ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ทุกข์อันใหญ่หลวงของประชาชนทุกคนในโลก รวมทั้งประชาชนคนไทยไม่ว่ายากดีมีจน คือ การป่วยด้วยโรคมะเร็ง ซึ่งปัจจุบันเป็นสาเหตุการตายอันดับแรกๆ ของคนไทย

ดังที่เคยกล่าวแล้วว่า ในสหรัฐอเมริกา สมัยที่ประธานาธิบดีคลินตัน และรองประธานาธิบดีอัลกอร์หาเสียงเพื่อชิงชัยในตำแหน่งประธานาธิบดี จนได้ชัยชนะได้เป็นผู้นำประเทศสมัยแรกนั้น เรื่องหนึ่งที่ทั้งสองท่านหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นหาเสียง และต่อมาได้ประกาศเป็นนโยบายสำคัญ คือ การปฏิรูประบบบริการสุขภาพ

ปัญหาหนึ่งที่ทั้งสองท่านเขียนในเอกสารหาเสียงสำคัญ ในหนังสือ “ประชาชนต้องมาก่อน” (Put the People First) คือ เรื่องมะเร็ง ที่ท่านได้กล่าวถึงประสบการณ์ของชาวอเมริกันจำนวนมากว่า การถูกแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง เปรียบเสมือนการถูกคำพิพากษาประหารชีวิต ฉบับแรก และเมื่อพบว่า กรมธรรม์ประกันสุขภาพที่ตนได้จ่ายค่าเบี้ยประกัน (Premium) มาอย่างต่อเนื่องนั้น “ไม่ครอบคลุม” โรคมะเร็งที่เป็น ก็เสมือนถูกคำพิพากษาประหารชีวิตซ้ำสองนั่นเอง

กรณีที่กรมธรรม์ประกันสุขภาพของเอกชนไม่ครอบคลุมโรคที่ร้ายแรงและต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงนี้ เป็น “ธรรมชาติ” ของระบบประกันสุขภาพเอกชน ที่ข้อความในกรมธรรม์ส่วนที่แสดงถึงสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกัน รวมทั้งที่ตัวแทนบริษัทประกันมักหยิบยกขึ้นมาจูงใจลูกค้า มักจะเขียนหรือพิมพ์ด้วยอักษรตัวโต อ่านได้ชัดเจน แต่ข้อความที่แสดงถึง “ข้อจำกัด” สิทธิต่างๆ มักเขียนหรือพิมพ์ด้วยอักษรขนาดจิ๋วหรือมีข้อความกำกวมทำให้เข้าใจหรือตีความยาก

เรื่องเช่นนี้เป็นไปตามหลักการที่ อมรรตยะ เสน ได้กล่าวไว้ว่า “การไม่การจัดระบบเพื่อการส่งเสริมสาธารณสุขสำหรับทุกคนอย่างเป็นระบบที่ดีพอ ทำให้ประชาชนจำนวนมากต้องเผชิญกับบริการสุขภาพของเอกชนที่ไม่มีประสิทธิภาพและมีราคาแพง” ระบบบัตรทองตระหนักดีถึงปัญหานี้ จึงศึกษาและแก้ปัญหานี้อย่างเป็นระบบ เพื่อให้ประชาชนที่ประสบเคราะห์กรรมจากโรคมะเร็ง ได้รับการดูแลจากความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์อย่างมีคุณภาพ และประสิทธิภาพ มีคุณภาพ คือ ได้รับการดูแลรักษาด้วยยาที่พิสูจน์แล้วว่าปลอดภัย และมีประสิทธิผล

มีประสิทธิภาพ คือ สามารถใช้เงินภาษีอากรของประชาชนได้อย่างประหยัด มีเหตุมีผล ไม่ใช้จ่ายตามใจชอบหรือในลักษณะ “เห็นช้างขี้ ขี้ตามช้าง” 

การดำเนินการพัฒนาทำอย่างเป็นระบบและขั้นตอน ดังนี้

ประการแรก การพัฒนาระบบบริการ

เริ่มจากการพัฒนาเครือข่ายการบริการและ รับ-ส่ง ต่อ ตั้งแต่ในปี 2548 มีเครือข่ายการให้บริการรวม 29 แห่ง ใน 10 เขต ยังขาดอยู่อีก 2 เขต ในส่วนภูมิภาค และอีก 1 เครือข่ายในกรุงเทพมหานครถึงปี 2556 เครือข่ายการบริการเพิ่มเป็น 36 แห่ง กระจายไปทั่วทั้ง 12 เขต ในภูมิภาค และ กทม. เป็นเขตที่ 13 ด้วย

มีการพัฒนาเป็นข่ายการรักษามะเร็ง 22 แห่ง เชื่อมโยงกับลูกข่ายทั่วประเทศ 641 แห่ง ในปี 2556

นอกจากเครือข่ายรักษามะเร็งแล้ว ยังมีการพัฒนาเครือข่าย “การดูแลรักษาแบบประคับประคอง” (Palliative Care) ขึ้นเป็นแม่ข่าย 63 แห่ง ลูกข่าย 549 แห่ง

ประการที่สอง การพัฒนาศูนย์ส่งเสริมมิตรภาพบำบัด

นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ มีประสบการณ์ตรงจากการป่วยเป็นโรคมะเร็ง พบว่าลำพังบริการจากบุคลากรวิชาชีพในโรงพยาบาลนั้น ไม่เพียงพอ เพราะแพทย์-พยาบาล ส่วนมากแม้จะมีความรู้ความสามารถสูง ในการดูแลรักษาคนไข้มะเร็ง แต่ไม่เคยมีประสบการณ์เป็นมะเร็งด้วยตนเอง ฉะนั้นจึงมิได้รู้ถึง “หัวอก” ของคนเป็นโรคมะเร็งอย่างแท้จริง ว่าคนไข้เหล่านี้มีความทุกข์ทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจเพียงไร และอย่างไร อาการ “เบื่ออาหาร” นั้น แพทย์-พยาบาล โดยมากจะถือเป็นเพียงอาการเล็กน้อย ไม่เหมือนอาการช็อคหมดสติ แขน-ขา ขาด เป็นต้น แต่อาการดังกล่าวในคนไข้มะเร็งนั้นรุนแรงมาก โดยเฉพาะกับคนไข้ที่ต้องรับการรักษาด้วยเคมีบำบัดและรังสีรักษา คนไข้จะ “ผ่าน” ความทุกข์ทรมานเหล่านี้ไปได้อย่างไร หรือคำแนะนำเรื่องอาหารการกิน ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนไข้จะไปปฏิบัติ จะซื้อของไปปรุงอาหารได้จากที่ไหน จะปรุงหรือหุงหาอย่างไร ล้วนเป็นคำถามที่ต้องหาคำตอบให้ได้ชัดเจน

เรื่อง “เล็กๆ น้อยๆ” เหล่านี้ คนไข้มะเร็งที่เคยมีประสบการณ์ คือ “เพื่อนร่วมทุกข์” ที่รู้หัวอกของคนไข้ดี สามารถให้คำแนะนำ และช่วยเหลือทั้งทางจิตใจและสังคมแก่คนไข้และญาติคนไข้ได้เป็นอย่างดี ในต่างประเทศจึงมีการก่อตั้งกลุ่มให้ความช่วยเหลือ (Support Group) คนไข้เหล่านี้ ในที่สุดจึงเกิดกลุ่ม “มิตรภาพบำบัด” ขึ้นในโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อเสริมการดูแลรักษานี้

งานนี้เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2549 เริ่มจากก่อตั้งได้ 14 แห่ง เพิ่มเป็น 17 และ 35 แห่ง ในปี 2550 และ 2551 ตามลำดับ จนถึงปี 2555 มีศูนย์มิตรภาพบำบัดรวม 363 แห่ง โดยมีเครือข่ายภาคประชาชนรวม 1,618 เครือข่าย ขยายขอบเขตงานจากมะเร็ง เป็นโรคเรื้อรังหรือโรคร้ายแรงอื่นๆ เช่น เครือข่ายผู้ป่วยมะเร็ง 231 เครือข่าย เครือข่ายคนไข้โรคหัวใจ 183 เครือข่าย เครือข่ายผู้พิการ 253 เครือข่าย เครือข่ายโรคไต 200 เครือข่าย เครือข่ายเอดส์ 285 เครือข่าย เครือข่ายเบาหวาน / ความดันโลหิตสูง 337 เครือข่าย

เมื่อ นพ.สงวนเสียชีวิต ก็ได้นำเงินจากการช่วยงานศพและเงินบริจาคเพิ่มเติมมาก่อตั้ง “มูลนิธิมิตรภาพบำบัด” เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของ นพ.สงวน และเพื่อส่งเสริมงานนี้อีกทางหนึ่งด้วย

ประการที่สาม การพัฒนาการบริการ

โดยที่ยาจำเป็นในบัญชียาหลักแห่งชาติ สำหรับรักษามะเร็งมีราคาแพงมาก เพื่อให้ประชาชนสามารถ “เข้าถึง” ยาเหล่านี้ จึงมีการเสนอให้กระทรวงสาธารณสุขประกาศทำซีแอล เมื่อต้นปี 2550 และสามารถได้ยาราคาถูกมาให้คนไข้ได้รวม 3 รายการ รายการที่ 4 บริษัทยายินดีบริจาคยาให้ ผลจากการทำซีแอล ทำให้สามารถเจรจาต่อรองเรื่องราคายาในเวลาต่อมาได้มาก เป็นผลให้สามารถขยายการเข้าถึงยาเหล่านี้ได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 

เริ่มจากการขยายการเข้าถึงยาจำเป็นที่มีราคาแพงให้แก่ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม มะเร็งปอดระยะลุกลาม และมะเร็งต่อมลูกหมากที่ดื้อต่อยาฮอร์โมน ในปี 2552 ปีต่อมาขยายครอบคลุมเป็น 8 ชนิด และถึงปี 2556 เพิ่มเป็น 10 ชนิด

เพื่อควบคุมค่าใช้จ่าย มิให้มีการจ่ายยา “ตามใจชอบ” หรือตาม “ดุลพินิจ” ของแต่ละคน จึงมีการกำหนด โปรโตคอล (Protocol) การรักษาโดยการพิจารณาของคณะผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็ง โดยเฉพาะจาก ราชวิทยาลัยแพทย์ที่เกี่ยวข้อง กำหนดรายการยาให้เป็นมาตรฐานการรักษาตามผลการศึกษาวิจัยทั้งด้านความปลอดภัย ประสิทธิผล ความคุ้มค่า และความสามารถที่กองทุนจะรับภาระได้ ปัจจุบันมีโปรโตคอลการรักษาครอบคลุมมะเร็ง 10 กลุ่ม ได้แก่

(1) มะเร็งเต้านม

(2) มะเร็งปากมดลูก

(3) มะเร็งรังไข่

(4) มะเร็งโพรงหลังจมูก

(5) มะเร็งปอด

(6) มะเร็งหลอดอาหาร

(7) มะเร็งลำไส้ใหญ่

(8) มะเร็งตับและท่อน้ำดี

(9) มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

(10) มะเร็งต่อมลูกหมาก

ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ป่วยมะเร็งได้รับการดูแลรักษาโดยแบกรับภาระเฉพาะเรื่องความทุกข์ทรมานจากความเจ็บป่วย และผลแทรกซ้อนรุนแรงจากการรักษา ซึ่งก็เป็นความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสแล้ว การที่ไม่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่าย จึงเป็นสิ่งที่สมควรอย่างยิ่ง ดังนี้

ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ รวมอยู่ในค่าเหมาจ่ายรายหัวแล้วทั้งสิ้น เป็นการเจียดจ่ายจากเงินยอดรวมที่ได้รับอย่างจำกัดจำเขี่ย แต่นำมาบริหารจัดการ เพื่อช่วยบรรเทาทุกข์ให้แก่คนไข้ที่ทุกข์ยากแสนสาหัสเหล่านี้

ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ คือ ค่าใช้จ่ายเพื่อ “บำบัดทุกข์” ของประชาชน ซึ่งย่อมเป็นหน้าที่โดยตรงของรัฐ มิใช่หรือ

ความพยายามที่จะใช้เงินภาษีอากรของประชาชนให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนที่ได้ทุกข์ยาก โดยระบบที่มีธรรมาภิบาลอย่างแท้จริง ไม่มีการรั่วไหล ไม่ยอมให้มีใครเบียดบังเอาเข้าพกเข้าห่อ โดยคนที่มุ่งมั่นทำงานเหล่านี้มิได้มีผลประโยชน์ส่วนตัวใดๆ จึงเป็นเรื่องที่ควรได้รับการชมเชยและสนับสนุน ไม่ควรถูกข่มขู่ คุกคาม หรือหาเรื่องจับผิดใดๆ ทั้งสิ้น

ยังมีเรื่องดีๆ เช่นนี้อีกมาก ขอแถมท้ายอีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่องการแก้ปัญหาเด็กสายตาสั้นในโรงเรียน เรื่องนี้คณะอนุกรรมการสิทธิประโยชน์และระบบบริการ ได้ศึกษาและมีข้อเสนอดังนี้

(1) ภาวะสายตาผิดปกติเป็นสาเหตุสำคัญของความผิดปกติในการมองเห็น

(2) ประชากรไทยที่มีความพิการทางสายตา สาเหตุอันดับหนึ่งเกิดจากสายตาผิดปกติ มีมากกว่า 15 ล้านคน

(3) การวินิจฉัยและรักษาภาวะสายตาผิดปกติไม่ยุ่งยาก แต่การเข้าถึงกลุ่มเด็กยังเป็นปัญหา และหากไม่ได้รับการแก้ไขจะมีผลกระทบในเชิงลบต่อการศึกษา และโอกาสในการทำงานในอนาคต

(4) การศึกษาโดยองค์การอนามัยโลก สรุปว่า การคัดกรองภาวะสายตาผิดปกติในเด็กเป็นเรื่องเร่งด่วน และควรทำในระดับชุมชนร่วมกับงานอนามัยโรงเรียน

(5) วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบการคัดกรองภาวะสายตาผิดปกติและจัดหาแว่นสายตาให้กับเด็กนักเรียนในวัยก่อนประถมศึกษาและเด็กวัยประถมศึกษาในประเทศไทย

คณะอนุกรรมการฯ มีมติ เห็นควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม โดยมอบให้กรมการแพทย์ กรมอนามัย สำนักบริหารการสาธารณสุข สถาบันเด็กแห่งชาติมหาราชินี และ สปสช. ให้ร่วมกันพิจารณาความเป็นไปได้ เพื่อนำมาสู่การปฏิบัติต่อไป น่าเสียดายที่เรื่องนี้ยังทำไปได้ไม่สุดทาง หวังว่าจะมีการผลักดันให้สำเร็จต่อไป เพราะมีเด็กจำนวนมากที่ครูเห็นว่า “หัวทึบ” หรือ “เกเร” แต่แท้จริงแล้วเกิดจากสายตาสั้น เมื่อได้รับแว่นสายตา ชีวิตเด็กก็มักเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ในทางดีขึ้นๆ 

เรื่องสุดท้าย ที่ขอกล่าวถึง เป็นเรื่องน่ายินดี คือ เรื่องการอบรมการใช้ไม้เท้าขาวให้แก่คนตาบอด เพื่อให้สามารถออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านได้เหมือนคนทั่วไป เรื่องนี้เริ่มต้นจากการพัฒนารูปแบบการอบรมโดย สสส. จนได้รูปแบบที่ดี แล้ว สปสช. “รับไม้ต่อ” มาดำเนินการ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2553 ขณะนี้อบรมไปได้ราว 2 หมื่นคนแล้ว ยังขาดอีกราว 5 หมื่น เพราะมีปัญหาอุปสรรคมาก 

ติดตามต่อตอนที่ 13