ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"แพทย์ของกัมพูชาส่วนใหญ่จะเรียนจบมาจากประเทศฝรั่งเศส เช่นเดียวกับการนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์และยารักษาโรค แต่ความทันสมัยของการรักษาพยาบาลยังคงกระจุกตัวอยู่ในเขตเมืองใหญ่ การใช้บริการทางการแพทย์ของกัมพูชาจึงค่อนข้างแบ่งแยกในเรื่องชนชั้นทางสังคม" ส่วนหนึ่งจากรายงานผลการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคเชิงลึกในกลุ่มประเทศอาเซียนบวก 6 ระยะที่ 3 ในกลุ่มอาเซียนใหม่ หรือ CLMV โดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ในสาขาบริการสุขภาพ ชี้ให้เห็นถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขของกัมพูชาที่ยังประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำ

ปัจจุบันกัมพูชามีจำนวนประชากรประมาณ 14.86 ล้านคน มีสัดส่วนแพทย์อยู่ในระดับ 2 คนต่อประชากร 1 หมื่นคน จัดว่าอยู่ในระดับกำลังพัฒนาความเจริญทางด้านการแพทย์และจะกระจายตัวอยู่เฉพาะในเมืองใหญ่ หากเป็นประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตชนบทซึ่งส่วนใหญ่จะมีรายได้ต่ำ เมื่อมีอาการเจ็บป่วยจะนิยมซื้อยามารับประทานเองหรือเลือกใช้บริการจากโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งเปิดให้บริการสองลักษณะ คือ สำหรับประชากรที่มีรายได้ปานกลางและรายได้สูง สามารถดูแลผู้ป่วยเฉพาะทางได้และสำหรับผู้ป่วยที่มีรายได้ระดับต่ำ ซึ่งจะดูแลรักษาตามอาการ ตรวจแล้วสั่งยาหรือผู้ป่วยสามารถหาซื้อยามารับประทานเองได้ ขณะที่โรงพยาบาลเอกชนจะตอบสนองความต้องการให้แก่ผู้มีรายได้ปานกลาง-สูงเท่านั้น

ชาวกัมพูชาเชื่อมั่นว่าโรงพยาบาลที่ดีมีหมอคุณภาพจะเป็นโรงพยาบาลเอกชนจากต่างประเทศที่เข้ามาเปิดสาขา อาทิ ไทย ฝรั่งเศส สิงคโปร์ ซึ่งในปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ด้วยมาตรฐานการให้บริการที่แตกต่างกันระหว่างโรงพยาบาลรัฐและเอกชน การให้บริการทางการแพทย์ในกัมพูชาจึงเกิดความเหลื่อมล้ำ โดยมีรายได้เป็นเกณฑ์สะท้อนความแตกต่างด้านพฤติกรรมผู้บริโภคได้อย่างชัดเจน โดยผลการศึกษาข้อมูลของ สสว.จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 600 ตัวอย่าง พบว่า

กลุ่มผู้มีรายได้น้อยซึ่งนับเป็นประชากรหลักของประเทศ มีความตระหนักในการดูแลสุขภาพค่อนข้างต่ำ โดยทั่วไปมักอาศัยอยู่ในเขตชนบทห่างไกลจากตัวเมือง หากเจ็บป่วยมักจะใช้บริการแพทย์ทางเลือก เช่น สมุนไพรพื้นบ้านหรือเลือกใช้บริการทางการแพทย์ที่รัฐบาลสนับสนุนแบบเต็ม 100%

กลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง-สูง โดยมากอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ เป็นกลุ่มที่มีการศึกษา มีความรู้ในการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน นิยมใช้บริการโรงพยาบาลที่สะอาดมีการบำรุงรักษาและมีร้านขายยาตั้งอยู่หน้าโรงพยาบาล เพราะมักให้แพทย์วินิจฉัยและออกใบสั่งยาเพื่อนำมาซื้อกับเภสัชกร ส่วนกลุ่มที่มีรายได้สูงจะยอมจ่ายเพื่อซื้อมาตรฐานและความมั่นใจจากโรงพยาบาลเอกชน หรือเดินทางไปรับการรักษาและตรวจสุขภาพในต่างประเทศ ซึ่งเป็นการสะท้อนสถานะทางเศรษฐกิจ

เช่นเดียวกับการนิยมเข้าฟิตเนส สปา และรับประทานอาหารเสริม วิตามินบำรุงสุขภาพ และการศัลยกรรมความงาม ซึ่งกำลังเป็นกระแสที่ได้รับความนิยมและมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากอิทธิพลจากการเปิดรับสื่อของไทยและเกาหลี

ด้วยปัญหาหลักคือความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจภายในประเทศ จึงส่งผลกระทบให้บริการทางการแพทย์ของกัมพูชายังอยู่ในช่วงของการพัฒนา ขณะที่ความได้เปรียบด้านพื้นฐานทางวัฒนธรรมความเชื่อ อิทธิพลจากการเปิดรับสื่อ และภูมิศาสตร์ทำเลที่ตั้งของไทย ซึ่งมีพรมแดนติดต่อกันเป็นระยะทางถึง 725 กิโลเมตร จึงกลายเป็นปัจจัยช่วยสนับสนุนโอกาสของ SME ไทยในการแสวงหาช่องทางการค้าและลงทุนที่มีอนาคต

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 12 สิงหาคม 2558