ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.มติชน : อธิบดีกรมบัญชีกลาง แจงการเพิ่มสิทธิรักษาใน รพ.เอกชน ให้ ขรก. เป็นข้อเรียกร้องของ ขรก.ที่ไม่ต้องการรอคิวนานใน รพ.รัฐ และมีบางส่วนพร้อมจะจ่ายส่วนต่าง รัฐไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม เพราะมีเงื่อนไขต้องไม่สูงกว่า รพ.รัฐ หากมีส่วนเกิน ขรก.ต้องจ่ายเอง ยันใช้ไม่เกินปีละ 6 หมื่นล้าน เผยทำมา 3-4 ปีแล้ว ทั้งเพิ่มโรค และเพิ่ม รพ.จากแรกสุด 30 แห่ง ตอนนี้จะเพิ่มเป็น 100 แห่ง

นสพ.มติชน : นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า งบสำหรับรักษาพยาบาลข้าราชการกับงบรักษาพยาบาลประชาชน อาทิ โครงการ 30 บาท บัตรทองจะเป็นงบที่แยกส่วนกัน โดยงบรักษาพยาบาลสำหรับประชาชน สปสช.เป็นหน่วยงานที่ดูแล และได้รับการจัดสรรงบงบประมาณประจำปีจากสำนักงบประมาณ ส่วนงบรักษาพยาบาลข้าราชการนั้นจะอยู่ในงบกลางรายจ่ายฉุกเฉิน ที่กรมบัญชีกลางดูแล ช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมาได้รับจัดสรรงบประมาณปีละ 6 หมื่นล้านบาท และด้วยการใช้จ่ายงบอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้กรมบัญชีสามารถเพิ่มการบริการให้กับข้าราชการ อาทิ ไปรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ ให้ค่าห้องเพิ่ม เป็นต้น

นายมนัสกล่าวว่า การเพิ่มไปรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชน รัฐไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม เพราะจะมีเงื่อนไขการจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลต้องไม่สูงกว่าที่รักษาจากโรงพยาบาลรัฐ อาทิ กรณีผ่าตัด หากรักษาโรงพยาบาลรัฐเสียค่าใช้จ่าย 2 หมื่นบาท ถ้าข้าราชการต้องการไปใช้บริการจากโรงพยาบาลเอกชนที่มีค่าใช้จ่ายมากกว่า 2 หมื่นบาท กรมบัญชีกลางจะจ่ายให้ข้าราชการแค่ 2 หมื่นบาท ส่วนต่างที่เหลือข้าราชการต้องจ่ายเอง

"การรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนเป็นข้อเรียกร้องจากข้าราชการ ที่ต้องไปรอคิวจากโรงพยาบาลรัฐนาน และมีข้าราชการบางส่วนพร้อมที่จะจ่ายส่วนต่างเพิ่ม จึงเรียกร้องมา กรมบัญชีกลางเห็นว่าไม่เสียหาย เพราะรัฐไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม และดีเสียอีก หากได้ รับการรักษาเร็วข้าราชการกลับมาทำงานได้เร็ว ถือเป็นผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับทุกฝ่าย ซึ่งทำ มาแล้ว 3-4 ปี ทั้งเพิ่มโรคและเพิ่มโรงพยาบาลมาตลอด ครั้งแรกมี 30 โรงพยาบาล ล่าสุดจะเพิ่มเป็น 100 โรงพยาบาล" นายมนัสกล่าว

ที่มา : นสพ.มติชน วันที่ 17 กรกฎาคม 2558