ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เลขาธิการ สปสช. แจงการตรวจสอบใช้จ่าย “งบกองทุนบัตรทอง” มีกระบวนการตรวจสอบเข้มข้นทั้งภายในและหน่วยงานภายนอก/สตง.ประจำ สปสช. ติดตามการใช้จ่าย พร้อมส่งงบดุลเสนอ ครม. รมว.สธ. สภาผู้แทนและวุฒิสภาตรวจสอบ แถมลงประกาศพระราชกิจจานุเบกษา เผยจากกระบวนการติดตามใช้จ่ายเข้มข้น ส่งผล สปสช.รับรางวัลดีเด่นกองทุนหมุนเวียน 7 ปีซ้อน และรางวัลกองทุนหมุนเวียนดีเด่นเกียรติยศ 2 ปีต่อเนื่อง ในฐานะกองทุนหมุนเวียนภาครัฐที่ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด 

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า ด้วยกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมีงบประมาณกว่า 1.5 แสนล้านบาทต่อปี (ปีงบประมาณ 2557) โดยมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำหน้าที่บริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติซึ่งมีงบประมาณจำนวนมากในแต่ละปี โดยบริหารภายใต้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งนอกจากการบริหารที่ต้องมีประสิทธิภาพแล้ว ยังต้องมีระบบการตรวจสอบการใช้จ่ายอย่างเข้มงวด เน้นความโปร่งใส และพร้อมรับการตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 จึงได้กำหนดให้มีการออกแบบการตรวจสอบการใช้งบประมาณที่เข้มข้น ทั้งจากระบบตรวจสอบภายใน สปสช. และหน่วยภายนอก

นพ.วินัย กล่าวว่า เริ่มต้นจากการตรวจสอบภายในองค์กร ด้วยการบริหาร สปสช.ที่เน้นการมีส่วนร่วม การดำเนินงาน นอกจากเป็นการดำเนินงานในรูปแบบคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) แล้ว ยังมีอนุกรรมการตรวจสอบ ที่บอร์ดสปสช.แต่งตั้งขึ้นตามกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบการบริหารเงินและการดำเนินงานของ สปสช. ที่ประกอบด้วยตัวแทนจากทุกภาคส่วน โดยคณะอนุกรรมการตรวจสอบ จะต้องรายงานผลการตรวจสอบด้านการบริหารเงินและการดำเนินงานของสำนักงานให้กับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทราบเป็นรายไตรมาส ขณะเดียวกันยังมี “สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)ประจำ สปสช.” ตั้งอยู่ภายในสำนักงาน คอยทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้จ่ายเงิน พร้อมติดตามตรวจสอบงบประมาณที่ถูกกระจายไปยัง สปสช.เขต, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และหน่วยบริการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้เมื่อสิ้นปีงบประมาณ สตง. จะต้องตรวจสอบรับรองงบดุลและรายงานการรับจ่ายเงินของกองทุน ซึ่งเมื่อ สตง.รับรองแล้ว คณะกรรมการจะต้องนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ และรัฐมนตรีรายงานต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเพื่อทราบ พร้อมจัดให้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อเปิดให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้

 นพ.วินัย กล่าวต่อว่า จากการดำเนินงานข้างต้นนี้ ส่งผลให้ สปสช.ไม่เพียงแต่ได้รับคัดเลือกจากกระทรวงการคลังให้เป็นหน่วยงานเข้ารับรางวัลกองทุนหมุนเวียนดีเด่นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2551-2557 แต่ยังได้รับรางวัลกองทุนหมุนเวียนเกียรติยศเพิ่มเติมในปี 2556 และ 2557 เป็นที่ทราบกันดีว่า เป็นรางวัลที่มอบให้กับหน่วยงานที่บริหารกองทุนให้เกิดผลประโยชน์สูงสุด และดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 170 ที่กำหนดให้เงินรายได้ของหน่วยงานของรัฐใดที่ไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน ต้องทำรายงานการรับและการจ่ายเงินเสนอต่อคณะรัฐมนตรีทุกสิ้นปี งบประมาณ เพื่อรายงานต่อรัฐสภา เป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายด้านการเงินของประเทศ