ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘การรับรู้ว่าตัวคุณเป็นคนเช่นไร ไม่ได้มีความหมายต่อตัวคุณเองสักเท่าไหร่ แต่กลับมีความหมายต่อคนอื่นๆ รอบตัวคุณอย่างที่สุด’  

‘ผลจากการศึกษา เปิดเผยว่า ภาพที่คุณคิดว่าคนอื่นเขามองเห็นเกี่ยวกับตัวคุณ และภาพของคุณที่คนอื่นเขามองเห็นและรับรู้จริงๆ มีความสัมพันธ์กันน้อยมาก ภาพประกอบสำหรับ เดอะ การ์เดียน วาดโดย Paul Thurlby

เดอะ การ์เดียน : ข้อเท็จจริงบางอย่างเกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนเราในทุกวันนี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึงสภาพปัญหาและอุปสรรคในการดำรงชีวิต ยกตัวอย่างเช่น การที่คนเรามักจะทำตัวไม่ค่อยถูกเวลาที่ได้พบเจอกันโดยบังเอิญ แต่เมื่อใดที่คุณได้ลองอ่านผลงานเขียนเล่มใหม่ของ ดร.ไฮดี แกรนท์ อูลทอมเซ่น ที่ใช้ชื่อว่า "No One Understands You And What To Do About It" คุณจะเริ่มรู้สึกได้ถึงความมหัศจรรย์ของการที่คนสองคนสามารถพูดคุยกันได้อย่างถูกคอ จนสามารถกลายมาเป็นเพื่อนหรือแม้กระทั่งตกลงใจแต่งงานกันได้ในที่สุด 

ทั้งนี้ มีผลจากการศึกษาที่เปิดเผยว่า ภาพที่คุณคิดว่าคนอื่นเขามองเห็นเกี่ยวกับตัวคุณ และภาพของคุณที่คนอื่นเขามองเห็นและรับรู้จริงๆ นั้น มีความสัมพันธ์กันน้อยมาก สำหรับสาเหตุที่ทำให้เป็นเช่นนี้ ถ้าหากว่าผู้คนรอบตัวคุณไม่ได้ตกเป็นเหยื่อของ "ความเห็นสอดคล้องกันที่ผิดพลาด" หรือ false consensus effect  (ปรากฏการณ์ที่ผู้คนที่มีพฤติกรรมหรือความเห็นบางอย่าง แล้วเชื่อว่าพฤติกรรมหรือความเห็นนั้นเป็นอะไรที่คนอื่นๆ เขาก็ทำกันหรือเห็นพ้องต้องกันกับตัวเอง) พวกเขาก็อาจจะตกเป็นเหยื่อของ “การหลงเชื่อว่าตัวเองพิเศษกว่าคนอื่นแบบผิดๆ” หรือ False Uniqueness Effect  (ปรากฏการณ์ที่ผู้คนเชื่อว่าความสามารถที่ตนมีนั้นพิเศษแตกต่างจากคนอื่นๆ เช่น เชื่อว่าไม่มีใครฉลาดเท่าหรือทุกข์ทนเท่ากับพวกเขา)

หรือบางทีอาจเป็นเพราะการตกหลุมพรางของ “ภาพมายาของความโปร่งใสตรงไปตรงมา” หรือ transparency illusion  ซึ่งเป็นการหลงเชื่อว่า คำพูดหรือการแสดงออกทางสีหน้าท่าทางที่เห็นภายนอกนั้น บ่งบอกถึงอารมณ์ความรู้สึกที่แท้จริงของคุณ ทั้งๆ ที่มันก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป

ดร.อูลทอมเซ่น ได้ตั้งข้อสังเกตที่ว่า แม้แต่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา เอง หลังจากที่พลาดท่าในศึกดีเบตนัดแรกระหว่างผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2012 (พ.ศ.2555) เขาก็ถูกทำให้เชื่อว่าตัวเองทำผลงานได้ดีแล้ว ซึ่งหากจะมีการกล่าวแย้งว่านักปราศรัยที่ดีที่สุดในโลกคนนี้ไม่สามารถอ่านใจผู้ฟังของเขาได้ แล้วจะเหลือความหวังอะไรให้เราๆ ท่านๆ ได้อีก ? 

และที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ การที่พวกเรายังคงแยกแยะความแตกต่างไม่ออก เพราะมัวแต่หมกมุ่นอยู่กับอารมณ์และความรู้สึกของตัวเอง โดยไม่เคยตระหนักเลยว่า เราต้องสู้รบปรบมือกับข้อสันนิษฐานมากมายที่มาจากคนอื่นๆ รอบตัว นอกจากนี้เรายังเป็นพวก "ขี้เหนียวความคิด" (cognitive misers) คือมักคิดอะไรให้ง่ายๆ สะดวก รวดเร็ว ด้วยแบบแผนเดิมๆ นั่นก็เป็นเพราะการดำรงอยู่ของชีวิตเป็นเรื่องที่ซับซ้อน โดยธรรมชาติแล้ว ร่างกายของคนเราจะพยายามประหยัดพลังงานในการประมวลผลกระบวนการทางจิตวิทยา และใช้มันเท่าที่จำเป็นเท่านั้น นี่อาจเป็นคำอธิบายส่วนหนึ่งของสามัญทัศน์ (Stereotypes) หรือความคิดความเชื่อแบบเหมารวม ทั้งในด้านเชื้อชาติและเพศภาวะ แม้ว่าพวกเขาพยายามที่จะประหยัดและใช้ทางลัด แต่ในหลายๆ ครั้งก็นำมาซึ่งการตัดสินใจที่หุนหันพลันแล่นและการด่วนสรุป

และแล้วในที่สุด มันก็กลายเป็นเรื่องของอัตตา (ego) และ อคติ (bias) การตัดสินว่าคุณเป็นคนแบบไหน กลายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนอื่นๆ รอบตัวคุณ แต่ไม่ใช่สำหรับคุณ ดังนั้น ในการประเมินผู้สมัครเพื่อรับเข้าทำงาน คนที่มีรูปร่างหน้าตาเรียบๆ และบุคลิกภาพไม่โดดเด่นกลายเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ไม่ได้รับความสนใจ และยังได้รับการปฏิบัติต่างจากคนที่มีหน้าตาดี นั่นก็เป็นเพราะคนทั่วไปมีจิตใต้สำนึกที่เป็น “ภัยคุกคามทางสังคม” ซึ่งตัวแปรสำคัญมักจะอยู่ที่ผู้รับรู้ (Perceiver) ไม่ใช่ผู้ที่ถูกมองหรือถูกตัดสิน

สำหรับคำถามที่ว่า เราสามารถทำให้คนทั่วไปมองเราอย่างที่เราต้องการได้หรือไม่ ? ดร.อูลทอมเซ่น ตอบว่าได้ และวิธีการหลายๆ ข้อที่เธอแนะนำ ก็มักจะเกี่ยวข้องกับการผลักดันผู้คนให้เปลี่ยนจากการพิจารณาตัดสินใจตามสัญชาตญาณ ไปเป็นการตัดสินใจที่ควบคุมได้ โดยผ่านการพินิจพิเคราะห์และไตร่ตรองมากขึ้น พร้อมกันนี้ เธอยังได้ยกตัวอย่างเพื่อแสดงให้เห็นถึงจุดอ่อนเล็กๆ อย่างหนึ่งของคนเรา นั่นก็คือ การเอาใจใส่ที่เกิดจากความใกล้ชิดสนิทสนม อาจทำให้ผู้คนตัดสินคุณได้ในทันที นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ระบุด้วยว่า การเอ่ยชมใครบางคนอย่างบริสุทธิ์ใจ และตรงไปตรงมาอาจทำให้เกิด  Self-fulfilling prophecy หรือคำทำนายที่เป็นจริง  ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาที่ระบุว่า คำทำนายหรือสิ่งที่เราเชื่อนั้นมีอิทธิพลต่อจิตใจของคนเราอย่างมาก     

ส่วนข้อสังเกตของ ดร.อูลทอมเซ่น ที่เป็นประโยชน์อย่างสูงสุด น่าจะคือประเด็นที่ว่า เมื่อคุณต้องการตัดสินว่าคนรอบข้างเขามองว่าคุณเป็นคนเช่นไร จงเชื่อในปริมาณหรือจำนวนครั้งของการมีปฏิสัมพันธ์ เนื่องจากการพบเจอกันในระดับปัจเจกอาจถูกบิดเบือนได้เนื่องจากอคติและความหลงตัวเอง แต่ถ้านำมาพิจารณารวมกันเมื่อไหร่ แบบแผนบางอย่างก็จะสะท้อนออกมา โดยทั่วไปแล้ว หากมีคนเดินหนีคุณในงานเลี้ยง มันมักจะไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เขาอาจจะมองว่าคุณเป็นคนน่าเบื่อก็เป็นได้ แต่ถ้าคุณได้รับมอบหมายให้ดูแลโครงการที่ต้องอาศัยความรับผิดชอบสูง คุณอาจดูมีอำนาจมากกว่าที่คุณคิด   แน่นอนว่าอาจไม่มีใครเข้าใจคุณไปซะทุกเรื่อง แต่การที่คนรอบข้างทุกคนไม่มีใครเข้าใจคุณเลยนั้น อาจจะมีบทเรียนบางอย่างซ่อนอยู่ก็เป็นได้ 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง