ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.เขต 4 สระบุรีร่วมมือกับ วิทยาลัยพยาบาลสระบุรี พัฒนาระบบการบริหารจัดการข้อมูลตามเกณฑ์คุณภาพบริการปฐมภูมิ (Quality and Outcome Framework : QOF) หนุนบริการใกล้บ้านใกล้ใจ เติมเต็มด้วยงบ QOF กระตุ้นบริการอนามัยแม่และเด็ก การจัดการโรคเรื้อรังระดับอำเภอ ประชาชนดูแลสุขภาพตนเองได้อย่างยั่งยืน

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 4 สระบุรี ร่วมกับสถาบันวิชาการ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี (วพบ.) สระบุรี จัดทำโครงการความร่วมมือทางวิชาการในการประเมินผลลัพธ์การดำเนินงานตามเกณฑ์คุณภาพบริการปฐมภูมิ (QOF) ปี 2557 ต่อเนื่องปี 2558 เป็นความร่วมมือระหว่าง วพบ.สระบุรีได้ลงนามในข้อตกลงกับ สปสช.เขต 4 สระบุรี โดยมี นางสาวเยาวลักษณ์ มหาสิทธิวัฒน์ ผู้อำนวยการ และ ดร.วารุณี มีเจริญ อาจารย์ ที่รับผิดชอบโครงการ เพื่อพัฒนาระบบการบริหารจัดการข้อมูล QOF ให้มีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่เขตสุขภาพที่ 4

นางพนิต มโนการ รอง ผอ.สปสช.เขต 4 สระบุรี กล่าวถึงความร่วมมือระหว่าง สปสช.เขต 4 สระบุรีกับ วพบ.สระบุรี ว่า เพื่อประเมินผลลัพธ์การดำเนินงานตามเกณฑ์คุณภาพบริการปฐมภูมิ (QOF) ในการดำเนินการจัดการข้อมูลสุขภาพ ภายใต้ตัวชี้วัด 4 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านคุณภาพและผลงานการจัดบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 2 ด้านคุณภาพและผลงานการจัดบริการปฐมภูมิ 3.ด้านคุณภาพและผลงานด้านการพัฒนาองค์กรการเชื่อมโยงบริการ ระบบส่งต่อและการบริหารระบบ และ 4.ด้านคุณภาพและผลงานของบริการที่จำเป็นตอบสนองปัญหาสุขภาพของประชาชน ตลอดจนบริการเสริมในพื้นที่  โดยในความร่วมมือครั้งนี้หวังกระตุ้นให้ CUP และเครือข่ายหน่วยบริการมีการใช้ข้อมูลสุขภาพ (MIS) เพื่อการพัฒนาคุณภาพและบริการอย่างต่อเนื่อง  มีการพัฒนากลไกการจัดสรรงบเพื่อจัดหาบริการสุขภาพที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน  มีการใช้ประโยชน์จากระบบข้อมูลสุขภาพอย่างมีคุณภาพ รวมถึงการมีระบบและกลไกการติดตาม เยี่ยมสำรวจตรวจเพื่อการพัฒนาคุณภาพบริการปฐมภูมิระดับเขต 

รอง ผอ.สปสช.เขต 4 สระบุรี กล่าวต่อว่า เมื่อพื้นที่มีการจัดสรรงบประมาณ QOF ที่สนับสนุนข้อมูลสุขภาพอย่างเป็นระบบ ก็จะทำให้เกิดการใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้การบริการด้านสาธารณสุขของหน่วยบริการปฐมภูมิมีคุณภาพมากขึ้น  ประชาชนได้รับบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคได้อย่างทั่วถึงครอบคลุม โดยเฉพาะด้านอนามัยแม่และเด็ก การจัดบริการโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดัน การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก

ดร.วารุณี  มีเจริญ อาจารย์ วพบ.สระบุรี กล่าวว่า ผลการวิเคราะห์แบบสอบถาม พบว่า งบ OQF มีผลทำให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพ ช่วยชี้นำทิศทางการพัฒนาบริการระดับปฐมภูมิได้อย่างต่อเนื่อง ช่วยสร้างแรงจูงใจให้หน่วยบริการปฐมภูมิจัดบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพ ปัญหาต่างๆตามบริบทของพื้นที่ได้รับการแก้ไขหรือปรับปรุงให้ดีขึ้น มีการใช้ประโยชน์และต่อยอดฐานข้อมูลที่มีอยู่อย่างชัดเจน เกิดการกระจายอำนาจในการพัฒนาตัวชี้วัดที่สอดคล้องกับปัญหาและบริบทของพื้นที่ มีข้อมูลกลับคืนเพื่อการพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพและผลงานการจัดบริการปฐมภูมิ สนับสนุนให้เกิดกลไกการจัดการเพื่อพัฒนาความเข้มแข็งของระบบบริการปฐมภูมิ ประชาชนและชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้และไม่ทอดทิ้งกัน หน่วยบริการได้รับความไว้วางใจจากประชาชน เกิดความร่วมมือของภาคีเครือข่ายในการดูแลสุขภาพประชาชน เกิดการมีส่วนร่วมโดยประชาชนร่วมรับผิดชอบในการดูแลสุขภาพ  ส่งเสริมให้ประชาชนมีความเข้มแข็งในการดูแลสุขภาพชุมชน มีการใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างคุ้มค่า ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาตามบริบทของพื้นที่ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ร่วมรับผิดชอบในการดูแลสุขภาพชุมชนและประชาชน