ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมือง และ 37 องค์กรสาธารณสุข ออกแถลงการณ์ฉบับ 2 จี้ นพ.สมศักดิ์ เสนอเพิ่มกลุ่มคนไร้สถานะให้ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลตามมติ ครม. 23 มี.ค.53 ทันที ไม่ต้องรอเสนอพร้อมกับแผนยุทธศาสตร์ ชี้ยิ่งรอนาน ยิ่งสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน แจงมีผู้ป่วยที่ยังรอสิทธิการรักษา ทั้งคนไร้สถานะที่ป่วยเป็นโรคไต ยันเห็นด้วยกับแผนยุทธศาสตร์ภาพรวม แต่ขอให้มีส่วนร่วมจากประชาชนด้วย และเสนอให้ครม.พิจารณาทีหลังได้

22 ก.พ.58 เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ในนาม 37 องค์กรสาธารณสุขออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 เรียกร้องให้ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สธ. และ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รมช.สธ. นำข้อเสนอเพิ่มกลุ่มคนไร้สถานะ 208,631 คน ให้ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ทันที โดยไม่ต้องรอนำเสนอพร้อมแผนยุทธศาสตร์การจัดการสิทธิในบริการสาธารณสุขของบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กำลังดำเนินการอยู่ โดยระบุว่า จะทำให้ล่าช้า และทำให้ประชาชนไร้สถานะได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานได้

นายวิวัฒน์ ตามี่ เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย และตัวแทน 37 องค์กรสาธารณสุข กล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่ต้องออกแถลงการณ์ย้ำข้อเรียกร้องอีกครั้งนั้น เนื่องจากกังวลว่า นพ.สมศักดิ์ จะละเลยข้อเสนอของภาคประชาชน ซึ่ง 37 องค์กรสาธารณสุข มีข้อเรียกร้องว่า ขอให้ที่ประชุม 23 ก.พ.นี้ ปลดปล่อยคนไร้สถานะ 208,631 คน ที่ขณะนี้มีสภาพเหมือนตัวประกันให้เป็นอิสระ อย่ามัวแต่เล่นเกมเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของใครบางกลุ่มอยู่เลย นี่คือชีวิตมนุษย์จริงๆ หากยื้อเวลานานวันออกไปผู้ป่วยไตไร้สิทธิรักษาที่รอฟอกไตเสียชีวิต ใครจะรับผิดชอบ การปลดปล่อยให้เป็นอิสระเท่ากับการสร้างมหากุศล การชะลอการยื่นให้ครม.พิจารณา โดยอ้างว่าจะเสนอพร้อมแผนยุทธศาสตร์นั้น 37 องค์กรสาธารณสุขไม่เห็นด้วย เท่ากับเป็นการซื้อเวลาเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของใครเพียงไม่กี่คน 

“เพียงแค่แยกนำเสนอระหว่างข้อเสนอกองทุนคืนสิทธิของภาคประชาชนกับยุทธศาสตร์ฯของ นพ.สมศักดิ์นั้น ผมยังไม่เข้าใจว่าจะมีความเสียหายตรงไหน สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้เหมือนไม่จริงใจในการแก้ไขปัญหาของคนชายขอบ ไม่ให้น้ำหนักกับข้อมูลของภาคประชาชน การประชุมวันที่ 23 ก.พ.นี้อยากให้ได้ข้อสรุปแล้วเดินหน้าเลย มีการพูดคุยหลายครั้ง แต่ทุกครั้ง รมช.สธ.ไม่เคยรับฟังข้อเสนอของเครือข่ายชนเผ่าฯ และ 37 องค์กรฯ เลย ยังคงดึงดันที่จะทำตามที่ต้องการ แต่ไม่คำนึงถึงชีวิตคนป่วยที่ไม่มีสิทธิรักษาที่ต้องรอคอยการรักษาอยู่ ดังนั้นขอเรียกร้องให้ นพ.สมศักดิ์ ใส่ใจประเด็นนี้ และดำเนินการเสนอให้ครม.พิจารณาให้คนเหล่านี้ได้สิทธิรักษาพยาบาลได้แล้ว” นายวิวัฒน์ กล่าว

แถลงการณ์ฉบับที่ 2 เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ในนาม 37 องค์การด้านสาธารณสุข

"เรียกร้อง รมช.สธ. เสนอเพิ่มกลุ่มคนไร้สถานะกว่า 2 แสนคนให้ได้สิทธิรักษาพยาบาลทันที ไม่ต้องรอเสนอพร้อมแผนยุทธศาสตร์ฯ"

22 กุมภาพันธ์ 2558

การพัฒนาระบบการเข้าถึงบริการสุขภาพและพัฒนาหน่วยบริการสุขภาพสำหรับประชากรที่มีความต้องการบริการรูปแบบพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าถึงบริการสำหรับ ประชากรที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชนเผ่านั้น เป็นหนึ่งในนโยบาย 10 ข้อ ที่ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สธ. และ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รมช.สธ. ประกาศเมื่อครั้งรับตำแหน่งเมื่อวันที่ 13 ก.ย.57 และที่ผ่านมาก็เริ่มเห็นแนวทางการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมบ้าง แต่ยังมีปัญหาบางประการ ที่ 37 องค์กรสาธารณสุข เห็นว่าหาก นพ.สมศักดิ์ รมช.สธ.ซึ่งรับหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายข้อนี้ยังคงดึงดันในแนวทางเดิม จะสร้างความเสียหายให้กับประชาชนที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ์

ขณะเดียวกัน ในวันจันทร์ที่ 23 ก.พ.นี้ นพ.สมศักดิ์ ได้จัดให้มีการประชุมเพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการจัดการสิทธิในบริการสาธารณสุขให้แก่คนที่มีปัญหาการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย และระบุว่า จะมีการพิจารณาจำนวนคนไร้สถานะให้ถูกต้อง อย่างไรก็ตามยังมีประเด็นสำคัญ ที่เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย และ37 องค์กรสาธารณสุขมีความกังวล และขอเรียกร้องดังนี้

1.ขอให้ปลดปล่อยคนไร้สถานะ 208,631 คนให้เป็นอิสระโดยทันที เร่งนำเสนอข้อเสนอภาคประชาชนให้ ครม.พิจารณาอนุมัติเพิ่มกลุ่มบุคคลเข้าสู่กองทุนให้สิทธิ(คืนสิทธิ)ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขสำหรับบุคคลผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ ตามมติครม. 23 มี.ค.53 ทันที ไม่ต้องรอนำเสนอเข้าพร้อมกับแผนยุทธศาสตร์การจัดการสิทธิในบริการสาธารณสุขของบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิในภาพรวม เพราะกลุ่มคนไร้สถานะกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ตกหล่น ยิ่งรอนานยิ่งมีผลกระทบกับประชาชน ละเมิดสิทธิมนุษยชนประชาชนมากขึ้นไปอีก และสร้างภาระให้กับโรงพยาบาลมากยิ่งขึ้น

2.เห็นด้วยที่ รมช.สธ.จะมีการจัดทำเป็นแผนยุทธศาสตร์การจัดการสิทธิในบริการสาธารณสุขของบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิในภาพรวม แต่ขอให้กระบวนการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ฯ ของ รมช.สธ.เปิดกว้างให้ผู้มีส่วนร่วมได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์อย่างรอบคอบ ตอบสนองสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงด้วย

ที่ผ่านมา 37 องค์กรฯ เคยเข้าพบเพื่อพูดคุยและหารือกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องมา 5 ครั้งแล้ว แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ และยังไม่ตอบสนองข้อเรียกร้องของภาคประชาชนที่ต้องการให้เสนอครม.พิจารณาเพิ่มคนไร้สถานะให้ได้รับสิทธิรักษาฯ โดยไม่ต้องรอเสนอพร้อมแผนยุทธศาสตร์ฯ ดังนั้น การประชุมวันที่ 23 ก.พ. เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองฯ ไม่ขอเข้าร่วมประชุมอีก แต่ขอยืนยันในข้อเรียกร้องเดิม 2 ข้อข้างต้นนี้

แม้ 2 รัฐมนตรีจะประกาศเป็นนโยบายตั้งแต่เมื่อครั้งรับตำแหน่ง 13 ก.ย.57 แต่เวลาล่วงเลยจนบัดนี้เวลาเกือบ 6 เดือนแล้ว ยังไร้ความคืบหน้า หากจะรอนำเสนอเพิ่มกลุ่มคนไร้สถานะให้ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลเป็นส่วนหนึ่งกับแผนยุทธศาสตร์ ก็ยิ่งจะมีความล่าช้าเข้าไปอีก

ปลดปล่อยเราเท่ากับปลดปล่อยตัวท่านเอง

เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ในนาม 37 องค์การด้านสาธารณสุข

หมายเหตุ 37 องค์กรด้านสาธารณสุข ประกอบด้วยองค์กรต่างๆ ดังนี้

1.       เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย(คชท.)

2.       มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) Hill Area Development Foundation (HADF)

3.       มูลนิธิภิวัฒน์สาธารณสุขไทย(ภวส.)

4.       ศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง(ศปส.)(องค์กรสาธารณะประโยชน์) 

5.       กลุ่มศิลปวัฒนธรรมกระจกเงา (The Mirror Art Group)

6.       เครือข่ายพิทักษ์สิทธิมนุษยชนชาติพันธุ์

7.       เครือข่ายสุขภาพชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง(คสช.)

8.       สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ(สกน.)

9.       ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพสำหรับผู้มีปัญหาสถานะบุคคลและสิทธิ อำเภอแม่สะเรียง

10.    ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพเครือข่ายชาติพันธุ์ อำเภอเวียงแก่น

11.    ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพเครือข่ายชาติพันธุ์ อำเภอสบเมย

12.    ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพเครือข่ายชาติพันธุ์ อำเภอเชียงดาว

13.    ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพสำหรับผู้มีปัญหาสถานะบุคคลและสิทธิ เชียงราย

14.    ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพสำหรับผู้มีปัญหาสถานะบุคคลและสิทธิ เชียงใหม่

15.    เครือข่ายศูนย์เรียนรู้ฟื้นฟูนิเวศวัฒนธรรมม้ง

16.    เครือข่ายชาติพันธุ์ไตลื้อ จังหวัดเชียงราย

17.    เครือข่ายชาติพันธุ์ลั้วะ จังหวัดเชียงราย

18.    เครือข่ายชาติพันธุ์กระเหรี่ยง(โพล่ง)

19.    เครือข่ายชาติพันธุ์ลีซูแห่งประเทศไทย

20.    คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคเหนือ(กป.อพช.ภาคเหนือ)

21.    โครงการพัฒนาพื้นที่สูง(UHDP)

22.    โครงการเคียงริมโขง Khiang Rim Kong Project

23.    มูลนิธิชุมชนไทย

24.    พันธกิจเอดส์ชาติพันธุ์

25.    บ้านเอื้ออารีเชียงใหม่

26.    คริสจักรเขตเชียงดาว

27.    คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการพัฒนาสังคมแผนกกลุ่มชาติพันธุ์ สังฆมณฑลเชียงใหม่

28.    แผนกกลุ่มชาติพันธุ์ สังฆมณฑลนครสวรรค์

29.    มูลนิธิบ้านจริงใจ

30.    เครือข่ายสุขภาพชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง(คชส.)

31.    คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (NGO-CORD North)

32.    องค์การพัฒนาอาชีพนานาเผ่าลุ่มน้ำฝาง

33.    เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม (KNCE)

34.    สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (IMPECT)

35.    สมาคมปากะเกอญอ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 

36.    มูลนิธิเพื่อเยาวชนชนบท

37.    มูลนิธิศุภนิมิตรแห่งประเทศไทย