ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายชนเผ่ายังรอลุ้น ครม.จะอนุมัติขยายสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขแก่คนไร้สถานะหรือไม่ ชี้ สธ.ไม่ได้ตามเรื่อง ล็อบบี้ขอการสนับสนุนอย่างจริงจัง พร้อมตั้งคำถามจริงใจแก้ปัญหาหรือเปล่า เหตุดำเนินการช้ามาก แจงเมื่อเปรียบเทียบกับสมัย ‘จุรินทร์’ ใช้เวลาหลังรับตำแหน่งไม่ถึง 3 เดือน สามารถผลักดันเป็นมติครม.ได้สำเร็จ แต่สมัย ‘รัชตะ-สมศักดิ์’ กว่า 6 เดือนรับตำแหน่ง เพิ่งเสนอเรื่องเข้าครม.

นายวิวัฒน์ ตามี่

นายวิวัฒน์ ตามี่ เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (คชท.) เปิดเผยว่า แม้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะเตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาขยายสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขแก่บุคคลที่มีปัญหาสถานะสิทธิเพิ่มเติมอีกจำนวน 285,171 คนในเร็วๆ นี้ อย่างไรก็ตาม ยังเป็นห่วงว่า ครม.จะอนุมัติตามที่ สธ.เสนอไปทั้งหมดหรือไม่ เพราะนอกจากเรื่องขยายสิทธิการรักษาพยาบาลแล้ว ยังมีเรื่องยุทธศาสตร์การจัดการสถานะและสิทธิในการบริการสาธารณสุขของบุคคลที่มีปัญหาสถานะในภาพรวมทั้งระบบอีกหลายข้อ ขณะเดียวกัน สธ.เมื่อชงเรื่องเข้าวาระประชุมครม.แล้วก็ถือว่าหมดหน้าที่ ไม่ได้ประสานงาน ติดตาม หรือล็อบบี้หาการสนับสนุนวาระดังกล่าวแต่อย่างใด

“มันก็สะท้อนความจริงใจของสธ.ว่าตั้งใจแก้ปัญหาหรือเปล่า สมัยคุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็น รมว.สธ. เข้ารับตำแหน่งเดือน ม.ค. 2553 พอเดือน ก.พ. 2553 ก็เสนอเรื่องเข้า ครม. และครม.ก็เห็นชอบให้สิทธิด้านการรักษาพยาบาลแก่คนไร้สถานะในเดือน มี.ค. 2553 รวมใช้เวลา 2-3 เดือน แต่ในยุคที่ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน เป็น รมว.สธ. และมี นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เป็น รมช.สธ. เข้ารับตำแหน่งตั้งแต่ ก.ย. 2557 และประกาศให้เรื่องนี้เป็น 1 ใน 10 นโยบายที่จะผลักดัน แต่ผ่านมา 6 เดือนก็ยังไม่เห็นผล ไม่รู้ว่าช้าเพราะอะไร ถ้าเครือข่ายเราไม่ไปยื่นหนังสือ ไม่ไปทักท้วง ก็ไม่ยอมทำ ที่ผ่านมาภาคประชาชนก็ต้องออกแรงผลักดันทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรเลย ต้องจัดเวทีและจัดประชุมกันหลายครั้ง จนตกลงตัวเลขกันได้ก็นึกว่าอีก 1-2 สัปดาห์จะเอาเข้า ครม. จนนี่ผ่านมากว่าเดือนจึงได้เข้า”นายวิวัฒน์ กล่าว

นายวิวัฒน์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้รับการประสานจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ว่าเรื่องมาอยู่ที่ สมช.แล้ว และรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว คาดว่าจะเสนอ ครม.พิจารณาได้หลังวันที่ 8 เม.ย. ซึ่งหาก ครม.อนุมัติ เชื่อว่าแนวทางการขับเคลื่อนหลังจากนั้นก็ไม่น่าจะยาก เหลือไปประชุมคณะกรรมการกำหนดแนวทางปฏิบัติตามมติ ครม. วันที่ 23 มี.ค. 2553 ผลักดันให้สธ.กำหนดแนวทางการปฏิบัติแก่หน่วยบริการ ขณะที่ในพื้นที่เอง เครือข่ายก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับหน่วยบริการอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี วิวัฒน์ กล่าวด้วยว่า ปัญหาที่พบหลังการคืนสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขแก่คนไร้สถานะตามมติ ครม. วันที่ 23 มี.ค. 2553 ยังมีปัญหาอีกหลายประการ

1.ปัญหาการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของกลุ่มเป้าหมาย ที่ส่วนใหญ่ยังไม่รู้ตัวว่าตนเองได้รับสิทธิ ทำให้มีผู้มาขึ้นทะเบียนกับหน่วยบริการในพื้นที่น้อย ยกตัวอย่าง ที่ โรงพยาบาลแม่ฟ้าหลวง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ซึ่งถือว่าเป็นหน่วยบริการที่กระตือรือล้น มีความตั้งใจทำงาน และอยู่ท่ามกลางการแวดล้อมของหมู่บ้านชนเผ่าต่างๆ ก็ยังมีผู้มาขึ้นทะเบียนรับสิทธิที่หน่วยบริการแค่ 25% ของจำนวนผู้ได้รับสิทธิประมาณ 1 หมื่นคน ซึ่งคาดว่าในพื้นที่อื่นๆ ตัวเลขผู้มาขึ้นทะเบียนจะน้อยกว่านี้

2.ปัญหาการเดินทาง เช่น กรณีที่ต้องย้ายสถานพยาบาลเวลาส่งต่อ ก็จะติดขัดระเบียบกระทรวงมหาดไทยที่ต้องทำเรื่องขออนุญาตออกนอกพื้นที่ บางครั้งหากเป็นกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินก็ไม่มีทางทำเรื่องได้ทัน หรือในกรณีที่ขอใบอนุญาตทำงานในอีกจังหวัด แต่โรงพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนไว้อยู่อีกจังหวัด การทำเรื่องขอย้ายหน่วยบริการก็เป็นเรื่องที่ยุ่งยากและเกิดภาระค่าใช้จ่ายหลายพันบาท สุดท้ายเมื่อไปใช้บริการนอกเหนือจากที่ลงทะเบียนไว้ก็ต้องจ่ายเงินเองทั้งหมดอยู่ดี จนทุกวันนี้ปัญหาดังกล่าวก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข

3.ปัญหาทัศนคติของผู้ให้บริการ ซึ่งมองว่ากลุ่มคนไร้สถานะเป็นคนต่างด้าว มีอคติทางชาติพันธุ์ ดูถูกดูแคลน นี่ไม่ใช่เรื่องความรู้สึกที่คิดไปเอง แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนไม่อยากไปรับบริการ

4.การติดตามประเมินผลหน่วยบริการ ซึ่งทุกวันนี้ยังไม่เห็นผลการประเมินเลย ขณะเดียวกัน ก็มีฟีดแบ็กจากหน่วยบริการด้วยว่าการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลมีความยุ่งยาก ไม่ง่ายเหมือนสิทธิหลักประกันสุขภาพ ซึ่งทางเครือข่ายก็เกรงว่าเมื่อเบิกเงินยาก จะทำให้เกิดปัญหาหน่วยบริการไม่เต็มใจให้บริการหรือไม่ และจะกระทบกับคุณภาพการรักษาพยาบาลหรือไม่

และ 5.ปัญหาข้อจำกัดด้านการสื่อสาร เนื่องจากชาวบ้านบางคนไม่รู้ภาษาและโรงพยาบาลส่วนใหญ่ไม่มีล่าม ทำให้สื่อสาร ให้ข้อมูลอาการป่วยไม่ครบ ก็จะมีปัญหาการวินิจฉัยโรคผิดพลาด นำไปสู่การรักษาผิดพลาดด้วย ทั้งนี้ เครือข่ายเคยเสนอให้ สธ.จัดให้มีล่ามไว้คอยสื่อสารที่หน่วยบริการ แต่สธ.ก็ไม่ได้ดำเนินการแต่อย่างใด

วิวัฒน์ กล่าวว่าจากปัญหาในทางปฏิบัติที่เกิดขึ้นนี้ จึงอยากเสนอให้ภาครัฐดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มเป้าหมายรับรู้สิทธิมากกว่านี้ รวมทั้งจัดให้มีล่าม ตลอดจนพัฒนาระบบ ให้มีคณะกรรมการในระดับหน่วยบริการ โดยมีตัวแทนชุมชนเข้าร่วม เพื่อติดตามผลการให้บริการ ขณะเดียวกัน ตัวแทนชาวบ้านที่อยู่ในคณะกรรมการ ก็จะคอยช่วยประสาน ทำความเข้าใจกับชาวบ้านที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย และสุดท้ายเสนอว่าควรเปิดให้ย้ายหน่วยบริการหรือใช้สิทธิได้นอกเหนือจากหน่วยบริการที่ลงทะเบียนไว้ เหมือนเช่น สิทธิหลักประกันสุขภาพที่เปิดให้ย้ายหน่วยบริการได้ถึงปีละ 4 ครั้ง

“ถ้าเป็นไปได้ ในอนาคตอยากให้มีการตีความกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติใหม่ ว่าควรให้สิทธิทุกคนที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทย ไม่ใช่ให้สิทธิเฉพาะพลเมืองไทย ซึ่งหากทำได้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็จะเข้ามาบริหารจัดการแทน สธ. ซึ่งจะแก้ปัญหาความยุ่งยากในการย้ายหน่วยบริการและการใช้บริการนอกพื้นที่ได้ ขณะที่ สธ.ก็จะได้โฟกัสไปที่บทบาทผู้ขายบริการ มุ่งไปที่การพัฒนาคุณภาพการรักษาพยาบาลอย่างเต็มที่” วิวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย