ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัย เผย 10 เหตุเสี่ยงรุมเร้าวัยทำงาน ส่งผลกระทบต่อสถานประกอบการและเศรษฐกิจระดับประเทศ แนะเร่งดูแลสุขภาพ รับประทานอาหารอย่างถูกต้อง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และภัยธรรมชาติ ทำให้ประชากรวัยทำงานมีความเสี่ยงทางสุขภาพ ได้แก่ 1) โรคอ้วน เกิดจากการขาดการออกกำลังกายและการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลมากเกินไป 2) โรคเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งมีผลต่อเนื่องมาจากโรคอ้วน 3) โรคมะเร็งระบบสืบพันธุ์ พบมากโดยเฉพาะในผู้หญิง เช่น มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งเต้านม 4) โรคจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ นำไปสู่การเกิดมะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งกล่องเสียง หลอดเลือดสมองตีบ และเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ 5) โรคเครียด วัยทำงานเป็นวัยที่เสียงต่อการฆ่าตัวตายมากที่สุด สาเหตุส่วนใหญ่มาจากเรื่องเงินและเรื่องงาน 6) โรคเอดส์ เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน และการใช้สารเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้นเลือด เป็นต้น 7) ภาวะมีบุตรยาก คือ คู่สมรสที่มีเพศสัมพันธ์สม่ำเสมอเกิน 1 ปี แต่ไม่สามารถมีบุตรได้ 8) การทำแท้ง ร้อยละ 71.1 มีสาเหตุมาจากการไม่ได้ตั้งใจตั้งครรภ์ และร้อยละ 56.5 ไม่ได้คุมกำเนิด 9) ความเสี่ยงจากงานและโรคจากการประกอบอาชีพ เช่น การเกิดอุบัติเหตุขณะทำงาน โรคระบบทางเดินหายใจจากการทำงาน และโรคพิษจากสารโลหะหนัก เช่น สารตะกั่ว สารหนู โรคประสาทหูเสื่อม และ 10) อุบัติเหตุบนท้องถนน มักเกิดจากการเมาแล้วขับและการขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด

นพ.พรเทพ กล่าวต่อไปว่า ประชากรวัยทำงานสามารถดูแลสุขภาพของตนเองได้ด้วยการรับประทานอาหารอย่างถูกต้องเหมาะสม โดยเฉพาะอาหารเช้าเป็นมื้อที่สำคัญมาก ถ้าไม่รับประทานอาหารเช้าร่างกายจะเกิดภาวะขาดน้ำตาล มีผลให้ความคิดตื้อตัน สมองไม่ปลอดโปร่ง เกิดความวิตกกังวล ใจสั่น อ่อนเพลีย หงุดหงิด โมโหง่าย ควรเลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผัก ผลไม้ รับประทานน้ำตาลไม่เกิน 4-6 ช้อนชา เกลือน้อยกว่า 1 ช้อนชา ผัก 4-6 ทับพี ผลไม้สดรสไม่หวานประมาณ 15 คำ งดอาหารทอดหรือผัด งดอาหารระหว่างมื้อ นอกจากนี้ ควรออกกำลังกายเพื่อลดน้ำหนักและรอบพุงโดยออกกำลังกายระดับปานกลางวันละ 30-60 นาที อย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์ ทำกิจกรรมเคลื่อนไหวในที่ทำงาน เช่น บริหารร่างกาย ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ แขน ขา คอ ประมาณ 5 นาที 2 ครั้งต่อวัน เดินขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟต์ ขี่จักรยานหรือเดินไปทำงาน เป็นต้น รู้จักจัดการความเครียดโดยการทำงานอดิเรก เช่น ปลูกต้นไม้ อ่านหนังสืออ่านเล่น ฝึกการหายใจ การนั่งสมาธิ มองโลกในแง่ดีและคิดบวก หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่

"ทั้งนี้ จากข้อมูลสำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ.2553 พบว่า ประเทศไทยมีประชากรวัยทำงาน 44.8 ล้านคน หรือร้อยละ 67.9 ซึ่งประชากรวัยทำงานเป็นกำลังสำคัญในเชิงเศรษฐกิจ การพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งด้านการศึกษาและสุขภาพ จะมีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งมีผลต่อการประกอบการของสถานประกอบกิจการ เนื่องจากประชากรวัยทำงานส่วนใหญ่ใช้เวลาอยู่ในที่ทำงานไม่น้อยกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ดังนั้น สุขภาพที่ดีของคนกลุ่มนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเมื่อพนักงานมีสุขภาพดี มีความสุขกายสบายใจ ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพสูงขึ้น อันจะส่งผลดีต่อสถานประกอบการและเศรษฐกิจของประเทศตามมาด้วย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว