ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากการศึกษาวิจัยเรื่องภาระงานและผลิตภาพกำลังคนในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โดย นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร และคณะ (2560) พบข้อมูลที่น่าห่วงว่าในภาพรวมของ รพ.สต.ยังมีปัญหาการขาดแคลนบุคลากรอย่างน้อยร้อยละ 20 เพื่อรองรับงานตามนโยบายการเพิ่มคุณภาพ และการเข้าถึงบริการของประชาชน

โดยคณะวิจัยมีข้อเสนอเชิงนโยบายให้กระทรวงสาธารณสุขทบทวนการกำหนดกรอบมาตรฐานอัตรากำลัง, การสร้างขวัญกำลังใจในรูปแบบต่างๆ และการปรับปรุงกระบวนการทำงานใหม่เพื่อให้ใช้ประโยชน์จากกำลังคนที่มีอยู่อย่างเต็มศักยภาพ ตามลักษณะงานและปริมาณงานของ รพ.สต.แต่ละขนาด, ส่งเสริมการทำงานให้สอดคล้องกับภารกิจหลัก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง, พัฒนาสมรรถนะผู้อำนวยการรพ.สต.ในการบริหารจัดการเพื่อลดภาระงานที่ไม่จำเป็น และควรมีการจัดสรรบุคลากร รพ.สต.ให้มีจำนวนเพียงพอภาระงานในปัจจุบัน รวมทั้งการทบทวนเกี่ยวกับการกำหนดตัวชี้วัด และระบบรายงาน ที่จะไม่เป็นภาระแก่บุคลากรโดยไม่จำเป็น กล่าวคือ

ข้อเสนอเชิงนโยบาย

1. เพื่อรองรับภาระงานของ รพ.สต.ในอนาคต ทั้งด้านการบริหารงานบริการและเวชปฏิบัติครอบครัว งานแผนงานโครงการ และงานวิชาการ จำเป็นที่จะต้องดำเนินการแก้ปัญหาที่ปัจจัยกำหนดผลิตภาพของบุคลากรสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ซึ่งประกอบด้วย

1) การขาดแคลนบุคลากรในแต่ละตำแหน่งงาน โดยเฉพาะพยาบาลวิชาชีพ ทันตบุคลากร และแพทย์แผนไทย

2) การจัดการเกี่ยวกับกระบวนการการทำงาน โดยเฉพาะงานบริหารและงานบันทึกข้อมูลที่ทำให้บุคลากรทุกตำแหน่งต้องใช้เวลาเกือบ 1 ใน 5 ของเวลาในการทำงานทั้งหมดเพื่อทำงานดังกล่าว ซึ่งควรมีการวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงกระบวนการทำงาน และการพัฒนาระบบงาน รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อช่วยการทำงาน และพัฒนาฐานข้อมูลที่ตอบตัวชี้วัดให้เป็นระบบเดียวกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการใช้ข้อมูลจากตัวชี้วัดที่เหมือนกัน หรืออาจใช้การบริหารจัดการในรูปเครือข่ายในลักษณะ One Cluster One Administration System เพื่อลดการใช้เวลาที่ไม่จำเป็นของบุคลากรแต่ละคนลง

2. การบริหารจัดการทั้งการสรรหาบุคลากรให้มีครบตามกรอบอัตรากำลัง และการบริหารจัดการให้มีการกระจายตัวของบุคลากรไม่ให้มีการล้นเกินในบางแห่ง และขาดแคลนในบางแห่ง การสรรหาบุคลากร การกระจายการทำงานได้ทุกตำแหน่งในจำนวนที่เหมาะสม จึงเป็นเรื่องเร่งด่วน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของเวลาในเพื่อให้มีบุคลากรทำงานครบทุกตำแหน่ง ในจำนวนที่สอดคล้องกับกรอบอัตรากำลังที่กำหนด เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ควรมีการดำเนินการแก้ปัญหา

3. การบริหารจัดการเพื่อการมอบหมายงานแก่บุคลากรใน รพ.สต. เพื่อสนับสนุนการทำงานอาจจำเป็นต้องจัดทีมบุคลากรเป็นทีมทักษะผสมหลากหลายวิชาชีพ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องมีการกำหนดภารกิจหลัก ภารกิจรองของบุคลากรแต่ละวิชาชีพให้ชัดเจน ร่วมกับจัดให้มีการฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บุคลากรแต่ละตำแหน่งมีทักษะเพียงพอ และสามารถทำงานได้หลากหลายหน้าที่ ในลักษณะของ Task sharing โดยมีผู้รับผิดชอบหลัก และจัดให้มีมีระบบ Coaching หรือระบบการให้คำปรึกษา เพื่อการช่วยการตัดสินใจ

4. นโยบายด้านกำลังคนและการกำหนดกรอบอัตรากำลังของกระทรวงสาธารณสุข ควรมีการทบทวนกรอบอัตรากำลังของ รพ.สต. แต่ละขนาด โดยคำนึงถึงความเฉพาะเจาะจงของบริบทในแต่ละพื้นที่และภาระงานร่วมด้วย เพื่อให้สามารถวางแผนสรรหา และการจัดการกระจายได้อย่างเหมาะสมสอดคล้องกับภารกิจหลัก ลักษณะงานและปริมาณงานของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เกณฑ์ในการจัดสรรกำลังคนควรกำหนดตามลักษณะของงาน อันประกอบด้วย

1) งานที่ให้บริการเป็นรายบุคคล ควรใช้เกณฑ์ FTE ตามมาตรฐานงานวิชาชีพนั้นๆ เช่น งานรักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก งานทันตกรรมรักษา งานรักษาพยาบาลด้วยแพทย์แผนไทย เป็นต้น

2) งานที่เป็นการบริการเพื่อสาธารณะ ควรใช้เกณฑ์ population ratio เช่น งานระบาดวิทยา งานควบคุมโรค

3) งานบริหารจัดการซึ่งเป็นงานสนับสนุนการให้บริการสุขภาพ เช่น ผู้อำนวยการการเงิน และ พัสดุควรใช้เกณฑ์ job specific criteria เพื่อเอื้อให้การบริการระดับปฐมภูมิเป็น gatekeeper ที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นควรดำเนินมาตรการการธำรงรักษากำลังคนไว้ใน รพ.สต.โดยการจัดระบบความก้าวหน้าในแต่ละสายงาน การจัดระบบการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับบุคลากร รวมทั้งการสร้างสุขให้เกิดขึ้นในองค์กร

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

คน รพ.สต.ทำงานไม่ตรงวิชาชีพ ทั้งการเงิน-พัสดุ ส่งผลเวลาดูแลสุขภาพ ปชช.น้อยลง 

เก็บความจาก

นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร และคณะ (2560). ภาระงานและผลิตภาพกำลังคนในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล. สนับสนุนโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) .