ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ยงยุทธ” ประชุมบอร์ดสุขภาพจิต หารือลดช่องว่างเปลี่ยนสิทธิรักษาจาก 30 บาทไปประกันสังคม หลังพบมีปัญหา ได้รักษาไม่ต่อเนื่อง ต้องสำรองจ่ายก่อน พร้อมผลักดันรายการฟื้นฟูคนพิการ 26 รายการเข้าสู่รายการของ สปสช.หลังปัจจุบันมีแค่ 9 รายการเท่านั้น

เมื่อวันที่ 13 ก.ค.58 ที่กรมสุขภาพจิต ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ด้านสังคม ในฐานะประธานคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2558 ว่า การปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551 มีความก้าวหน้ามากขึ้น ประเด็นที่ได้พิจารณาเห็นด้วย คือ การดูแลผู้ป่วยที่ไม่ใช่เพียงการรักษาเท่านั้น แต่ต้องครอบคลุมถึงการฟื้นฟูให้กลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้เป็นอย่างดี รวมทั้ง เน้นไปที่การป้องกันก่อนที่จะป่วย

ศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีการหารือร่วมกันเกี่ยวกับสิทธิการบำบัดรักษาของผู้ป่วยจิตเวช โดยเฉพาะการลดช่องว่างของการเปลี่ยนสิทธิจากคนพิการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ 30 บาทรักษาทุกโรคไปเป็นสิทธิประกันสังคม ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ป่วยจิตเวชเมื่อเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาจนอาการดีขึ้นสามารถกลับไปทำงานใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้เช่นเดียวกับบุคคลปกติทั่วไป จำเป็นต้องเปลี่ยนการใช้สิทธิจากคนพิการไปใช้สิทธิประกันสังคมแทน ทำให้ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยที่ต้องสำรองจ่ายก่อน บางรายต้องขาดยา ทำให้การรักษาไม่ต่อเนื่อง ส่งผลให้อาการทางจิตกำเริบมากขึ้น ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของตนเองและผู้อื่นได้ จึงจำเป็นต้องหารือกันเพื่อช่วยลดช่องว่างที่เกิดขึ้นให้กับผู้ป่วย ทั้งการลดระยะเวลาในการเปลี่ยนสิทธิ ให้มีขั้นตอนการดำเนินงานที่เร็วขึ้น รวมทั้ง ผู้ป่วยไม่ต้องมีใบส่งตัวทุกครั้ง  ไม่ต้องสำรองจ่ายก่อน ซึ่งกำลังมีการเสนอเข้าสู่คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์

ขณะเดียวกัน ยังได้เตรียมผลักดันรายการให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้พิการตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2552 ทั้ง 26 รายการ เข้าสู่ระบบการบริการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยกระบวนการทางการแพทย์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งปัจจุบันได้กำหนดรายการและราคาการให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ไว้เพียง 9 รายการเท่านั้น ทั้งนี้ ก็เพื่อความเสมอภาคในการรักษาพยาบาลผู้มีความผิดปกติทางจิต อย่างไรก็ตาม ต้องมีการปรึกษาหารือถึงความเป็นไปได้อีกครั้งหนึ่ง    

ด้าน นพ.ชิโนรส ลี้สวัสดิ์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การมีกฎหมายสุขภาพจิต ก็เพื่อคุ้มครองสังคมจากผู้มีความผิดปกติทางจิตที่มีพฤติกรรมก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงทั้งต่อตนเอง ผู้อื่น และทรัพย์สิน ขณะเดียวกัน ก็เป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้ป่วยจิตเวชให้ได้รับการบำบัดรักษาที่มีมาตรฐานอย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง เพื่อป้องกันหรือบรรเทาไม่ให้อาการผิดปกติทางจิตรุนแรงมากยิ่งขึ้น พระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ.2551 จึงเป็นหลักประกันอย่างหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับคนในสังคมและผู้ป่วยจิตเวช และสังคมปลอดภัยไปด้วย

รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ความผิดปกติทางจิตที่ควรสังเกตและควรได้รับการรักษา เช่น หูแว่ว เห็นภาพหลอน แยกตัวออกจากสังคม หวาดระแวงไร้เหตุผล คิดว่าตนเองมีความสามารถพิเศษเหนือผู้อื่น แต่งกายแปลกกว่าคนปกติ ซึ่งหากพบว่า  มีอาการรุนแรง และมีภาวะอันตราย เสี่ยงต่อการทำร้ายตนเองหรือผู้อื่นหรือมีความจําเป็นต้องได้รับการบําบัดรักษา ขาดความสามารถในการตัดสินใจให้ความยินยอมรับการบำบัดรักษา ให้แจ้ง บุคลากรทางการแพทย์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. พนักงานฝ่ายปกครอง/ตำรวจ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ./1669) หรือ มูลนิธิฯ ซึ่งเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งเรื่องก็ต้องนำตัวบุคคลนั้นไปยังสถานพยาบาลของรัฐโดยเร็ว เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและประเมินอาการเบื้องต้น หากการประเมินปรากฏว่า บุคคลนั้นไม่มีภาวะอันตรายหรือไม่เข้าข่ายที่จะต้องรับการบำบัดรักษา ก็ให้ดำเนินการปล่อยตัว ซึ่งการนำตัวผู้ป่วยจิตเวชเข้าสู่กระบวนการบังคับรักษานั้น ต้องถือว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ป่วย มิใช่ผู้ต้องหา