ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปฏิรูประบบบริการเขตสุขภาพควบคู่ระบบการผลิตแพทย์ในโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท แก้ไขปัญหาขาดแคลนแพทย์ โดยใช้โรงพยาบาลชุมชนที่มีศักยภาพ ร่วมเป็นฐานการเรียนในชั้นคลินิกครั้งแรกในประเทศ เริ่มแห่งแรกที่ รพ.ห้วยยอด จ.ตรัง คาดว่าจะเริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา2559เป็นต้นไปจะสร้างแพทย์พันธุ์ใหม่ รู้ทั้งการรักษาคนป่วยและการสร้างสุขภาพชุมชน ลดป่วย

วันนี้ (9 กุมภาพันธ์ 2558) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา นายกสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ นพ.วิฑูรย์ เหลืองดิลก นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตรัง ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการพัฒนาการศึกษาแพทย์แนวปฏิรูป ระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จ.สงขลา เพื่อขับเคลื่อนระบบการศึกษาแพทย์ที่สอดคล้องกับการปฏิรูประบบบริการสุขภาพประชาชน

นพ.ณรงค์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้ร่วมมือกันปฏิรูประบบบริการสุขภาพควบคู่ไปกับระบบการจัดการเรียนการสอนในการผลิตแพทย์ ในโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบทของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งดำเนินการมากว่า 20 ปี ซึ่งครั้งนี้นับเป็นการสร้างบัณฑิตแพทย์แนวใหม่ของไทยในศตวรรษที่ 21 ซึ่งปัญหาสุขภาพมีความซับซ้อน โดยพัฒนาศักยภาพของโรงพยาบาลชุมชนให้เป็นฐานร่วมผลิตแพทย์ในโครงการดังกล่าว เริ่มครั้งแรกในประเทศ ทั้งนี้การผลิตแพทย์ในโครงการฯ ที่ผ่านมา ใช้ฐานการผลิตที่โรงพยาบาลศูนย์ 37 แห่ง ผลของความร่วมมือครั้งนี้ นอกจากจะเป็นผลดีช่วยให้งบประมาณของแต่ละหน่วยงานถูกนำมาใช้ร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพแก่ผู้รับบริการและหน่วยงานในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแล้ว จะทำให้นักศึกษาแพทย์  มีความรู้และทักษะการปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชน ทำหน้าที่ทั้งผู้ให้การรักษาผู้เจ็บป่วยและการเข้าถึงชุมชนเพื่อสร้างสุขภาพประชาชน ให้เหมาะวิถีชีวิตชาวบ้าน เพื่อลดปัญหาการเจ็บป่วย เป็นหมอของชุมชนที่ทำงานเชื่อมโยงระหว่างระบบบริการขั้นพื้นฐานกับระบบบริการตติยภูมิ สถาบันเชี่ยวชาญเฉพาะทาง คาดว่าจะเริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2559 เป็นต้นไป 

นพ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า ในความร่วมมือครั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง โรงพยาบาลตรัง โรงพยาบาลชุมชนในจังหวัดตรัง โดยจะปรับระบบบริการของโรงพยาบาลชุมชนที่มีความพร้อมโดยดำเนินการในโรงพยาบาลขนาด 90 เตียงขึ้นไป  ซึ่งมีแพทย์เฉพาะทางสาขาสูติกรรม ศัลยกรรม อายุรกรรม กุมารเวชกรรม และอื่นๆ เริ่มแห่งแรกที่โรงพยาบาลห้วยยอด อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 90 เตียง เพื่อใช้จัดการเรียนการสอนภาคคลินิกชั้นปีที่ 4-6 ซึ่งเป็นภาคปฏิบัติจริงกับผู้ป่วย โดยในชั้นปีที่ 4-6 ปฏิบัติงานทั้งในโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลศูนย์ ในส่วนของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จะดูแลในด้านหลักสูตรการเรียนการสอนและมาตรฐานวิชาชีพ ในการผลิตแพทย์แนวใหม่ร่วมกัน ทั้งนี้จะร่วมกันจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อกำหนดแนวทางรายละเอียดการดำเนินงานต่อไป

กระทรวงสาธารณสุขได้จัดโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท แก้ไขปัญหาความขาดแคลนแพทย์และกระจายแพทย์ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ 14 แห่ง ตั้งแต่พ.ศ.2537 เป็นต้นมา นับว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขมีศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกร่วมผลิตแพทย์กับคณะแพทยศาสตร์ต่างๆในระดับคลินิกชั้นปี 4-6 รวม 37 แห่ง ทั้งหมดเป็นโรงพยาบาลศูนย์ ในปี 2558 นี้ มีโควตาผลิต 1,116 คน โดยเรียนที่มหาวิทยาลัยสงขลาฯ 70 คน เป็นทุนจากจังหวัดสงขลา 40 ทุนและยะลา 30 ทุน