ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอวิโรจน์” เผยผลวิจัยกลุ่มผู้ป่วยบัตรทองโรคหลอดเลือดสมองตีบ-กล้ามเนื้อหัวใจตาย หลังการรักษา 1 ปีมีอัตราตายลดลงอย่างต่อเนื่อง ในปี 2555 สัดส่วนใกล้เคียงกับระบบสวัสดิการข้าราชการ ระบุผลวิเคราะห์ เหตุเสียชีวิตไม่ได้มาจากความแตกต่างของสิทธิการรักษา  แต่เกิดจากภาวะเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือน และการดูแลต่อเนื่องที่บ้านของผู้ป่วยบัตรทอง ยืนยันผู้ให้บริการทั้งแพทย์ พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ มีจริยธรรม ให้การรักษาอย่างเสมอภาคทุกสิทธิ โดยเฉพาะผู้ป่วยวิกฤต พร้อมเสนอแนะนักวิชาการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างถูกวิธีและตีความอย่างถูกต้อง วอนผู้เกี่ยวข้องฟังข้อมูลรอบด้านก่อนสรุป เพื่อไม่ทำให้สังคมสับสน  

นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร ที่ปรึกษาสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลอัตราตายในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไประหว่างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและระบบสวัสดิการข้าราชการ ในงานวิจัยผลลัพธ์ทางสุขภาพและความเป็นธรรมทางสุขภาพ จัดทำโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ว่า การนำผลการวิจัยดังกล่าวไปอ้างอิงต้องดูข้อมูลอื่นประกอบในหลายมิติ นอกจากข้อมูลดังกล่าวแล้วยังมีงานวิจัยของ IHPP เรื่อง “อัตรารอดชีวิตหลังรักษาหนึ่งปี ของผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้วยโรคหลอดเลือดสมองตีบและโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายแบบ ST elevation (STEMI) จำนวน 287,345 คน ระหว่างปี 2549-2555”  พบว่าอัตราการรอดชีวิตหลังจากการรักษา 1 ปีของผู้ป่วยบัตรทอง ดีขึ้นอย่างชัดเจน

ทั้งนี้เมื่อดูรายละเอียดของงานวิจัยของ IHPP กลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบอายุ 15-59 ปีมีอัตรารอดชีวิตหลังเข้ารับการรักษาครั้งแรกครบ 1 ปีดีขึ้น โดยเพิ่มจากร้อยละ 80.3 ในปี 2549 เป็น 85.7 ในปี 2555 ส่วนกลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบอายุ 60 ปีขึ้นไป อัตรารอดชีวิตจากร้อยละ 64 ในปี 2549 ขยับขึ้นมาเป็น 68.6 ในปี 2555 ขณะที่กลุ่มผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายอายุ 15-59 ปี มีอัตรารอดชีวิตหลังเข้ารับการรักษาครั้งแรกครบ 1 ปี ร้อยละ 78.7 ในปี 2549 ขยับขึ้นมาเป็น 85.3 ในปี 2555 ส่วนกลุ่มผู้ป่วยอายุ 60 ปีขึ้นไป จากร้อยละ 58.9 ในปี 2549 ขยับขึ้นมาเป็น 64.8 ในปี 2555 ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยสองโรคนี้เพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มอายุ

นพ.วิโรจน์ กล่าวเพิ่มว่า อัตราความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตผู้ป่วยระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) มีแนวโน้มลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ป่วยระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ หากมีอายุเท่ากัน เพศเดียวกัน มีโรคร่วมและภาวะแทรกซ้อนในระดับเดียวกันและเข้ารักษาในโรงพยาบาลระดับเดียวกัน โดยปี 2552 โรคหลอดเลือดสมองตีบผู้ป่วยระบบบัตรทองมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงกว่าระบบสวัสดิการข้าราชการร้อยละ 34 ส่วนโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย ผู้ป่วยบัตรทองมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงกว่าระบบสวัสดิการข้าราชการ ร้อยละ 19 ในปี 2555 โรคหลอดเลือดสมองตีบ ผู้ป่วยบัตรทอง มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงกว่าระบบสวัสดิการข้าราชการ ร้อยละ 15 ขณะที่โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย ผู้ป่วยบัตรทองมีอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่าระบบสวัสดิการข้าราชการร้อยละ 18 แสดงให้เห็นว่า ความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายของผู้ป่วยบัตรทองน้อยกว่าระบบสวัสดิการข้าราชการ เนื่องจากเข้าถึงบริการได้ดีขึ้น จากการจัดการช่องทางพิเศษสำหรับผู้ป่วย หรือ ที่เรียกว่า STEMI fast track

จากข้อมูลวิจัยข้างต้นนี้ อัตราการรอดชีวิต ของผู้ป่วย 2 กลุ่มโรคในระบบบัตรทอง และระบบสวัสดิการข้าราชการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ทำไมอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยบัตรทองต่ำกว่าระบบสวัสดิการข้าราชการ การศึกษานี้ได้เปรียบเทียบเศรษฐานะครัวเรือนของผู้ป่วยสองระบบ โดยใช้ข้อมูลการสำรวจอนามัยและสวัสดิการ ปี 2556 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าผู้มีสิทธิระบบบัตรทองมีสัดส่วนเศรษฐานะในกลุ่มจนที่สุดและจน ร้อยละ 37.5 อยู่ในกลุ่มรวยที่สุดเพียงร้อยละ 14.3 แต่ผู้มีสิทธิระบบสวัสดิการข้าราชการอยู่ในกลุ่มจนที่สุดและจนเพียงร้อยละ 9.7  อยู่ในกลุ่มรวยที่สุดมากถึงร้อยละ 58.7 นอกจากนี้ ผู้มีสิทธิบัตรทองส่วนใหญ่จบการศึกษาต่ำกว่าระบบสวัสดิการข้าราชการ มีเพียงร้อยละ 5 ของผู้มีสิทธิบัตรทองจบการศึกษาระดับอุดมศึกษา ในขณะที่ ผู้มีสิทธิในระบบสวัสดิการข้าราชการจบการศึกษาระดับอุดมศึกษามากถึงร้อยละ 38.8

ระดับการศึกษา และเศรษฐานะมีผลต่อการดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องหลังออกจากโรงพยาบาล โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบที่ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดโดยครอบครัว อัตราการรอดชีวิตและความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ไม่ได้มีผลมาจากการรักษาพยาบาลเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นกับปัจจัยหลายด้านรวมทั้งเศรษฐกิจ การศึกษา และ สังคมของครัวเรือน ด้วยเช่นกัน 

นพ.วิโรจน์ สรุปว่า อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยบัตรทองในสองโรคดังกล่าว มากกว่าผู้ป่วยระบบสวัสดิการข้าราชการจริง และมีแนวโน้มลดลง แต่อัตราการเสียชีวิตระหว่างผู้ป่วยบัตรทองและระบบสวัสดิการข้าราชการไม่แตกต่างกันมากอย่างที่ปรากฎในรายงานของทีดีอาร์ไอ ที่แสดงให้เห็นว่า ผู้ป่วยสองโรคนี้ในระบบบัตรทองตายหมดภายใน 100 วัน และ ผู้ป่วยระบบสวัสดิการข้าราชการตายหมดภายใน 365 วัน ไม่มีใครรอดชีวิตเลยแม้สักคนเดียว ซึ่งขัดแย้งกับข้อเท็จจริง  อีกทั้งสาเหตุการเสียชีวิตไม่ได้มาจากการรักษาเพราะไม่เช่นนั้นอัตราการเสียชีวิตต้องแตกต่างมากกว่านี้ ดังนั้นอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยบัตรทองที่สูงกว่า น่าจะมาจากปัจจัยอื่นร่วมด้วย โดยเฉพาะปัจจัยครัวเรือนและการดูแลต่อเนื่องหลังการรักษา อีกทั้งในการรักษาผู้ป่วยไม่ว่าแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานอยู่หน้างานในหน่วยบริการให้การรักษาผู้ป่วยอย่างเสมอภาคกัน ไม่ได้คำนึงว่าผู้ป่วยเป็นสิทธิใด โดยเฉพาะผู้ป่วยวิกฤต ดังนั้นปัจจัยที่ส่งผลต่อความแตกต่างของอัตราการอยู่รอดและอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่ถูกตีความโดยนักวิชาการบางท่านว่าเกิดจากความไม่เท่าเทียมกันในการรักษาพยาบาลระหว่างสองสิทธิจึงไม่เป็นความจริง

“สิ่งที่ผมกังวลในฐานะนักวิชาการด้านสุขภาพคือการวิเคราะห์ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและการนำผลการวิจัยไปตีความ อธิบายสาเหตุ อย่างไม่รอบด้าน  โดยไม่ดูข้อมูลให้ครบทุกมิติ อีกทั้งยังมีการรีบร้อนนำไปขยายความต่อ ถือเป็นเรื่องที่อันตรายมาก เพราะจะทำให้สังคมสับสนอาจเกิดความเสียหายต่อระบบสุขภาพโดยรวม และส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนในที่สุด ดังนั้นจึงขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรวมถึงสังคมรับฟังข้อมูลอย่างรอบด้าน” นพ.วิโรจน์ กล่าว