ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ทำหน้าที่ส่งเสริมให้สถานพยาบาลต่างหันมาใส่ใจในระบบงานของตนเองเพื่อให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ที่จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องหมายการันตีว่า เป็นสถานพยาบาลที่มีคุณภาพ เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงของการเปิด AEC

นพ.อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล

นพ.อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล(สรพ.) กล่าวถึงเรื่อง "ความสำเร็จของการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลของประเทศไทยในปัจจุบันเพื่อรองรับ AEC" ว่า บทบาทของภาคสาธารณสุขในระดับ ASEAN Community จะต้องเป็นความร่วมมือด้วยความเคารพในศักดิ์ศรีของกันและกัน พร้อมกับการรับมือกับความต้องการบริการสุขภาพรวมทั้งในระดับมาตรฐานของงานสาธารณสุข โดยมีกลไก HA (Healthcare Accreditation) เข้ามามีส่วนช่วยในการยกระดับคุณภาพของโรงพยาบาล ในต่างประเทศจะมี ISQua Recognition ในกลุ่มประเทศอาเชียน มีประเทศมาเลเซียและประเทศไทยที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของหน่วยงานดังกล่าว สำหรับประเทศไทยเรามีสถาบันรองรับคุณภาพสถานพยาบาล(องค์การมหาชน) หรือ สรพ.เข้ามามีบทบาทในการส่งเสริม สนับสนุนและการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพของระบบบริการสุขภาพ โดยใช้การประเมินตนเอง การเยี่ยมสำรวจจากภายนอก การรองรับกระบวนการคุณภาพ และการแลกเปลี่ยนความรู้เป็นกลไกกระตุ้น

"กลไกของ HA จะเปรียบเสมือนเป็นการส่งเสริมให้โรงพยาบาลมีกระจกส่องตนเอง แล้วปรับปรุงตัว โดยมี HA จะเข้าไปช่วยดูคุณภาพของกระจก และดูการใช้กระจกให้เป็นประโยชน์” ผอ.สรพ. กล่าว

ส่วนกระบวนการประเมินคุณภาพระบบบริการสุขภาพไทยนั้น นพ.อนุวัฒน์ กล่าวว่า จะมีการปรับปรุงให้เหมาะสมกับสังคมคนไทย โดยที่เราจะเน้นไปที่การเรียนรู้และจูงใจเชิงบวก มีองค์กรวิชาชีพมีบทบาทสูงในการร่วมการขับเคลื่อน เน้นการบูรณาการแนวความคิดและข้อกำหนด ส่งเสริมการพัฒนาเป็นลำดับขั้น ให้ความสำคัญด้านมิติจิตวิญาณควบคู่กับระบบคุณภาพ และระบบความรู้ และสุดท้ายส่งเสริมการพัฒนาเครือข่ายที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมด จะเป็นกระบวนการขับเคลื่อนให้หน่วยงานสุขภาพของไทยเข้าสู่กระบวนการประเมินได้

ทั้งนี้ นพ.อนุวัฒน์ กล่าวว่า การทำ HA ของหน่วยบริการสุขภาพ เปรียบเสมือน HA คือการเชิญชวนให้โรงพยาบาลส่องกระจกดูตนเอง เป็นการประเมินเพื่อเสริมพลัง ผู้ที่มาเยี่ยมสำรวจต้องถามตนเองก่อนออกจากโรงพยาบาลว่า ทีมของโรงพยาบาลเห็นปัญหาของตนเองหรือไม่ และพร้อมที่จะก้าวต่อไปหรือไม่ และที่สำคัญทีมของโรงพยาบาลมีความสุขกับการพัฒนาทำ HA หรือไม่ ซึ่งหากบุคลากรในโรงพยาบาลมีความสุขในการทำงาน การพัฒนาก็จะขับเคลื่อนต่อไปได้ผ่านการทำแผนงานของโรงพยาบาล

“โรงพยาบาลจะต้องเข้าใจว่า การทำ HA คือการพัฒนาทั้งงานและคน สอนให้บุคลากรคิดเป็น ทำเป็น อย่างสร้างสรรค์ โดยเริ่มจากการเรียนรู้จากความผิดพลาด และสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน พัฒนาจิตใจให้มีใจ มีไฟ และมีฝัน ดังคำกล่าวที่ว่า ความทุกข์ของเพื่อนมนุษย์ คือ ตัวจุดประกายสำหรับการเรียนรู้และพัฒนาที่สำคัญ” นพ.อนุวัฒน์ กล่าว