ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อธิบดีกรมการแพทย์แนะประชาชนเชียร์ทัพนักกีฬาไทยสู้ศึกซีเกมส์ 2015 พร้อมสร้างแรงบันดาลใจ ในการออกกำลังกายและเล่นกีฬา เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคต่างๆ อาทิ หลอดเลือดหัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาตความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง สมองเสื่อม โดยการแบ่งเวลาออกกำลังอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตดี มีความสุข 

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์  เปิดเผยว่า ในวันที่ 5-16 มิถุนายน 2558 นี้ จะมีการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ 2015  ครั้งที่ 28 โดยมีประเทศสิงคโปร์เป็นเจ้าภาพ ซึ่งมีนักกีฬาจาก 11 ประเทศ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าร่วมแข่งขัน จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนร่วมเชียร์นักกีฬาจากประเทศไทยในการแข่งขันครั้งนี้ พร้อมใช้โอกาสนี้เป็นจุดเริ่มต้นสร้างแรงบันดาลใจในการออกกำลังกายและเล่นกีฬา เพื่อรักษาสุขภาพและป้องกันความเสี่ยงการเกิดโรคต่างๆ อาทิ หลอดเลือดหัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาต ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง สมองเสื่อม โรคเบาหวาน นอกจากนี้ การออกกำลังกายยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพอีกมากมาย คือ ลดความอ้วน เพิ่มกล้ามเนื้อ ลดไขมันในเลือด เพิ่มไขมัน HDL ซึ่งเป็นไขมันดีในร่างกาย  เพิ่มสมรรถภาพการทำงานของหัวใจ ป้องกันโรคกระดูกบางเปราะ โดยเฉพาะสตรีที่ประจำเดือนหมด ช่วยลดความดันโลหิต ช่วยทำให้หัวใจ ปอด ระบบหมุนเวียนของโลหิต กล้ามเนื้อ เอ็น เอ็นข้อต่อ กระดูก ผิวหนังแข็งแรงยิ่งขึ้น ช่วยป้องกันโรคมะเร็งบางชนิด เช่น ลำไส้ใหญ่ เต้านม ต่อมลูกหมาก ช่วยลดความเครียด ทำให้นอนหลับดียิ่งขึ้น ความจำดี เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นในตนเอง ดูสง่าผ่าเผย ชะลอความแก่ ตลอดจนประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาโรค ลดเวลาที่จะหยุดงานจากการเจ็บป่วย ทำให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง

การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ คือ การออกกำลังกายแบบแอโรบิก ซึ่งจะทำให้หัวใจ ปอด และระบบหมุนเวียนโลหิตแข็งแรง ได้แก่ การเดิน วิ่ง ว่ายน้ำ ถีบจักรยาน กระโดดเชือก เต้นแอโรบิก  โดยออกกำลังกายต่อเนื่องอย่างน้อย 20 นาที  สัปดาห์ละ 3 ครั้ง แต่ไม่ควรมากกว่า 6 ครั้งต่อสัปดาห์ เพื่อให้ 1 วันเป็นวันพักผ่อนร่างกายซึ่งการออกกำลังกายแต่ละครั้งถ้าจะให้ได้ประโยชน์ต่อหัวใจ ปอด และระบบหมุนเวียนโลหิต จะต้องออกกำลังกายให้หัวใจหรือชีพจรเต้นระหว่าง 60 -80 % ของความสามารถสูงสุดที่หัวใจจะเต้นได้ โดยคำนวณจากสูตร อัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด เท่ากับ 220 – อายุ (ปี) แต่ในทางปฏิบัติการวัดชีพจรในขณะที่ออกกำลังกายถ้าไม่มีเครื่องมือช่วยวัดจะทำได้ยาก ฉะนั้น ควรออกกำลังกายที่เหมาะสมควรให้รู้สึกว่าเหนื่อยนิดหน่อย พอมีเหงื่อออก หรือยังสามารถพูดคุยระหว่างออกกำลังกายได้ ไม่ควรออกกำลังกายในที่ร้อนจัดเกินไป หรือหลังจากรับประทานอาหารเสร็จใหม่ๆ และไม่ควรออกกำลังกายขณะรู้สึกว่าไม่สบาย เป็นไข้ โดยเฉาะเวลาที่ท้องเสีย เพราะร่างกายอาจขาดน้ำหรือเกลือแร่ ทำให้อ่อนเพลีย เป็นลม เป็นตะคริวหรือโรคหัวใจได้ ที่สำคัญควรยืดเส้นก่อนและหลังการออกกำลังกายทุกครั้ง 

อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การดูแลสุขภาพของตนเองเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง คือ นอนให้เพียงพอ 6-9 ชั่วโมง ออกกำลังกายแบบแอโรบิกสัปดาห์ละ 3 ครั้งๆ ละ 20 นาที ยืดเส้นยืดสายทุกวันไม่ว่าวันนั้นจะออกกำลังกายหรือไม่ก็ตาม   ยกน้ำหนักเบาๆ สัปดาห์ละ 2 ครั้ง เดินมากๆ หลีกเลี่ยงการใช้ลิฟท์ ดื่มนมพร่องไขมันเพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุน ดื่มน้ำเปล่ามากๆ วันละประมาณ 10 -15 แก้ว รับประทานอาหารครบ 3 มื้อ ควบคุมน้ำหนักตัว รับประทานผัก ผลไม้ ปลา ไก่ที่ไม่มีหนังเป็นหลัก ไม่สูบหรี่ ไม่เครียด ไม่เสพยาเสพติด ฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ ตามแพทย์แนะนำ หากปฏิบัติตามคำแนะนำดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง ดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข