ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ขณะที่ประเทศไทยได้รับการยอมรับเป็นอย่างสูงจากความสำเร็จที่สามารถสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับประชาชนทุกคนได้อย่างเสมอหน้าภายใต้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคซึ่งเริ่มต้นเมื่อปี 2545 ซึ่งไม่เพียงทำให้ประชาชนทุกคนมีหลักประกันสุขภาพเท่านั้น แต่ผลลัพธ์ที่ได้ยังทำให้ไทยถูกยกเป็นต้นแบบประเทศกำลังพัฒนาที่ทำเรื่องนี้จนสำเร็จและมีผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่ดีจากตัวชี้วัดด้านต่างๆ อย่างไรก็ตาม ระบบประกันสุขภาพของไทยก็มีความแตกต่าง หลากหลาย เหลื่อมล้ำ ซ้อนทับกันอยู่ ไม่เฉพาะแต่ 3 กองทุนสุขภาพใหญ่ๆ อย่าง กองทุนประกันสังคม กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการและครอบครัว ที่หลากหลาย ไม่เท่าเทียม และนำไปสู่ข้อเสนอให้สร้างระบบสุขภาพมาตรฐานเดียวที่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่สามารถเดินหน้าได้สำเร็จนั้น

ยังมีกองทุนประกันสุขภาพขนาดเล็กสำหรับกลุ่มประชากรที่อาจจะถูกเรียกได้ว่าเป็นพลเมืองชั้น 2 ของประเทศนี้ก็ได้ นั่นคือ “กองทุนให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขให้กลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ตามมติ ครม. 23 มี.ค.53” ที่คล้ายเป็นกองทุนรักษาพยาบาลเฉพาะกิจที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลสิทธิการรักษาพยาบาลสำหรับกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิที่ยังรอการพิสูจน์สิทธิอยู่ ปัจจุบันดูแลประชากรประมาณ 4.5 แสนคน และล่าสุด เมื่อวันที่ 20 เม.ย. ครม.ได้อนุมัติเพิ่มกลุ่มคนรอการพิสูจน์สถานะและสิทธิที่ตกค้าง 208,631 คนให้ได้รับสิทธินี้ (ดูข่าว ที่นี่)

เป้าหมายแท้จริงของกองทุนนี้คือ ระหว่างที่ประชาชนกลุ่มนี้รอพิสูจน์สิทธิ์ เพื่อให้ได้รับสิทธิพื้นฐานด้านสาธารณสุขตามที่ไทยให้การรับรองไว้กับประชาคมโลก ก็ควรให้พวกเขาได้รับสิทธิรักษาพยาบาลด้วย เมื่อผ่านกระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ ได้สัญชาติไทยแล้ว ก็จะเปลี่ยนไปใช้สิทธิประกันสุขภาพสำหรับคนไทยตามสถานะต่อไป ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็น สิทธิ 30 บาท

ในโอกาสครบรอบ 5 ปี ของกองทุนให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขให้กลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ตามมติ ครม. 23 มี.ค.53 นี้ สำนักข่าว Health Focus จึงชวนสำรวจสถานการณ์การให้บริการสุขภาพสำหรับประชาชนกลุ่มนี้ว่าเป็นอย่างไร โรงพยาบาลหลายแห่งที่เคยต้องแบกรับภาระด้วยหลักมนุษยธรรม ในวันนี้มีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง และจริงหรือไม่ที่ว่า กองทุนคืนสิทธิ์นี้ แม้จะมีสิทธิรักษาพยาบาลก็จริง แต่ด้วยปัจจัยหลายอย่างก็ทำให้สิทธิที่พวกเขาได้เป็นแค่สิทธิของพลเมืองชั้น 2 เท่านั้น รวมทั้งช่วยกันคิดเกี่ยวกับอนาคตของกองทุนนี้ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อมุ่งไปสู่อนาคตที่ควรจะเป็นของระบบสุขภาพไทย โดยจัดทำเป็น รายงานชุด : ย้อนรอย 5 ปี กองทุนคืนสิทธิคนไร้สถานะ กองทุนของพลเมืองชั้น 2 ?

ตอนที่ 1 ‘วิวัฒน์ ตามี่’ แม้มีสิทธิรักษา แต่เป็นได้แค่พลเมืองชั้น 2 ในแผ่นดินเกิด

ย้อนรอย 5 ปี กองทุนรักษาพยาบาลกลุ่มคนรอพิสูจน์สถานะและสิทธิ แม้ช่วยสร้างหลักประกันสุขภาพ เข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น แต่เหมือนเป็นพลเมืองชั้น 2 การบริหารมีปัญหาเพียบ ทั้งเจ้าหน้าที่ดูแลกองทุน และงบที่มีจำกัด ทำบริการเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียม แถมเข้าไม่ถึงยาราคาแพง ไม่มีส่งเสริมป้องกันโรค เสนอรวมบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารกองทุน

นับจากมติ ครม. เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2553 จนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 5 ปีแล้ว ที่กลุ่มคนรอพิสูจน์สถานะและสิทธิได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลภายใต้ “กองทุนให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขให้กลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ตามมติ ครม. 23 มี.ค.53” ซึ่งบริหารจัดการโดยสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) โดยกลุ่มประกันสุขภาพ แม้ว่าภาพรวมคนกลุ่มนี้จะมีระบบหลักประกันสุขภาพรองรับแล้ว แต่ยังมีปัญหาการเข้าถึงและความไม่เท่าเทียมในการเข้ารับบริการที่ยังคงรอการพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่อไป เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพของประเทศ

วิวัฒน์ ตามี่

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ วิวัฒน์ ตามี่ ผู้จัดการโครงการพัฒนารูปแบบการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพสำหรับผู้มีปัญหาสถานะบุคคลและสิทธิ ภายใต้ศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง (ศปส.) มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ หนึ่งในผู้ผลักดันการจัดตั้ง กองทุนให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขให้กลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ได้เล่าย้อนถึงที่มาของการผลักดันและจัดตั้งกองทุนฯ นี้ว่า เริ่มต้นจากปี 2545 ซึ่งได้มีการประกาศใช้นโยบายโครงการ “30 บาท รักษาทุกโรค” หรือ “ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ขณะนั้นได้มีกลุ่มคนที่รอพิสูจน์สถานะและสิทธิที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์และชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ซึ่งมีประมาณกว่า 6 แสนคน แต่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทยส่วนหนึ่งได้รับสิทธินี้ แต่ภายหลังจากที่ได้มีการตีความตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 ที่ระบุว่าเป็นกองทุนที่ดูแลสิทธิการรักษาพยาบาลเฉพาะคนที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น ทำให้คนเหล่านี้ถูกถอดออกจากสิทธิไป

วิวัฒน์ กล่าวว่า สิ่งที่ตามมาคือทำให้คนเหล่านี้ไม่มีหลักประกันสุขภาพรองรับ ส่งผลให้เข้าไม่ถึงการรักษา เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่าส่วนใหญ่เป็นคนที่มีรายได้น้อย เมื่อเกิดภาวะเจ็บป่วยทำให้ไม่มีเงินไปรักษา และหากไปรักษาก็เป็นภาระค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกลจะประสบปัญหานี้มากจนส่งผลต่อภาวะขาดทุน เพราะเป็นพื้นที่ซึ่งมีกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่เป็นจำนวนมากและต้องให้การรักษาตามมนุษยธรรม ดังนั้นสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และภาคประชาชนที่ต่างเห็นปัญหาจึงเห็นควรให้มีการจัดตั้งกองทุนรักษาพยาบาลเพื่อดูแลกลุ่มคนเหล่านี้เฉพาะและร่วมกันผลักดันจัดตั้ง “กองทุนให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขให้กลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ”

ทั้งนี้ในระยะแรกได้ใช้ชื่อ “กองทุนคืนสิทธิ” เนื่องจากคนเหล่านี้เคยได้รับสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพมาก่อน แต่ถูกถอนสิทธิออกในภายหลัง ไม่แต่เฉพาะสิทธิภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่เป็นสิทธิที่เคยได้รับก่อนหน้านี้ตั้งแต่ปี 2518 สมัยรัฐบาล หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ดำเนินนโยบายออก “บัตรสวัสดิการประชาชนด้านการรักษาพยาบาล (สปร.)” สำหรับผู้มีรายได้น้อย โดยจ่ายเพียง 500 บาทต่อปี  

การเสนอจัดตั้ง “กองทุนให้สิทธิ(คืนสิทธิ)ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขให้กลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ” เป็นเรื่องไม่ง่ายนัก วิวัฒน์ กล่าวว่า เราใช้เวลานานมากในการผลักดันเรื่องนี้ เริ่มตั้งแต่สมัยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็น รมว.สาธารณสุข ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค และกลุ่มชาติพันธุ์ถูกถอดสิทธิการรักษาพยาบาล ซึ่งตอนนั้นได้มีการนำเสนอถึง 2 ครั้ง แต่ไม่ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. จากนั้นจึงได้มีการนำกลับมาทำข้อมูลเพื่อนำเสนอใหม่ และมีการนำเสนออย่างต่อเนื่องทั้งในสมัย นพ.มงคล ณ สงขลา และ นายพินิจ จารุสมบัติ เป็น รมว.สาธารณสุข แต่ก็ไม่ผ่าน จนกระทั่งมีการจัดทำข้อมูลกันใหม่อีกครั้ง โดยดึงสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) และกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยเข้าร่วม ทำให้ในปี 2553 ในสมัยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็น รมว.สาธารณสุข ได้รับข้อเสนอและใช้เวลาผลักดันเพียง 3 เดือน ครม.ก็อนุมัติให้จัดตั้ง “กองทุนให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขให้กลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ” จำนวน 457,409 คน

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีกองทุนฯ นี้ ก็พบว่ายังมีกลุ่มชาติพันธุ์และคนที่รอการพิสูจน์สถานะที่ตกหล่นการสำรวจในปี 2549-2554 และไม่ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลภายใต้กองทุนนี้อีกประมาณ 2 แสนคน เนื่องจาก สมช.กันไว้เพราะเกรงว่าเป็นคนต่างด้าวสวมสิทธิ จึงขอให้กรมการปกครองดำเนินการตรวจสอบก่อน ซึ่งหลังจากตรวจสอบเสร็จในปี 2555 เราจึงได้เดินหน้าเสนอให้ขยายสิทธิกองทุนฯ ให้ครอบคลุมผู้ที่ตกสำรวจ และให้กระทรวงสาธารณสุขนำเสนอ ครม.อนุมัติ

วิวัฒน์ กล่าวว่า ซึ่งล่าสุด ครม.เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2558 ก็ได้อนุมัติขยายสิทธิให้คนกลุ่มนี้แล้ว จำนวน 208,631 โดยเรื่องนี้ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข และ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รมช.สาธารณสุข ได้ประกาศเป็นหนึ่งในนโยบายกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องผลักดัน และได้มีการลงพื้นที่ จ.ตากเพื่อดูปัญหา อย่างไรก็ตามที่ผ่านมามีความผิดพลาดในการนำเสนอตัวเลขจำนวนผู้ที่รอพิสูจน์สถานะและสิทธิที่รอการขยายสิทธิ จาก 208,631 คน เหลือเพียง 170,535 คน ซึ่งเป็นข้อมูลเก่า ทำให้มีการนำเสนอข้อมูลที่น้อยกว่าข้อเท็จจริงถึง 38,096 คน ซึ่งอาจกระทบต่อกลุ่มคนเหล่านี้ได้ ทางเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (คชท.) ในฐานะตัวแทน 37 องค์กรด้านสาธารณสุขและเครือข่ายแพทย์ตามแนวชายแดน จึงได้ยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข เพื่อขอปรับข้อมูลให้ถูกต้อง

“ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้ นำไปสู่คำถามว่า กระทรวงสาธารณสุขจริงใจและตระหนักต่อปัญหาการเข้าไม่ถึงสิทธิการรักษาของกลุ่มคนรอพิสูจน์สถานะมากน้อยแค่ไหน เพราะการผลักดันต่างๆ ที่ผ่านมาตั้งแต่แรกเริ่ม ดำเนินการโดยภาคประชาชนและนักวิชาการทั้งสิ้น ขณะที่การนำเสนอข้อมูลต่อ ครม. กระทรวงสาธารณสุขยังนำเสนอข้อมูลที่ผิดพลาดอีก หากไม่ทักท้วง ครม.ก็คงอนุมัติจำนวนประชากรไม่ถูกต้อง และทำให้มีคนตกหล่นอีก ซึ่งทำให้เห็นว่ากระทรวงสาธารณสุขมีปัญหาในเชิงการบริหารจัดการ” ผู้จัดการโครงการพัฒนารูปแบบการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพสำหรับผู้มีปัญหาสถานะบุคคลและสิทธิ กล่าว

ในการบริหารจัดการกองทุนรักษาพยาบาลกลุ่มคนรอพิสูจน์สถานะและสิทธินั้น นายวิวัฒน์ กล่าวว่า ยอมรับว่ากองทุนนี้มีปัญหาด้านการบริหารจัดการพอควร ส่งผลให้เกิดความความเหลื่อมล้ำโดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับสิทธิรักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เนื่องจากเป็นกองทุนที่ดูแลคนเพียงแค่ 4-5 แสนคน ทำให้งบประมาณและการบริหารจัดการเป็นไปอย่างจำกัด ขณะที่กลุ่มประกันสุขภาพ สป.สธ.ที่รับผิดชอบกองทุนนี้ มีเจ้าหน้าที่ทำงานไม่กี่คน ทั้งยังต้องดูกองทุนรักษาพยาบาลแรงงานข้ามชาติทำให้งานล้นมือและดูแลปัญหาไม่ทั่วถึง

“เท่าที่ติดตามกองทุนนี้มีปัญหาบริหารจัดการพอควร ข้อเท็จจริงเราไม่ทราบว่าคนเหล่านี้เมื่อเข้ารับบริการได้ถูกเลือกปฏิบัติหรือไม่ แต่เท่าที่ทราบสิทธิการรักษาพยาบาลมีแตกต่างกันแน่นอนเมื่อเปรียบเทียบกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เคยได้รับก่อนหน้านี้ เพราะด้วยงบประมาณที่จำกัด จำนวนบุคลากรดูแลกองทุนที่น้อย ทำให้สิทธิประโยชน์การรักษาบางอย่างถูกตัดหายไป” วิวัฒน์ กล่าว

ต่อข้อซักถามว่า เมื่อเปรียบเทียบกับสิทธิ สปร.ในอดีต เป็นอย่างไร วิวัฒน์ กล่าวว่า ในอดีตเพียงซื้อบัตรสุขภาพปีละ 500 บาท เราก็ได้สิทธิการรักษาที่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นสัญชาติใด แต่ปัจจุบันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้สิทธิประโยชน์ที่ดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นการย้ายหน่วยบริการได้ 4 ครั้งต่อปี การเข้าถึงยาราคาแพง รวมถึงการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ที่กองทุนรักษาพยาบาลคนรอพิสูจน์สถานะและสิทธิไม่มีให้ ด้วยเหตุนี้ทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งในพื้นที่ซึ่งมีคนกลุ่มนี้อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จึงได้ร่วมบริหารจัดการเป็นเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็น เชียงราย ตาก และกาญจนบุรี เป็นต้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงบประมาณและทำให้เกิดความเท่าเทียม ไม่ว่าผู้ป่วยจะอยู่ในสิทธิการรักษาใด    

อย่างไรก็ตามเข้าใจว่ากระทรวงสาธารณสุขเองก็พยายามบริหารเพื่อให้คนเหล่านี้เข้าถึงสิทธิการรักษาที่เท่าเทียมกับระบบอื่นๆ แต่ด้วยข้อจำกัดด้านคนและงบประมาณทำให้เป็นปัญหา ดังนั้นหากนำกองทุนรักษาพยาบาลกลุ่มคนรอพิสูจน์สถานะและสิทธิให้ สปสช.รวมบริหารน่าจะดีกว่า เพราะเป็นกองทุนใหญ่ดูแลคนถึง 48 ล้านคน สามารถเฉลี่ยความเสี่ยงและบริหารจัดการได้ รวมทั้ง สปสช.ยังมีระบบฐานข้อมูลทั่วประเทศเพื่อรองรับ นอกจากนี้เห็นว่าควรต้องแยกผู้ซื้อและผู้ให้บริการ ซึ่งเป็นหลักการบริหารระบบสุขภาพที่ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงสิทธิเพิ่มขึ้น  

“5 ปีที่ผ่านมา ถ้าให้คะแนนการบริหารกองทุนรักษาพยาบาลคนรอพิสูจน์สถานะและสิทธิก็คงลำบากใจ ไม่รู้จะเปรียบเทียบกับอะไร ถ้าเปรียบกับ สปสช. คะแนนคงอยู่ที่ 50-60% ซึ่งเราเข้าใจข้อจำกัดทั้งด้านบุคลากร ความรู้ ประสบการณ์ในการบริหารกองทุน รวมถึงภาระงานเจ้าหน้าที่ดูแลกองทุน ดังนั้นหากเป็นไปได้ควรมีการรวมการบริหารเข้ากองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อบริหารให้เป็นระบบเดียวกัน ซึ่งจะทำให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงสิทธิเพิ่มขึ้น”

วิวัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า กลุ่มคนที่รอพิสูจน์สถานะและสิทธิ ในแง่ความเป็นมนุษย์ต้องบอกว่าคนเหล่านี้ไม่ต่างกับคนไทย เพราะเป็นกลุ่มคนที่อยู่ในประเทศไทยมานานจึงควรได้รับสิทธิที่เท่าเทียม โดยเฉพาะการรักษาพยาบาลที่ไม่ควรถูกเลือกปฏิบัติ แต่ประเทศไทยก็ยังมีทัศนคติที่มองว่าพวกเขาไม่ใช่คนไทย แม้จะให้สิทธิรักษาพยาบาล ก็ยังเป็นสิทธิที่ไม่เท่าเทียม และเหลื่อมล้ำ เป็นพลเมืองชั้น 2 ในแผ่นดินเกิดของตัวเองอยู่ตลอดเวลา

ตอนต่อไป ติดตาม ‘ผอ.รพ.ทองผาภูมิ’ ชี้ 5 ปีกองทุนคืนสิทธิฯ ลดภาระ รพ. แต่เบิกจ่ายยุ่งยาก สิทธิไม่เท่าเทียมบัตรทอง

ลำดับเหตุการณ์การเพิ่มกลุ่มบุคคลที่รอการพิสูจน์สถานะและสิทธิได้รับสิทธิรักษาพยาบาล

ครั้งที่ 1 จำนวน 457,409 คน สมัย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็น รมว.สธ.

18 ม.ค.53              นายจุรินทร์ รับตำแหน่ง รมว.สธ.

11 ม.ค.53              เครือข่ายองค์กรด้านสาธารณสุขและแพทย์ตามแนวชายแดนเสนอนโยบายกองทุนคืนสิทธิรักษาพยาบาลให้คนบุคคลมีปัญหาสถานะและสิทธิ ให้กับนายจุรินทร์

13 ก.พ.53              นายจุรินทร์เสนอนโยบายเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.)

23 มี.ค.53              ครม. (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี) มีมติเห็นชอบกองทุนให้สิทธิ(คืนสิทธิ)ขั้นฐานด้านสาธารณสุขสำหรับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ จำนวน 457,409 คน

ครั้งที่ 2 จำนวน 208,631 คน ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน เป็น รมว.สธ.

13 ก.ย.57              ศ.นพ.รัชตะ และ นพ.สมศักดิ์ เข้ารับตำแหน่ง รมว.สธ.และ รมช.สธ. ประกาศนโยบายเรื่องการให้สิทธิ(คืนสิทธิ)ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิที่ยังตกค้างอยู่ เป็นหนึ่งใน 10 นโยบาย สธ.

17 ม.ค.58              ลงพื้นที่ อ.อุ้มผาง จ.ตาก

29 ม.ค.58              37 องค์กรฯ แถลงข่าวยื่นข้อเสนอเพิ่มกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ 208,631 คน เข้าสู่กองทุนคืนสิทธิ

17 ก.พ.58              37 องค์กรฯ ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีคัดค้านข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุขที่จะเสนอจำนวนคนไร้สถานะเข้าครม.เพียง 170,000 คน

23 ก.พ.58              37 องค์กรฯ ประชุมกับ รมช.สธ. รวมประชุมก่อนหน้านี้เป็น 5 ครั้ง

24 มี.ค.58              ศ.นพ.รัชตะ เสนอเพิ่มกลุ่มคนไร้สถานะที่ยังตกค้างเข้า ครม. จำนวน 208,631 คน ตามข้อมูลของ 37 องค์กรฯ และเพิ่มเด็กและนักเรียนที่กำลังเรียนอยู่ในประเทศไทย ซึ่งได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานด้านการศึกษาจากกระทรวงศึกษาธิการ อยู่ระหว่างการจัดทำทะเบียนและกำหนดเลขประจำตัว 13 หลัก อีกจำนวน 76,540 คน รวมเป็น 285,171 คน

16 เม.ย.58             ครม.เศรษฐกิจ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี) อนุมัติเพิ่มกลุ่มคนไร้สถานะในกองทุนคืนสิทธิฯ จำนวน 208,631 คน แต่ตัดจำนวนกลุ่มนักเรียน 76,540 คนออก ระบุว่า ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้เพราะขาดหลักฐาน จึงยังไม่มีความชัดเจนถึงจำนวนที่แท้จริงและอาจมีความซ้ำซ้อนของข้อมูล ให้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และสภาความมั่นคงแห่งชาติ ตรวจสอบข้อมูลเพื่อยืนยันความถูกต้องและรับรองการขึ้นทะเบียนของกลุ่มบุคคลดังกล่าวก่อนแล้วเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในโอกาสต่อไป

20 เม.ย.58             ครม. (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี) รับทราบตามมติ ครม.เศรษฐกิจ 16 เม.ย.58