ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วงการหมอระอุอีกครั้ง เลขาธิการป.ป.ท.เผย ได้รับหนังสือร้องเรียนกล่าวหา บอร์ดสปสช.บริหารกองทุน 30 บาทรักษาทุกโรคใน 5 ประเด็น ผลประโยชน์ทับซ้อนผูกขาดจัดซื้อยา และการบริหารกองทุนทำ รพ.ขาดสภาพคล่อง แจงจะเร่งตรวจสอบโดยเร็ว หากพบหลักฐานส่อทุจริตจะเร่งรายงานให้ รมว.ยุติธรรมรับทราบต่อไป

8 มี.ค.58 เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์รายงานว่า นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เปิดเผยว่า ป.ป.ท.ได้รับหนังสือร้องเรียนกล่าวหาการดำเนินการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช. ) กองทุน 30 บาทรักษาทุกโรค ในประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อนผูกขาดจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ และนำงบประมาณไปปรับเพิ่มเงินเดือนจนส่งผลกระทบต่อการบริหารงานโรงพยาบาลของรัฐ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 800 แห่ง ขาดสภาพคล่องทางด้านการเงินถึง 300-500 แห่ง และอาจอยู่ในภาวะวิกฤต ที่ไม่สามารถได้รับเงินสนับสนุนจำนวนประมาณ 105 แห่ง ซึ่ง ป.ป.ท.จะเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง หากพบหลักฐานส่อถึงการทุจริตจะเร่งรายงานให้ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รับทราบเพื่อดำเนินการไม่ให้ความเสียหายขยายวงกว้างเพิ่มขึ้น

สำหรับหนังสือร้องเรียนให้ตรวจสอบสปสช.แยกเป็นประเด็น ดังนี้

1.คณะกรรมการ สปสช. บางคนมีผลประโยชน์ทับซ้อนโดยจัดตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาจัดสรรเงินกองทุนเพื่อใช้ในด้านต่างๆ และมีกรรมการ สปสช. เป็นประธานอนุกรรมการหรืออนุกรรมการใช้กระบวนการออกระเบียบที่เกี่ยวกับการใช้จ่ายเงิน เพื่อให้สามารถนำเงินกองทุน 30 บาท รักษาทุกโรค ไปใช้โดยไม่เป็นไปตามกฎหมาย เช่นในกรณีให้มูลนิธิ ชมรม หรือบุคคล ซึ่งคณะกรรมการสปสช. บางคนหรืออนุกรรมการบางคนใน สปสช. เป็นประธานมูลนิธิ หรือคณะกรรมการมูลนิธิ มูลนิธิ ชมรม ทั้งที่ไม่ใช่หน่วยบริการที่สามารถรับเงินจาก สปสช.ได้

2. คณะกรรมการ สปสช. ได้นำเงินไปใช้ในโครงการต่าง ๆ ในโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งไม่ใช่หน่วยบริการตามกฎหมาย สปสช. ที่สามารถรับเงินจากกองทุนได้ อันเป็นการบริหารงานที่เป็นลักษณะเอื้อประโยชน์ต่อโรงพยาบาลเอกชนโดยไม่สนับสนุนหน่วยบริการของรัฐที่มีหน้าที่โดยตรง หรือหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่รักษาพยาบาลโดยตรง อีกทั้ง ไม่มีหลักเกณฑ์ในการรับรองประสิทธิภาพการรักษาผู้ป่วยจากโรคเฉพาะทางตามโครงการ แต่เป็นการนำเงินกองทุนไปทำให้เอกชนได้ประโยชน์และเกิดรายได้จากโครงการที่สนับสนุนโดยไม่ชอบ ซึ่งมีการเสนอขอแก้มติและระเบียบต่าง ๆ เพื่อให้สามารถใช้จ่ายเงินได้

3.คณะกรรมการ สปสช. ทำหน้าที่ในการดูแลประสานภาพรวมของเงินกองทุน 30 บาททั่วประเทศ โดยได้มีการจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือทางแพทย์ ในลักษณะผูกขาด วงเงินปีละกว่า 6,000 ล้านบาท ซึ่งหน่วยบริการหรือโรงพยาบาลของรัฐที่เป็นหน่วยที่ใช้ยาจริงไม่ได้กำหนด ทั้งยังปรากฏ มีเงินตอบแทนหรือค่าคอมมิชชั่นประมาณ 10% จากวงเงินดังกล่าว ประมาณ 600 ล้านบาท คืนกลับไปยังสวัสดิการของ สปสช. แทนที่ สปสช.จะคืนเงินกลับเข้ากองทุน 30 บาท หรือโรงพยาบาลที่ใช้ยาจริง แต่กลับนำเงินตอบแทนไปใช้ประโยชน์เพื่อพวกพ้อง เช่น การนำบุคคลที่ไม่ใช่แพทย์ หรือไม่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลร่วมคณะเดินทางไปดูงานต่างประเทศ

4.มีลักษณะการกระทำเป็นการตกแต่งบัญชีเพื่อให้เข้าใจว่า สปสช. สามารถบริหารเงินกองทุนที่ได้รับการจัดสรรอย่างมีประสิทธิภาพ (ใช้งบประมาณหมด) โดยวิธีการโอนงบประมาณไปให้โรงพยาบาลต่างๆ จำนวน 250 โรงพยาบาล กว่า 2,000 ล้านบาท เมื่อมีการพิจารณาโบนัสให้กับพนักงาน และได้รับงบประมาณก้อนใหม่ สปสช.จะเรียกเงินคืนจากโรงพยาบาลโดยอาจเป็นการโอนผิด ซึ่งอาจมีลักษณะเกี่ยวโยงถึงการประเมินผลงานและโบนัสประจำปีของสำนักงาน

5.เป็นการร้องเรียนให้ตรวจสอบ การปรับอัตราเงินเดือนค่าตอบแทนของคณะกรรมการหรือเลขาธิการ สปสช. ไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี กล่าวคือ ใช้ในอัตราสูงสุดที่คณะรัฐมนตรีกำหนดโดยไม่ได้เป็นการเพิ่มขึ้นเป็นลำดับขั้น หรือแม้แต่ค่าตอบแทนเบี้ยประชุมของคณะอนุกรรมการมีอัตราเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดเช่นกัน

ทั้งนี้ ข้อร้องเรียนดังกล่าวข้างต้นนี้ เคยเป็นประเด็นที่ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพ(บอร์ดสปสช.) เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.57 และระบุถึงประเด็นดังกล่าวอีกครั้งในวันที่ 9 ธ.ค.57 ในการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนงบลงทุน ภายใต้แผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพปี พ.ศ.2559-2560 ของกระทรวงสาธารณสุข (ดูข่าว ที่นี่) ต่อมา นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช.ได้แถลงข่าวพร้อมผู้บริหารระดับสูง ชี้แจงประเด็นดังกล่าว เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.57 (ดูข่าว ที่นี่)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สปสช.แจง ป.ป.ท. ยันทำทุกอย่างภายใต้กฏหมาย มุ่งประโยชน์ผู้ป่วยเข้าถึงบริการ