ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.สรุปผลดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข ในช่วง 7 วันระวังอันตรายเทศกาลสงกรานต์ปี 2558 พบจำนวนการเกิดอุบัติเหตุ ผู้บาดเจ็บ และจำนวนผู้บาดเจ็บนอนพักการรักษาตัวในโรงพยาบาล เพิ่มขึ้นจากปี 2557 เฉลี่ยร้อยละ 11 โดยจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดในช่วงการเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์ในพื้นที่คือ ในวันที่ 12 เมษายนพบการเสียชีวิตสูงสุด 79 ราย ส่วนการบาดเจ็บสูงสุดในวันที่ 13 เมษายน จำนวน 5,817ราย สาเหตุจากเมาสุราอันดับ 1 และร้อยละ 80ของผู้เสียชีวิตเป็นคนในพื้นที่ มาตรการด่านชุมชน น่าจะช่วยลดอุบัติเหตุได้ดี

นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.อนุรักษ์ อมรเพชรสถาพร ผู้อำนวยสำนักสาธารณสุขฉุกเฉิน นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ ผู้อำนวยการสำนักโรคไม่ติดต่อ ตรวจเยี่ยมติดตามสรุปผลการดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข ในช่วง 7 วันระวังอันตรายเทศกาลสงกรานต์ปี 2558 ที่ โรงพยาบาลอุดรธานี โรงพยาบาลขอนแก่น และให้สัมภาษณ์ว่า ปัจจุบันการคมนาคม มีความรวดเร็ว และสะดวกสบายเพิ่มขึ้น ประชาชนมีการเดินทางมากขึ้น ส่งผลให้อุบัติเหตุจราจรเพิ่มขึ้น ตามรายงานความปลอดภัยทางถนนของโลก พ.ศ.2556 ขององค์การอนามัยโลก พบอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของไทยสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งรัดแก้ปัญหาร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ตั้งเป้าลดอัตราการเสียชีวิตลงให้เหลือไม่เกิน 10 คนต่อประชากรแสนคนในปี 2563  เน้นรณรงค์ต่อเนื่องตลอดทั้งปี ควบคุมการจำหน่ายเหล้าและคุมเข้มมาตรการสวมหมวกนิรภัย ที่จะช่วยลดการเสียชีวิตได้ร้อยละ 50

นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า สำหรับตัวเลขในภาพรวมการเกิดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2558 จากศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข มีผู้บาดเจ็บ 27,821 ราย ต้องเข้าพักรับการรักษาตัวในโรงพยาบาล 3,985 ราย มีผู้เสียชีวิต 405 ราย และจากข้อมูลอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์ของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน พบว่า จำนวนการเกิดอุบัติเหตุ จำนวนผู้บาดเจ็บ และจำนวนผู้นอนพักการรักษาตัวในโรงพยาบาล เพิ่มขึ้นจากปี 2557 เฉลี่ยร้อยละ 11 โดยจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตพบว่าสูงสุดในช่วงการเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์ในพื้นที่ ไม่ใช่ระหว่างการเดินทาง คือ ในวันที่ 12 เมษายน พบการเสียชีวิตสูงสุด 79  ราย ส่วนการบาดเจ็บพบสูงสุดในวันที่ 13 เมษายน จำนวน 5,817 ราย สาเหตุจากเมาสุราอันดับ 1 โดยร้อยละ 39 ของผู้บาดเจ็บพบเมาสุรา ส่วนผู้เสียชีวิตพบเมาสุราร้อยละ 25

“จากการวิเคราะห์การรณรงค์ในช่วงเทศกาลปีนี้ พบว่ามาตรการที่น่าจะช่วยลดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาล คือ ด่านชุมชน ที่เกิดจากการรวมตัวของคนในชุมชนเอง ที่ตระหนัก เข้าใจในปัญหา และตั้งใจที่จะแก้ปัญหา เพื่อให้ลูกหลานในชุมชนปลอดภัย เนื่องจากการเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตพบสูงสุดในช่วงที่มีการเฉลิมฉลองเมื่อเดินทางกลับถึงบ้านแล้ว คือวันที่ 12-13 เมษายน และร้อยละ 80 ของผู้เสียชีวิตเป็นคนในพื้นที่จังหวัดนั้นๆ เอง และหากด่านชุมชนมีการทำงานจริงจัง จะช่วยสกัดลูกหลาน คนในหมู่บ้านที่เมาสุรา ไม่ให้ขับขี่รถออกนอกพื้นที่จนเกิดอุบัติเหตุและทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ไม่ให้เป็นการเดินทางไปซื้อเหล้าขวดสุดท้ายหรือไปเที่ยวครั้งสุดท้าย” นพ.สุรเชษฐ์กล่าว