ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

พญ.สุดสวาท ผช.ผอ.รพ.ราชวิถี ประธานคณะทำงานจัดทำโปรโตคอลรักษามะเร็งสิทธิ 30 บาท แจงการมีโปรโตคอลเพื่อให้มีมาตรฐานการรักษา สหรัฐฯ ยุโรป ก็จัดทำแนวทางการรักษาเช่นกัน ยืนยันโปรโตคอลรักษามะเร็งสิทธิ 30 บาท ครอบคลุมยาพื้นฐาน และยาจำเป็นบางตัวที่มีราคาแพงหากอยู่ในโปรโตคอลก็เบิกจ่ายได้สูงขึ้น ยกเว้นยามุ่งเป้าที่มีราคาแพงมากระดับครึ่งแสนถึงสามแสนบาทต่อเดือน เข้าใจแพทย์ต้องการรักษาได้ผลดี แต่หากมีงบจำกัด ก็ต้องหาวิธีการ เสนอต่อรองราคายามุ่งเป้า ซื้อภาพรวมระดับประเทศเพื่อให้ผู้ป่วยที่ร่วมจ่ายเข้าถึงยาได้ ยืนยัน ยา จ(2) ที่สปสช.จัดหามีคุณภาพ เพราะมะเร็งมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง

พญ.สุดสวาท เลาหวินิจ

พญ.สุดสวาท เลาหวินิจ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ รพ.ราชวิถี ประธานคณะทำงานพัฒนาแนวทางการจ่ายชดเชยค่าบริการโรคมะเร็งโดยการจัดทำแนวทางการรักษาโรคมะเร็ง (Protocol) เพื่อประกอบการจ่ายชดเชยค่าบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การที่ต้องกำหนดโปรโตคอล (Protocol) หรือสูตรยาเคมีบำบัดที่เป็นที่ยอมรับกันในการรักษาโรคมะเร็งชนิดต่างๆ นั้น ก็เพื่อให้มีมาตรฐานการรักษา ซึ่งต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป ก็จะมีสมาคมวิชาชีพที่เป็นกลุ่มแพทย์ที่รักษาโรคมะเร็งจัดทำแนวทางการรักษา หรือ โปรโตคอลการรักษามะเร็งเช่นกัน โดยมีผู้เชี่ยวชาญของแต่ละสมาคมมาให้ความรู้ เอาข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์เข้ามาจับ และมาช่วยกันทำ เพื่อให้เป็นประโยชน์ในการรักษามะเร็งในรูปแบบต่าง เช่น แนวทางการผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด การฉายแสง

“วิวัฒนาการในการรักษาโรคมะเร็งก้าวหน้าค่อนข้างเร็วมาก สมัยก่อนมียาเคมีบำบัดไม่กี่ตัว หลังๆ มียามุ่งเป้าที่เรียกว่า Targeted therapy เข้ามา ซึ่งโปรโตคอลที่จัดทำกันขึ้นมาเป็นโปรโตคอลที่ใช้กันเป็นส่วนใหญ่ แพทย์โดยมากเห็นด้วยกับประโยชน์ของโปรโตคอลนี้ ถามว่าไม่ใช้โปรโตคอลนี้ได้ไหม ก็มีคนไข้บางส่วนที่อาจจะมีปัญหา เช่น ยาบางตัวมีผลต่อหัวใจ คนไข้ที่มีโรคหัวใจร่วมอยู่ด้วย ก็อาจไปใช้ยาตัวอื่นที่นอกเหนือจากโปรโตคอล หรือยาเคมีบำบัดอาจแรงไปสำหรับบางคน ก็อาจปรับเปลี่ยนตัวยา ซึ่ง สปสช.ก็ให้เบิกจ่ายยานอกโปรโตคอลได้ คนไข้มะเร็งที่ไม่ใช้ยาในโปรโตคอลตอนนี้ก็มีการเบิกจ่ายได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าใช้ตามโปรโตคอลเราก็สามารถเบิกจ่ายยาในราคาที่สูงขึ้น ซึ่งยาที่เรานำมาเข้าโปรโตคอลก็เพราะว่ายาบางตัวราคาแพง 10,000-20,000 บาทต่อครั้ง ถ้าจ่ายตามปกตินอกโปรโตคอล สปสช.ก็ให้เบิกจ่ายไม่เกิน 4,000 บาท แต่ถ้าเราใช้ตามโปรโตคอล แพทย์ก็จะสามารถใช้ยาที่มีราคาแพงได้ตามแนวทางที่เป็นมาตรฐานการรักษา” พญ.สุดสวาท กล่าว

พญ.สุดสวาท กล่าวต่อว่า สูตรโปรโตคอลของ สปสช.นั้น มีการทบทวนโปรโตคอลทุก 3 ปี และเพิ่งทบทวนกันไป กำลังจะประกาศใช้ใน 1 ต.ค.นี้ และแม้จะยังไม่ครอบคลุมการรักษาตามแนวทางใหม่ๆ ได้ เช่น ยามุ่งเป้า แต่ก็ต้องยอมรับว่ายามุ่งเป้าเป็นยาที่ราคาแพงมาก ตั้งแต่ 50,000-60,000 บาท ไปจนถึง 300,000 บาทต่อเดือน ไม่ใช่แค่ไทยที่มีปัญหาค่าใช้จ่าย ต่างประเทศก็มี ดังนั้นจึงมีวิธีการจ่ายที่ต่างกัน แต่ยืนยันได้ว่าโปรโตคอล 11 โรคมะเร็งที่พบได้บ่อยนั้น ครอบคลุมยาพื้นฐานในบัญชียาหลัก ยกเว้นยามุ่งเป้า และยาเคมีบำบัดบางตัวที่มีราคาแพงมาก แพทย์ส่วนใหญ่ก็มีความประสงค์อยากให้คนไข้ได้รับการรักษาดีที่สุด ต้องบอกว่าหลายประเทศก็ไม่สามารถที่จะให้ยามุ่งเป้ากับผู้ป่วยทุกคนได้ เพราะงบประมาณที่ไม่เพียงพอ ถ้าเราสามารถปรับให้ทุกคนสามารถใช้ยาได้ทั้งหมดโดยไม่มีปัญหางบประมาณก็จะเป็นสิ่งที่ดี แต่ในความเป็นจริงไม่สามารถทำได้

พญ.สุดสวาท กล่าวว่า ดังนั้น คิดว่าน่าจะมีการร่วมจ่ายในยาบางตัว สำหรับผู้ป่วยที่พอมีทุนทรัพย์ที่สามารถจ่ายได้ ถ้าเราสามารถที่จะต่อรองราคายาในภาพรวมระดับประเทศ เพื่อให้ได้ราคาที่ลดลง ก็จะทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้ในขณะที่งบประมาณมีจำกัด ซึ่งเมื่อพูดถึงคุณภาพยากับการต่อรองราคานั้น ต้องบอกว่า ยามะเร็งที่จัดซื้อรวมมีคุณภาพ สปสช.ส่งยาไปตรวจที่ต่างประเทศที่เบลเยียม ไม่อย่างนั้นไม่สามารถที่จะใช้ได้ เพราะการรักษามะเร็งมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง ดังนั้นยาต้องได้มาตรฐาน บางครั้งที่ไม่สามารถหายาสามัญได้ ก็ต้องไปซื้อยาต้นแบบจากบริษัทที่ผลิตยานี้ตั้งแต่แรกมาให้ใช้ตามบัญชียา จ(2) ซึ่งอันนี้ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของ สปสช.ในการต่อรองราคา แต่ในฐานะผู้ใช้ก็รู้สึกสบายใจว่า ยา จ(2) ที่ สปสช.ให้มาค่อนข้างเชื่อมั่นว่าเป็นยาที่มีคุณภาพ และไม่พบผลข้างเคียงที่แตกต่างไปจากยาต้นแบบ

“ความเห็นส่วนตัวมองว่า การมีสิทธิ 30 บาท และมีการเบิกจ่ายตามโปรโตคอลจะดีกว่าสมัยก่อนที่ยังไม่มีสิทธิ 30 บาท ซึ่งตอนนั้นมีบัตร 500 บาท หากต้องรักษาแล้วผู้ป่วยไม่มีเงินก็ต้องปรึกษาสังคมสงเคราะห์ในการใช้ยาเคมีบำบัดว่าจะแบกรับไหวหรือไม่ แต่เมื่อมีสิทธิ 30 บาทหรือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สปสช.มีโปรโตคอล แพทย์ก็สะดวกมากขึ้น ใช้ยาเกินราคา 4,000 บาทได้ ทำให้คนไข้สิทธิ 30 บาทของ สปสช. เข้าถึงยาได้ดีขึ้นกว่าสมัยก่อน แต่ส่วนใหญ่คนไข้สิทธิ 30 บาทมักจะมาถึงเมื่อป่วยระยะ 3 หรือ 4 แล้ว ทำให้การรักษายากและผลการรักษาไม่ดีเท่าการรักษาคนไข้ที่มาระยะแรกๆได้ ซึ่งถ้าคนไข้ได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะที่ 1 หรือ 2 ย่อมได้ผลที่ดีกว่า ซึ่งก็เป็นปัญหาของประเทศที่จะต้องให้ความรู้ด้านโรคมะเร็งให้ประชาชนตระหนักถึงอาการเบื้องต้น เพื่อให้เข้าถึงการรักษาได้เร็วขึ้นและผลการรักษาจะได้ผลดี” พญ.สุดสวาท กล่าว