ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เป็นเวลา 6 ปีแล้ว นับตั้งแต่มีการก่อตั้งสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) ในเดือน ก.พ. ปี 2552 ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สพศท. มีประธานมาแล้วทั้งหมด 3 คน คือ นพ.เฉลิมพงษ์ สุคนธผล (รพ.สงขลา) ,พญ.พจนา กองเงิน (รพ.บุรีรัมย์) และ พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ (รพ.สุรินทร์) ซึ่งครบวาระการทำงานไปเมื่อเดือน ก.พ. 2558 ที่ผ่านมานี่เอง โดยที่ประชุมสามัญประจำปี 2558 ของ สพศท. ครั้งล่าสุด ก็ได้เลือกประธานคนใหม่ คือ นพ.ประดิษฐ์ ไชยบุตร (รพ.ราชบุรี) มารับหน้าที่เป็นหัวเรือใหญ่ขับเคลื่อนงานในอนาคต

นพ.ประดิษฐ์ ไชยบุตร

นพ.ประดิษฐ์ ไม่ใช่คนอื่นคนไกลที่ไหน เพราะคลุกคลีมาตั้งแต่ยุคก่อตั้งในฐานะรองประธาน สพศท. จึงทราบปัญหาและวาระที่ต้องการผลักดันของกลุ่มแพทย์ในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปเป็นอย่างดี และในฐานะประธานคนใหม่ของ สพศท. สำนักข่าว Hfocus จึงไม่พลาดที่จะสัมภาษณ์ นพ.ประดิษฐ์ ถึงวิสัยทัศน์ มุมมองต่อระบบสุขภาพ และวาระการขับเคลื่อนนับจากนี้

นพ.ประดิษฐ์ เกริ่นนำด้วยการพูดถึงระบบสาธารณสุขว่าเป็นระบบที่มีความซับซ้อนมาก มีบุคลากร 7-8  วิชาชีพทำงานร่วมกับในหลายระดับ ดังนั้นไม่มีใครคนใดคนหนึ่งรู้ภาพรวมของทั้งระบบ ขณะที่ สพศท.เอง ก็เป็นการรวมตัวของแพทย์ผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป ซึ่งโดยปกติแล้วจะเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในแต่ละพื้นที่ ซึ่งแพทย์ที่ประจำส่วนมากจะเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ และด้วยความที่เป็นโรงพยาบาลใหญ่ จึงมีประชาชนมารับบริการจำนวนมาก ทั้งที่มาเองและส่งตัวมาจากโรงพยาบาลอื่น ทำให้งานของแพทย์ในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ต้องทำตั้งแต่งานเล็กๆ โรคง่ายๆ ไปจนถึงงานใหญ่ๆ ที่ต้องใช้การรักษาอย่างซับซ้อนยุ่งยาก

“ที่ผ่านมาพวกเราก็ก้มหน้าก้มตาทำงานกันไป แล้วก็หวังว่าผู้บริหารจะมองเห็นว่าปัญหาของเราคืออะไรและเข้ามาช่วยแก้ไข แต่ระยะเวลาที่ผ่านมาก็รู้สึกว่าไม่ค่อยได้รับการดูแล ไม่ได้รับการพัฒนา ทั้งเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือหรืออาคารต่างๆ ก็เลยมารวมตัวกันเพื่อเป็นปากเป็นเสียงเพื่อสะท้อนข้อมูลว่าปัญหาควรได้รับการแก้ไขอย่างไร”นพ.ประดิษฐ์ กล่าว

ความสัมพันธ์หมอ-คนไข้เปลี่ยน

ประธาน สพศท.ยังสะท้อนมุมมองปัญหาของแพทย์ในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปด้วยว่า ปัจจุบันวัฒนธรรมในระบบการแพทย์เปลี่ยนแปลงไป จากจุดเริ่มต้นในอดีตที่ความสัมพันธ์ระหว่างหมอกับคนไข้เป็นไปแบบพึ่งพาอาศัยกัน หมอก็ถูกปลูกฝังมาในเรื่องของความเสียสละ ทำงานเพื่อประชาชน เวลารักษาคนไข้จนหายก็ดีใจ คนไข้เสียชีวิตก็เสียใจ จนกระทั่ง 10 กว่าปีที่ผ่านมาที่ระบบสาธารณสุขก็เปลี่ยนเป็นผู้ซื้อบริการและผู้ขายบริการ เป็นแนวคิดของตะวันตกที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างหมอกับคนไข้เปลี่ยนไป ความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกันลดน้อยถอยลง กลายเป็นเรื่องสิทธิและหน้าที่ มีการฟ้องร้องเกิดขึ้น ทำให้วัฒนธรรมดีๆ ที่เคยมีมากำลังจะเสียไป

“พอมันกลายเป็นคิดแบบฝรั่งไปหมด ต่อไประบบของเราก็จะไม่มีความเสียสละ มีแต่ต้องปกป้องสิทธิของตัวเอง หมอก็ต้องซื้อประกันป้องกันการถูกฟ้อง”นพ.ประดิษฐ์ กล่าว

บุคลากรระดับปฏิบัติขาดการดูแล

นอกจากรูปแบบความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไปแล้ว เรื่อง HR Management ก็เป็นอีกประเด็นที่ นพ.ประดิษฐ์ มองว่าผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยังดูแลบุคคลากรน้อยเกินไป ปล่อยให้ระดับผู้ปฏิบัติต้องดิ้นรนกันเอง ทั้งเรื่องคน เครื่องมือ และความเป็นอยู่ โดยเฉพาะวิชาชีพพยาบาลที่น่าเห็นใจมาก และในอนาคตปัญหาจะยิ่งรุนแรงมากขึ้นๆ เมื่อประกอบกับความสัมพันธ์กับคนไข้ที่เปลี่ยนไป ก็ทำให้หมอไหลออกจากระบบโรงพยาบาลรัฐไปทำงานภาคเอกชน เพราะงานน้อยกว่า เงินดีกว่า และโอกาสถูกฟ้องร้องก็มีน้อยกว่า

ขณะที่หมอที่เหลือในระบบภาครัฐ ก็จะมีภาระงานมากขึ้น ทุกวันนี้ภาพคนไข้แน่นเต็มโรงพยาบาล คนไข้ต้องนอนเตียงเสริมมีให้เห็นจนชินตาทุกจังหวัด ทุกวันนี้หมอในไทยมีชั่วโมงทำงานมากกว่าหมอฝรั่ง 3-4 เท่า ประสิทธิภาพก็จะแย่ลงเรื่อยๆ ซึ่งก็อยู่ที่แพทย์ว่าจะทำอย่างไรต่อไป จะสู้ต่อไปหรือจะทำงานไปวันๆ

“คนที่ไหลออกคือคนเก่ง แล้วคนที่เหลืออยู่เป็นอย่างไร ก็เหลือคนที่ไม่มีคุณภาพส่วนหนึ่ง คนที่ไม่มีที่ไปส่วนหนึ่ง แต่ยังมีอีกจำนวนมากที่ยังอยู่ในภาครัฐทำงานด้วยความเสียสละเพื่อประชาชน ถ้าไม่ดูแลคนเหล่านี้ ถามว่าแล้วจะให้เขาเสียสละไปถึงขนาดไหน” ประธาน สพศท. กล่าว

“ผ่านมา 10 ปี ก็ยังเป็นปัญหาเดิมๆ และไม่เห็นแนวโน้มว่าจะแก้ไขอย่างไร กลไกต่างๆ ก็ไม่มี ทาง สธ.ก็มีการพูดถึงเรื่องเขตสุขภาพ แต่ก็ยังไม่มีรูปธรรมอะไรออกมา ซึ่งทางออกในเรื่องนี้ อย่างน้อยก็ต้องดูแลเรื่องทรัพยากรบุคคล ต้องสนับสนุนทั้งเรื่องคนและเครื่องมือ มันเป็นเรื่องที่ต้องลงทุน ผมไม่แน่ใจว่าทางผู้บริหารได้มีการวิเคราะห์เรื่องงบลงทุนอย่างจริงจังหรือไม่ว่ามีอะไรบ้างที่ยังขาด ขาดเท่าไหร่ แล้วไปเสนอขอการสนับสนุนจากรัฐบาล ไม่ใช่จะเอาแต่นโยบาย สั่งลงมาแล้วไม่มีทรัพยากรลงมาด้วย มันก็จะเป็นแค่ผักชีโรยหน้าเท่านั้น” นพ.ประดิษฐ์ กล่าว

สปสช.เน้นประชาชนแต่ละเลยโรงพยาบาล

ประธาน สพศท. กล่าวอีกว่า เรื่องความสมดุลย์ของการจัดลำดับความสำคัญในแต่ละเรื่อง ก็เป็นอีกประเด็นที่อยากจะสะท้อนออกมา เพราะงานในระบบสาธารณสุข มีทั้งงานป้องกัน รักษา ฟื้นฟู งานทุกงานสำคัญเท่ากันหมด ดังนั้น สธ. ต้องบาลานซ์งานให้สมดุลย์ทุกเรื่อง แต่ที่ผ่านมา สธ.เน้นในเรื่องการป้องกันน้อยเกินไป

เช่นเดียวกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่เน้นให้ความสำคัญกับประชาชนเป็นหลัก แต่ละเลยโรงพยาบาล ทำให้ระบบเสียสมดุลย์ ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว มองว่าการเข้าถึงสิทธิได้ง่าย ทำให้ประชาชนอ่อนแอ ไม่ได้ระวังรักษาสุขภาพอย่างที่ควร ทำให้มีคนไข้มากขึ้นจนแน่นโรงพยาบาลไปหมด

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการฟ้องร้อง ก่อนจะมี สปสช. มีการฟ้องการร้องเรียนน้อยมาก แต่พอมี สปสช.เปิดช่องให้ร้องเรียน ประชาชนก็มีการร้องเรียนกันมากขึ้น แล้วก็เป็นฝ่ายประชาชนที่ถูกเสมอ หมอก็ต้องปรับตัวด้วยการตรวจเช็กอาการป่วยให้มากเข้าไว้เพื่อเป็นการป้องกันตัว กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลสูงขึ้นๆ

“อย่างนี้มันไม่บาลานซ์ ระบบมันเอียงไปทางประชาชนมาก” นพ.ประดิษฐ์ กล่าว

เดินหน้าปลุกหมออย่านิ่งดูดายปัญหา

สำหรับวาระขับเคลื่อนในฐานะประธาน สพศท.คนใหม่นั้น นพ.ประดิษฐ์ กล่าวว่า ทุกวันนี้ ยังมีแพทย์อีกมากที่ก้มหน้าก้มตาทำงานไปอย่างเดียว งานของ สพศท.ก็คือต้องพยายามทำให้คนเหล่านี้ลุกขึ้นมาสะท้อนปัญหาในฐานะคนทำงาน เป็นกระจกสะท้อนให้ฝ่ายบริหารรับทราบ พยายามทำให้โรงพยาบาลแต่ละแห่งมาพูดคุยหารือปัญหาแล้วรวบรวมเสนอต่อกระทรวง เพื่อช่วยให้แพทย์และบุคลากรอื่นๆ ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“ทรัพยากรบุคคลเป็นเรื่องที่รัฐต้องดูแลให้มากขึ้น เราไม่มีทางดูแลประชาชนให้ดีได้เลยถ้าละเลยแพทย์ เมื่อไหร่ที่แพทย์มีปัญหา ประชาชนก็มีปัญหาเช่นกัน ผมอยากบอกว่าพวกเราคือคนธรรมดา คนทำงานจริงๆ ที่น่าจะบอกสังคมและผู้บริหารได้ว่าปัญหรือคืออะไร จะได้ช่วยแก้ไขให้ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเรายังไม่สามารถทำให้ผู้บริหารของทั้ง สธ. สปสช.และรัฐบาลรู้อย่างที่เรารู้ได้ ก็รู้สึกว่าเป็นความผิดของเราเหมือนกันที่เห็นปัญหาอยู่ต่อหน้าจริงๆ แต่ไม่สามารถทำให้คนรู้ได้เลย” ประธาน สพศท. กล่าวทิ้งท้าย

ขอบคุณภาพจาก www.thaihospital.org