ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ข้องใจ รองนายกฯ ยงยุทธมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ หลังตัดโครงสร้างราคายาออกจาก ร่าง พ.ร.บ.ยาใหม่ อ้างไม่ใช่หลักสากล และอาจจะทำให้ถูกฟ้องร้องได้ “กรรณิการ์” ยันกระบวนการคุมราคายาในแต่ละประเทศใช้โครงสร้างราคายามาเป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณาราคายาทั้งสิ้น ชี้จะทำให้ไทยมีอำนาจต่อรองกับบริษัทยาข้ามชาติได้ แย้งไทยยังไม่เปิดโอกาสให้ฟ้องร้องในนโยบายสาธารณะได้ ซึ่งเป็นประเด็นที่บริษัทยาข้ามชาติกดดันมาตลอด

ภายหลังจากที่ นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2558เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา ว่าจะตัดเรื่องโครงสร้างราคายาออกจากร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ เนื่องจากไม่เป็นไปตามหลักสากล และอาจจะทำให้ถูกฟ้องร้องได้นั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 มิ.ย.น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) กล่าวว่า ขอถามก่อนว่ารองนายกพูดในฐานะอะไร พูดในฐานะรองนายกรัฐมนตรี หรือพูดในฐานะอะไร ต้องเคลียร์ก่อนว่าที่พูดนั้นมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ ถ้าตอบตัวเองได้แล้วขอให้ไปศึกษากระบวนการควบคุมราคายาในประเทศต่างๆ ซึ่งได้นำโครงสร้างราคายามาใช้เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของการพิจารณาราคายาทั้งสิ้น ไม่ใช่ว่าไม่มีประเทศไหนทำเลย และในเรื่องของการคุมราคายานั้นที่ไหนก็ทำทั้งนั้น มีเพียงประเทศไทยเท่านั้นที่ปล่อยให้บริษัทยาข้ามชาติเข้ามามีอิทธิพลเหนือการเมืองในประเทศได้

น.ส.กรรณิการ์ กล่าวว่า การที่นายยงยุทธ อ้างว่าหากให้มีการเปิดเผยโครงสร้างราคายาลงไปใน พ.ร.บ.ยาจะทำให้ถูกตอบโต้ ถูกฟ้องร้องนั้นแสดงว่ารองนายกฯ ไม่ได้ทำข้อมูลเลย กรุณากลับไปทำข้อมูลว่าในการคุ้มครองการลงทุนในประเทศไทยยังไม่เปิดโอกาสให้มีการฟ้องร้องในนโยบายสาธารณะ ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่บริษัทยาข้ามชาติและนักลงทุนต่างชาติอยากจะได้มากๆ ในการเจรจาเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ถึงแม้ไม่มีเอฟทีเอ ก็พยายามกดดันรัฐบาลตลอดเวลาให้ยอมรับเรื่องนี้ คำถามกลับไปยังรองนายกฯ คือสิ่งที่ท่านกำลังพูด ท่านกำลังบังคับประเทศไทยให้ยอมรับให้บรรษัทยาข้ามชาติฟ้องร้องล้มนโยบายสาธารณะที่เป็นประโยชน์กับประชาชนใช่หรือไม่ การไม่ควบคุมราคายาเป็นการบกพร่องโดยทุจริตหรือไม่

ด้าน นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผอ.มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยที่รองนายกฯ ตัดโครงสร้างราคายาออกจากร่างพ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ เพราะต้องมีมาตรการนี้มาทำให้ประเทศมีอำนาจในการต่อรองกับบริษัทยาข้ามชาติ อย่างที่มีการทำกิจกรรมไปเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาเรื่องยาแพง จะเห็นว่ายาติดสิทธิบัตรนั้นมีราคาแพงโดยไม่ทราบเหตุผล นี่เป็นโจทย์ที่ พ.ร.บ.ยาต้องมีกลไกให้บริษัทยาต้องแสดงโครงสร้างราคายา แสดงต้นทุน จะทำให้เราเห็นว่าราคาที่คิดนั้นเหมาะสมหรือไม่ ดังนั้นตนยืนยันว่า พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ต้องมีโครงสร้างราคายา ที่ผ่านมาก็มีการทำหนังสือทักท้วงมาตลอด ทุกช่วงตั้งแต่ที่มีการร่างกฎหมาย การเสนอเข้า ครม. และตีกลับ แต่กลับไม่ได้รับการตอบสนอง ล่าสุดภาคประชาชนก็ไปยื่นหนังสือคัดค้านตรงนี้