ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หลังจากที่ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 20 ส.ค. 58 และเข้าปฏิบัติงานที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อย่างเป็นทางการในวันที่ 24 ส.ค. ช่วงระยะเวลา 1 เดือนนี้ก็ดูเหมือนว่าบรรยากาศใน สธ.พลันอยู่ในช่วงคลื่นลมสงบ ไม่มีข่าวความขัดแย้งรายวันเหมือนเมื่อครั้งอดีต

ซึ่งก็นับได้ว่าเป็นความสำเร็จขั้นแรกของ นพ.ปิยะสกล ที่จัดการเรื่องนี้ได้ในระดับที่น่าพอใจ และแน่นอนว่านี่เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญเมื่อครั้งที่มีการเจรจาให้มารับตำแหน่ง รมว.สธ.แทน นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน ที่นอกจากจะจัดการเรื่องความขัดแย้งไม่อยู่แล้ว ยังถูกผลักกลายมาเป็นคู่ขัดแย้งไปโดยไม่รู้ตัว ปัจจัยสำคัญนอกจากเรื่องทีมงานที่มีภาพของการ Take Side แล้ว ก็อยู่ที่ไม่มีลูกล่อลูกชนเพียงพอที่จะบริหารกระทรวงที่เต็มไปด้วยหมอๆ ที่มากหมอมากความเหล่านี้ได้

หากยังจำกันได้ เมื่อครั้ง นพ.รัชตะ รับตำแหน่งใหม่ ขณะนั้น ความขัดแย้งเรื่องแนวคิดการบริหารงบระหว่าง สธ.และ สปสช.คุกรุ่นมาอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่ นพ.รัชตะ ตอบคำถามสื่อเรื่องความขัดแย้งนี้คือ จะให้เปลี่ยนไปแบบไหนต้องมีหลักฐานเชิงประจักษ์ ซึ่งนี่เป็นการตอบแบบนักวิชาการ

ตรงกันข้ามกับ นพ.ปิยะสกล ที่พูดถึงความขัดแย้งว่าในวันแรกที่เข้า สธ.ว่า ไม่เห็นมีความขัดแย้ง มีแต่ความเห็นต่างของคนที่หวังดีกันทั้งนั้น เพียงแค่นี้ก็บ่งบอกได้แล้วว่า นพ.ปิยะสกลนั้น เซียนกว่าในการบริหาร

ยังไม่นับการเลือกทีมงานที่เป็นกลุ่มอดีตผู้บริหารระดับสูงของ สธ.ที่เพิ่งเกษียณไปได้ไม่นานมาทำงาน ซึ่งรู้ระบบ สธ.อย่างดี และเป็นคนที่มีภาพของการเป็นคนของการเมืองฝั่งไหนให้น้อยที่สุด จนนักวิเคราะห์เดากันไม่ออกว่าเป็นคนของใคร และเลือกเพียง 5 คน เท่านั้น คือ

พญ.มยุรา กุสุมภ์ อดีตผู้บริหารระดับสูงกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นที่ปรึกษา

นพ.ชาตรี บานชื่น อดีตอธิบดีกรมการแพทย์ เป็นที่ปรึกษา

นพ.เสรี ตู้จินดา อดีตอธิบดีกรมการแพทย์ เป็นที่ปรึกษา

นพ.ธวัช สุนทราจารย์ อดีตอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรี

นพ.กิตติศักดิ์ กลับดี อดีตรองปลัด สธ.และเพื่อนร่วมรุ่นสมัยเรียนแพทย์ที่ศิริราช เป็นเลขานุการ รมว.

ขณะที่นโยบาย 8 ข้อก็อยู่ในระดับกลางๆ ไม่ปะทะ และไม่ทำอะไรใหม่ๆ แบบที่ทีมงาน นพ.รัชตะ จัดให้

แม้นโยบายจะไม่โดนใจ และไม่ตอบโจทย์กระแสการปฏิรูป แต่เรื่องนี้ก็ไม่เป็นประเด็นมากนัก นั่นเพราะที่ผ่านมา ต้องบอกว่า สธ.ติดหล่มอยู่ในความขัดแย้งมายาวนาน กระทั่งถึงเวลานี้ ขอให้อยู่ในระดับขับเคลื่อนงานประจำไปได้ก็เพียงพอแล้ว

ซึ่งเรื่องนี้ หากมองอีกด้านก็นับว่าน่าเสียดาย แต่เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ เพราะครั้งกระแสการปฏิรูปมาแรงหลังรัฐประหารและมีการฟอร์มทีม ส่วนของ สธ.ได้ นพ.รัชตะ มาเป็น รมว. และ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เลขาธิการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และอดีต ผอ.สวรส.ที่มีภาพของเครือข่ายแพทย์ชนบท เป็น รมช.

เดิมเชื่อกันอย่างแรงกล้าว่าจะขับเคลื่อนการปฏิรูปได้ เรียกได้ว่า ทีมงานสายแพทย์ชนบทที่ นพ.สมศักดิ์คัดสรรมา อยากให้ระบบสาธารณสุขปฏิรูปไปทางไหน ก็จับมาใส่ในนโยบายให้หมด แต่ทีมงานคงลืมคิดไปว่า นอกจากกระแสการปฏิรูปแล้ว อีกกระแสที่มาคู่กันชนิดขี่คอหายใจรดต้นคอกันมาคือความขัดแย้งทั้งในภาพรวมสังคมไทย และในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขก็มีความขัดแย้งนี้มาตลอด ดังนั้นจะปฏิรูปแบบมีฉันทามติไปได้อย่างไร หากยังขัดแย้งในระดับอุดมการณ์หรือการมองโลก แม้จะอยู่ในรัฐบาลทหารที่มีอาญาสิทธิ์ แต่อาญาสิทธิ์นี้ก็เอาไม่ไหว และไม่ได้เห็นด้วยกับกระแสการปฏิรูปนี้ด้วยซ้ำไป ทั้งยังเกือบจะบานปลายย้อนกลับมาทำร้ายระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้วยซ้ำไป เมื่อบิ๊กตู่หลุดปากว่า ไทยอาจจะไม่พร้อม แม้ภายหลังต่อมาจะกลับมาให้คำมั่นว่าไม่ล้มแน่นอนมีแต่จะทำให้ดีขึ้น

ด้วยเหตุนี้ทีมปฏิรูปชุดนี้จึงเสียของ และมีหลายคนที่ เสียคน จนยากที่จะดึงเครดิตในอดีตให้คืนกลับมาได้อีก

ดังนั้นเมื่อเปลี่ยน รมว.ใหม่ นพ.ปิยะสกล จึงได้ต่อรองกับนายกรัฐมนตรีว่าไม่ขอให้มีตำแหน่ง รมช.สธ.เพราะเชื่อว่าไม่มี รมช.จะทำงานง่ายกว่า

ขณะที่เรื่องการบริหารของกลุ่มใน สธ.ที่มีภาพของการเป็นคู่ขัดแย้ง คือ ชมรมแพทย์ชนบท และประชาคมสาธารณสุข ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มต่างขอเข้าพบ นพ.ปิยะสกล หลังรับตำแหน่ง กลุ่มที่ขอเข้าพบก่อนคือ ชมรมแพทย์ชนบทเมื่อพฤหัสที่ 27 ส.ค. แต่ นพ.ปิยะสกล กลับส่ง นพ.กิตติศักดิ์ เลขาฯ รมว.มารับแทน โดยให้เหตุผลว่าไม่สะดวก พร้อมกับนัดหมายอีกครั้งในวันจันทร์ที่ 31 ส.ค.

และวันถัดมาศุกร์ที่ 28 ส.ค. ประชาคมสาธารณสุขก็นำทีมพบ นพ.ปิยะสกล ซึ่งครั้งนี้ นพ.ปิยะสกลมาพบด้วยตนเอง

เพียงเท่านี้ก็สะท้อนถึงภาพของการไม่ Take Side ข้างใดข้างหนึ่ง และไม่ให้กลุ่มใดๆ มาคลุกวงในหรือมีอำนาจเหนือได้ (บทเรียนนี้มาจากการที่เมื่อครั้ง สธ.มีรักษาการปลัด ได้ปล่อยให้กลุ่มอำนาจบางกลุ่มเข้ามาย้ายผู้ตรวจฯ และจัดทำโผโยกย้าย นพ.สสจ. ผอ.รพศ./รพท.ได้ตามอำเภอใจและไม่มีธรรมาภิบาล) แต่เลือกที่จะพบประชาคม สธ.ที่คงประเมินแล้วว่าเป็นกลุ่มเครือข่ายของข้าราชการหลายระดับและหลายวิชาชีพใน สธ. ก่อนที่จะให้ชมรมแพทย์ชนบทเข้าพบและชักภาพถ่ายรูปร่วมกัน

อีกหนึ่งไฮไลท์ที่สำคัญคือการทำหน้าที่ประธานประชุมบอร์ด สปสช.เป็นครั้งแรกเมื่อ 14 ก.ย.ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า บอร์ด สปสช.นั้นเป็นที่รวมของความเห็นต่างเรื่องการบริหารจัดการหลายเรื่อง แต่เห็นได้ชัดเจนว่า นพ.ปิยะสกล สามารถเอาอยู่ 2 ประโยคที่พูดบ่อยในที่ประชุมบอร์ด สปสช.คือ “สรุปสิ” และ “จบไหม” ซึ่งสะท้อนภาพของภาวะผู้นำได้สูงยิ่ง

สิ่งที่เกือบจะทำให้เกิดเป็นแรงกระเพื่อมขึ้นมา คือ การแต่งตั้งปลัด สธ.คนใหม่ ซึ่งเรื่องนี้เป็นที่จับตากันมาก สิ่งที่ได้จากปาก นพ.ปิยะสกลคือการพลิ้วและตอบว่า “ขึ้นอยู่กับธรรมะจัดสรร” และจากเดิมที่คาดกันว่า ครม.เมื่อ 8 ก.ย.จะมีวาระเห็นชอบตั้งปลัด สธ.คนใหม่ ก็กลับเป็นว่าถูกเลื่อนออกไปอีก ว่ากันว่า ชื่อที่ นพ.ปิยะสกลเสนอไปถูกยับยั้งไว้ และให้กลับมาพิจารณาใหม่ กระทั่งอังคารถัดมา 15 ก.ย.ก็เห็นชอบเป็น นพ.โสภณ เมฆธน ซึ่งมีภาพที่เป็นกลางอย่างยิ่ง ต้องเรียกกันว่า กลางชนิดที่เดากันไม่ถูกว่ามาจากสายไหน และเป็นคนของใครเลยทีเดียว

หลังได้ปลัด สธ.คนใหม่อย่างเป็นทางการ นับจากนี้ก็คือการแต่งตั้งข้าราชการระดับ 10 ในตำแหน่งที่ว่างอยู่ 5 ตำแหน่ง

2 กรม และ 1 ผู้ตรวจราชการที่เกษียณ คือ นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย นพ.ธวัชชัย กลมธรรม อธิบดีกรมแพทย์แผนไทยฯ และ นพ.คำรณ ไชยศิริ ผู้ตรวจราชการ

กับอีก 1 รองปลัดที่ลาออกไปเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชน คือ นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย

และ 1 กรมควบคุมโรคที่อธิบดีคือ นพ.โสภณ ขึ้นเป็นปลัด สธ.ใน 1 ต.ค.ที่จะถึงนี้

หลังจากนั้น ก็จะไปสู่ระดับ สาธารณสุขนิเทศก์, รองอธิบดี, นพ.สสจ., ผอ.ต่างๆ ใน สป.สธ. และ ผอ.รพศ./รพท.

ปกติที่ทำกันมานั้น ช่วงนี้ก็จะเป็นการแต่งตั้งโยกย้าย แต่เมื่อมีเริ่มจะมีการส่งเสียงจากบางฝ่ายว่า จะมีการแต่งตั้งและโยกย้ายสืบทอดอำนาจเอาคนของปลัดณรงค์ สหเมธาพัฒน์ไว้ต่อ

นพ.ปิยะสกลก็แก้เกมด้วยการให้สัมภาษณ์ว่าการโยกย้ายทุกอย่างจะทำขึ้นหลัง 1 ต.ค.เป็นอำนาจของปลัดคนใหม่

ด้วยเหตุนี้ เรื่องใน สธ.ก็เงียบลงอีก

เช่นเดียวกับที่มีหลายฝ่ายจับตาว่า ช่วงที่ สธ.มีรักษาการปลัดนั้น ได้มีการแต่งตั้งคนที่เป็นเครือข่ายของชมรมแพทย์ชนบทขึ้นมาอยู่ในระนาบบริหารส่วนกลาง 2 ราย เดิมเชื่อกันว่าเมื่อปลัดณรงค์กลับมา ก็น่าจะเอาคืนด้วยการโยกย้าย แต่การณ์ที่ผ่านก็เห็นชัดเจนว่า ไม่มีการจัดการ ซึ่งนั่นเป็นเพราะไม่ต้องการให้เปิดประเด็นสร้างความขัดแย้งขึ้นมาอีก ดังนั้นสิ่งที่น่าจะเป็นได้สำหรับ 2 ท่านนั้นก็คือ อาจจะอยู่ในตำแหน่งเดิมๆ รอวันฟ้าเปลี่ยนสีการเมืองกลับมาเป็นพวกตัวเองจึงจะได้ขึ้นอีกครั้ง

ขณะที่ฟากความขัดแย้งระหว่าง สธ.และ สปสช.เรื่องวิธีการจัดสรรงบประมาณนั้น ก็เบาบางลง แต่ก็ยังต้องจับตาในช่วงของการที่บอร์ด สปสช.ชุดเดิมจะหมดวาระในเดือน พ.ย.58 นี้ ว่าจะมีใครมาเป็นกรรมการ โดยเฉพาะในสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ และหลังจากนั้นก็จะเป็นคิวการเลือกเลขาธิการ สปสช.คนใหม่ แทน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการคนเดิมที่ตอนนี้ถูก ม.44 ให้มาปฏิบัติราชการที่ สป.สธ.และจะหมดวาระในตำแหน่งเลขาธิการ พ.ค.59 นี้

จากเหตุการณ์ทั้งหมดก็ถือว่า 1 เดือนแรกของ นพ.ปิยะสกลและทีมงาน ผ่านตัวชี้วัดเรื่องความสงบไปได้อย่างสบาย ส่วนนโยบายที่จะหวังปฏิรูปพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินนั้น อย่าได้หวังว่าจะมีอะไรใหม่ ประการสำคัญมาจากความขัดแย้งอย่างรุนแรงที่ผ่านมา ที่คู่ขัดแย้งในแต่ละฝ่ายทำได้ทุกอย่างโดยไม่สนใจกติกา เล่นเกมแบบ zero sum game เอาให้พังกันไปข้างหนึ่ง จึงต้องยันกันอยู่อย่างนี้ และไม่มีทีท่าว่าจะเกิดสิ่งใหม่ๆ แบบแนวการปฏิรูประบบสาธารณสุขยกสองแน่นอน

ดังนั้นนับจากนี้ แค่ทำให้ไม่ขัดแย้งกันจนทำงานประจำกันไม่ได้ ก็ถือเป็นผลงานชิ้นโบแดงของ นพ.ปิยะสกลแล้ว