ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.มติชน : รมว.สธ.ขอดูหนังสือ ป.ป.ท.ขอตรวจสอบการบริหารงานของบอร์ด สปสช. พร้อมชี้แจงทุกข้อสงสัยทั้งหมด เลขาฯสปสช.แจง 5 ข้อกล่าวหา  แพทยสภาชี้ถึงเวลาปฏิรูป สปสช. ด้านรายงานข่าวระบุ ป.ป.ท.สอบ สปสช.เหตุจากความขัดแย้งระหว่าง รมว.สธ.ในฐานะประธานบอร์ดสปสช. และ ปลัด สธ. ขณะนี้อยู่ระหว่างทาบทามกรรมการสอบการทำงานปลัดสธ. แต่มีคำสั่งตั้งกก.สอบสปสช.ออกมาก่อน

นสพ.มติชน : เมื่อวันที่ 9 มีนาคม นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เปิดเผยว่า ยังไม่ได้รับหนังสืออย่างเป็นทางการ กรณีเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) รับลูก พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้ตรวจสอบการบริหารงานของบอร์ด สปสช. เนื่องจากถูกร้องเรียนใน 5 ประเด็น ทั้งกรรมการมีผลประโยชน์ทับซ้อน นำเงินไปใช้ในโรงพยาบาลเอกชนแทนการสนับสนุนหน่วยบริการของรัฐ บริหารเงินในโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคเอื้อพวกพ้อง ตกแต่งบัญชี และปรับอัตราเงินเดือนค่าตอบแทนอย่างน่าสงสัยนั้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่จะถูกประชาชนร้องเรียนเรื่องต่างๆ ป.ป.ท.ก็เป็นหน่วยงานหนึ่ง โดยขั้นตอน ป.ป.ท.จะทำหนังสือถึงประธานบอร์ด สปสช. จากนั้น สปสช.จะชี้แจง เพราะทุกเรื่องชี้แจงได้หมด

ผู้สื่อข่าวถามว่ากังวลกับการถูกตรวจสอบหรือไม่ นพ.รัชตะกล่าวว่า ไม่กังวล ทุกเรื่องหากมีข้อร้องเรียนก็ชี้แจงกันไปตามกระบวนการ

ผู้สื่อข่าวถามกรณีถูกโยงเป็นประเด็นการเมือง ทั้งเรื่องความขัดแย้งภายในระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) และ สปสช. นพ.รัชตะกล่าวว่า ขอให้ทุกอย่างรอหนังสือจาก ป.ป.ท.ก่อน และ สปสช.จะชี้แจง เพราะขณะนี้เห็นแต่ข่าวจากหนังสือพิมพ์เท่านั้น

เมื่อถามว่าการร้องเรียนครั้งนี้ถูกเชื่อมโยงว่าเป็นเพราะการบริหารงานของ สปสช.ทำให้โรงพยาบาลในสังกัด สธ.ขาดทุนกว่า 100 แห่ง นพ.รัชตะ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด คือ 1.คณะกรรมการตรวจสอบกรณีโรงพยาบาลขาดทุน ที่มี นพ.ยุทธ โพธารามิก เป็นประธาน แต่ นพ.ยุทธขอลาออก ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างสรรหาประธานคนใหม่ และ 2.คณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลการจัดสรรงบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่มี นายอัมมาร สยามวาลา เป็นประธาน ขณะนี้จะเดินหน้าต่อ

ด้าน นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา ในฐานะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขของบอร์ด สปสช. กล่าวว่า ถึงเวลาที่บอร์ด สปสช.ต้องปฏิรูปในเรื่องสัดส่วนกรรมการ เพราะกรรมการส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มเดิมๆ อาจมีเปลี่ยนไปมาในแต่ละอนุกรรมการย่อย ซึ่งการพิจารณาในแต่ละเรื่องควรมีตัวแทนจากภาคส่วนอื่นๆ เข้าร่วมด้วย หมุนเวียนกันไป

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณี ป.ป.ท.ตรวจสอบ สปสช.ประเด็นต่างๆ หนึ่งในนั้นมีเรื่องค่าตอบแทนเบี้ยประชุมด้วย นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า เบี้ยประชุมบอร์ด สปสช. 10,000 บาทต่อเดือน ประชุมเดือนละ 1 ครั้ง ถือว่ามากอยู่พอสมควร แต่ก็ต้องไปดูที่ระเบียบ ขณะที่แพทยสภา การประชุมบอร์ดฯแต่ละครั้ง 1,000 บาท เท่านั้น

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ในฐานะกรรมการ สปสช.สัดส่วนภาคประชาชน กล่าวว่า ถือเป็นโอกาสดีที่มีการตรวจสอบครั้งนี้เพราะจะได้ชี้แจง ทำให้สังคมทราบว่าการบริหารกองทุนที่ก่อประโยชน์ต้องดำเนินการอย่างไร ไม่ใช่แค่การจ่ายค่าเหมาจ่ายรายหัวเพื่อรักษาพยาบาลเท่านั้น แต่ในเรื่องการป้องกันโรคด้วย ซึ่งในข้อร้องเรียนที่ระบุว่ามีการใช้งบประมาณของกองทุน 30 บาทฯ ผิดวัตถุประสงค์ จ่ายให้กับมูลนิธิ ชมรมต่างๆ ที่ไม่ใช่หน่วยบริการหรือโรงพยาบาลนั้น ต้องยกตัวอย่างกรณีการทำงานร่วมกันระหว่าง สปสช. มูลนิธิ และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ กลายเป็นประเด็นว่าจัดสรรเงินให้หน่วยงานที่ไม่ใช่โรงพยาบาล ข้อเท็จจริงเริ่มจากโครงการกองทุนโลก หรือโกลบอล ฟันด์ (Global Fund) แห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่สนับสนุนให้มีการช่วยเหลือผู้ติดเชื้อ โดยให้ผู้ติดเชื้อลงพื้นที่แนะนำและชักจูงช่วยเหลือกัน

"โครงการนี้เริ่มจากโกลบอล ฟันด์ สนับสนุนเต็ม 100% ในปีแรก จากนั้นปีที่ 2 สนับสนุน 80% และ สปสช.เข้ามาช่วยอีก 20% ปีที่ 3 สนับสนุนหน่วยงานละ 50% กระทั่งสุดท้ายโครงการโกลบอล ฟันด์สิ้นสุดลง สปสช.จึงสนับสนุนเต็ม 100% แต่ทั้งหมดเป็นการทำงานเพื่อส่งเสริมป้องกันโรค มีระเบียบรองรับ ตรวจสอบได้ การทำงานลักษณะนี้จะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากกว่าเน้นแค่การรักษาพยาบาลเท่านั้น" นายนิมิตร์กล่าว และว่า ไม่เข้าใจว่าการร้องเรียนดังกล่าวมีวัตถุประสงค์อะไร เพราะแต่ละเรื่องตรวจสอบได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทราบหรือไม่ว่าเป็นกลุ่มใดร้องเรียน นายนิมิตร์กล่าวว่า ไม่ทราบ และ ป.ป.ท.คงไม่เปิดเผย แต่เรื่องนี้อาจเป็นเพราะคนร้องเรียนไม่เข้าใจ

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า จนถึงขณะนี้ยังชี้แจงไปยัง ป.ป.ท.ไม่ได้ เพราะยังไม่เห็นหนังสือ แต่ทุกข้อที่ถูกกล่าวหาพร้อมชี้แจง เช่น 1.การจัดสรรเงินกองทุน 30 บาทไปยังหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่โรงพยาบาลนั้น เรื่องนี้ชี้แจงหลายครั้ง โดยระเบียบ สปสช.มีการสนับสนุนในเรื่องการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ซึ่งดำเนินการได้ 2.กรณีที่บอกว่ามีการจัดสรรเงินให้โรงพยาบาลเอกชนนั้น ต้องดูว่าหมายถึงอะไร หากหมายถึงความร่วมมือกับโรงพยาบาลเอกชน เช่น รพ.กรุงเทพ กรณีการฉายแสงให้ผู้ป่วยมะเร็ง สปสช.ได้ร่วมมือกันจริง แต่การจ่ายเงินค่ารักษายังเท่ากับโรงพยาบาลของรัฐ ซึ่ง รพ.กรุงเทพให้ความร่วมมือกันในลักษณะกิจกรรมเพื่อสังคม (ซีเอสอาร์) และ สปสช.มีความร่วมมือลักษณะนี้กับโรงพยาบาลเอกชนประมาณ 60 แห่งทั่วประเทศ 3.กรณี สปสช.ซื้อยา เวชภัณฑ์กับหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง และได้รับค่าตอบแทนเพิ่มถึง 600 ล้านบาท ข้อนี้เป็นการกล่าวหาชัดๆ เพราะที่ผ่านมา การซื้อยา เวชภัณฑ์ต่างๆ สปสช.จะร่วมกับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และไม่มีเงินค่าตอบแทนใดๆ 4.การตกแต่งบัญชี หากหมายถึงการโอนงบประมาณล่วงหน้า กรณีนี้ยืนยันว่าไม่ใช่ตกแต่งบัญชี แต่เป็นการช่วยโรงพยาบาลก่อน จากนั้นมาดูว่าโรงพยาบาลทำงานได้ในระดับใดแล้วคิดตามผลงาน และ 5.เพิ่มอัตราค่าตอบแทนและเบี้ยประชุม กรณีค่าเบี้ยประชุม 10,000 บาทนั้น เป็นการเหมาจ่ายต่อเดือนเฉพาะการประชุมกรรมการบริหาร สปสช. แต่หากเป็นการประชุมระดับอนุกรรมการฯจ่ายเบี้ยประชุมครั้งละ 1,000 บาท เป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)

ขณะที่นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการ ป.ป.ท. กล่าวถึงการตรวจสอบการบริหารของบอร์ด สปสช. ว่า ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.ใช้อำนาจหน้าที่ตามคำสั่ง คสช.ที่ 69 เรียกเอกสารข้อมูลจาก สธ. เนื่องจาก สปสช.เป็นหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุข และประสานขอความร่วมมือจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อขอเอกสารรายละเอียด เบื้องต้นเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบเอกสารก่อน จากนั้นหากต้องการเรียกบุคคลใดเข้ามาชี้แจง จะพิจารณาในลำดับต่อไป

นายประยงค์กล่าวด้วยว่า สำหรับกรณี นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. ระบุว่าพร้อมให้ตรวจสอบ และเข้าชี้แจงกับทาง ป.ป.ท.นั้น ป.ป.ท.ต้องรอดูเอกสารรายละเอียดก่อน จากนั้นคงต้องเรียกผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจงอย่างแน่นอน ทั้งนี้ จะเร่งตรวจสอบเพื่อรายงานผลต่อ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.)

รายงานข่าวแจ้งว่า การตั้ง ป.ป.ท.สอบบอร์ด สปสช.ครั้งนี้ เป็นผลจากความขัดแย้งภายในกระทรวงสาธารณสุข ระหว่าง นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สธ.กับ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงที่ต่างฝ่ายต่างก็มีระดับบิ๊กในรัฐบาลให้การสนับสนุน ทั้งนี้การสอบ สปสช.พุ่งเป้าไปที่ นพ.รัชตะในฐานะประธานบอร์ด สปสช. และต้องการนำผลสอบมาตรวจสอบการทำงานของเครือข่ายกรรมการ ที่ถูกมองว่าเป็นขบวนการจัดตั้งที่ฝังรากลึกและมีอิทธิพลสูงต่อการบริหารงานของ สปสช. โดยก่อนการตั้งกรรมการสอบ สปสช.มีกระแสข่าวว่า รองนายกฯคนหนึ่งอยู่ระหว่างทาบทามกรรมการเพื่อตั้งขึ้นสอบการทำงานของ นพ.ณรงค์เช่นกัน แต่ก็มีคำสั่ง ตั้งคณะกรรมการสอบ สปสช.ออกมาก่อน

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 10 มีนาคม 2558