ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘นพ.รัชตะ’ หารือรัฐมนตรีสาธารณสุขจากกลุ่มประเทศเอฟพีจีเอส (FPGH) ประกอบด้วยไทย บราซิล นอร์เวย์ อินโดนีเซีย ฝรั่งเศส เซเนกัล แอฟริกาใต้ เพื่อร่วมมือสร้างระบบสุขภาพ เพื่อลดผลกระทบจากโรคระบาด ภัยคุกคามสุขภาพ แก้ปัญหาเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ สร้างความปลอดภัย ความเชื่อมั่นประชาชน ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ

ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์จากนครเจนีวา ประเทศสมาพันธ์สวิสเมื่อเช้าวันนี้ (21 พฤษภาคม 2558) ว่า ในการร่วมประชุมสมัชชาอนามัยโลกสมัยที่ 68 ประจำปี2558 ได้ประชุมกับรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขจากกลุ่มประเทศเอฟพีจีเอช( Foreign Policy and Global Health : FPGH) ซึ่งประกอบด้วย 7 ประเทศ ได้แก่ บราซิล อินโดนีเซีย ฝรั่งเศส นอร์เวย์ เซนีกัล แอฟริกาใต้ และ ไทย ซึ่งได้มีการรวมกลุ่มกันตั้งแต่ปี 2549 เพื่อผลักดันวาระสุขภาพโลกผ่านช่องทางนโยบาย การต่างประเทศ โดยประเด็นหารือสำคัญในวันนี้มี 4 เรื่อง ได้แก่ การสร้างระบบสุขภาพที่สามารถตอบสนองต่อโรคระบาด และภัยคุกคามด้านสุขภาพ (Building resilient health system) การจัดการวิกฤตการณ์สุขภาพระหว่างประเทศ (International health crisis management) และวาระสุขภาพหลังปี พ.ศ.2558 ให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Health in the post 2015 Sustainable Development Goals) ซึ่งเป็นประเด็นที่หารือในการประชุมสมัชชาอนามัยโลกสมัยที่68 ด้วย

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกันจัดประชุมคู่ขนานเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะสมเหตุผล เพื่อลดปัญหาและป้องกันเชื้อดื้อยาอย่างจริงจังในอนาคต เนื่องจากรายงานขององค์การอนามัยโลกล่าสุดในพ.ศ.2556 พบเชื้อหลายชนิดดื้อยา เช่น เชื้อวัณโรค พบในผู้ป่วยรายเก่าประมาณร้อยละ 20 ส่วนรายใหม่พบได้ร้อยละ 3.5 โดยพบผู้ป่วยรายใหม่ติดวัณโรคที่ดื้อยาหลายขนานปีละ480,000 ราย ใน 100 ประเทศ และยังพบเชื้อแบคทีเรียที่เป็นต้นเหตุของโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินปัสสาวะ ปอดบวม ดื้อยาปฏิชีวนะด้วย หากทุกประเทศไม่ร่วมมือกันแก้ไขป้องกัน จะทำให้เกิดการสูญเสียค่ารักษามากขึ้น และอาจทำให้ประชาชนเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิต เนื่องจากไม่มียารักษาที่ได้ผล

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยได้ให้การสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้ กรอบการดำเนินงานของกลุ่มประเทศเอพีจีเอช มาโดยตลอด และปีนี้นับว่าเป็นปีสำคัญที่กำลังจะก้าวผ่าน  ปีพ.ศ.2558 ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพในอนาคตนับว่ามีความซับซ้อนมากขึ้น และต้องการความร่วมมือจากกระทรวงการต่างประเทศและจากหลากหลายภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างสุขภาพที่ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทยที่ส่งเสริมการดำเนินงานแบบบูรณาการข้ามกระทรวงอยู่แล้ว สามารถผลักดันนโยบายต่างๆ ให้เป็นรูปธรรมและครอบคลุมสภาพปัญหามากขึ้น