ประกอบกับที่ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตั้งข้อสังเกตการจัดสรรงบของ สปสช.ว่าอาจเข้าข่ายขัด พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 นั้น

เมื่อวันที่ 19 มกราคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ลงนาม โดยนายเทียนชัย รับพร เลขานุการ คตร. ได้ทำหนังสือถึงปลัด สธ.ลงวันที่ 9 มกราคม 2558 เรื่องขอทราบความก้าวหน้าการพิจารณาการปรับปรุงการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อ้างอิงถึงหนังสือ คตร.ลงนามโดย นายอนันตพร กาญจนรัตน์ ประธานคณะกรรมการฯ ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการ สธ. เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2557 ให้ชี้แจงการใช้งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพฯต่อ คตร. หลังจากมีผู้ร้องเรียนการบริหารจัดการงบของ สปสช.ขาดธรรมาภิบาลและมีการดำเนินการไม่โปร่งใส ประกอบกับเมื่อพิจารณารายงานผลการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พบว่าสอดคล้องกันหลายประเด็น เช่น การนำงบตามแผนงาน/โครงการที่ไม่สามารถดำเนินการแล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ แต่นำไปใช้ในแผนงานใหม่หรือโอนเปลี่ยนแปลงโดยมิชอบ เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หนังสือดังกล่าวระบุให้รัฐมนตรีว่าการ สธ.ทำรายงานเสนอ คตร.ภายใน 30 วัน แต่ปรากฏว่าไม่มีการส่งเรื่องชี้แจงกลับ คตร.จึงได้ทำหนังสือส่งถึงปลัด สธ.ให้ชี้แจงกรณีดังกล่าวอีกครั้ง และได้เชิญปลัด สธ.เข้าร่วมประชุม คตร. เพื่อชี้แจงรายละเอียดเมื่อวันที่ 13 มกราคม

ทั้งนี้ หนังสือที่ออกโดยสำนักงานปลัด สธ.รายงาน คตร.มีใจความว่า สตง.ได้ตรวจสอบการดำเนินการของ สปสช. พบว่ามีการนำเงินกองทุนไปใช้ในกิจกรรมต่างๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการบริการประชาชน โดยเฉพาะการโอนเงินโดยไม่มีหลักเกณฑ์คือ สปสช.โอนเงินหมวดบริการกรณีเฉพาะล่วงหน้าในช่วงปลายปีงบประมาณ 2555 (วันที่ 27 กันยายน 2555) ให้หน่วยบริการหลายแห่ง ทำให้ดูเหมือนบริหารจัดการงบได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ได้เรียกเงินคืนจากหน่วยบริการดังกล่าวในต้นปีงบ 2556 ซึ่งการโอนเงินไปมาถือว่าไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยวิธีงบประมาณ รวมทั้งกรณีโอนงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคปีงบประมาณ 2556 ให้หน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่โรงพยาบาล จึงเสนอให้ตั้งคณะกรรมการกลางจากรัฐบาลมาปฏิรูปการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ดังนี้ ทบทวนบทบาท หน้าที่ โครงสร้างของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพฯ นำข้อทักท้วงของ สตง.ที่ตรวจสอบการดำเนินงานของ สปสช.ปี 2554 มาแก้ไขอย่างจริงจัง และตรวจสอบการใช้งบในหมวดอื่นๆ หรือกรณีอื่นๆ ว่ามีการปฏิบัติตามข้อทักท้วงของ สตง.หรือไม่

ด้าน ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการ สธ. กล่าวสั้นๆ ว่ายังไม่เห็นเรื่องดังกล่าว

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 20 มกราคม 2558