ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.กรุงเทพธุรกิจ : ศอตช.เดินหน้าสอบใช้งบประมาณ สสส. "ไพบูลย์" ระบุข้อมูล "คตร.-สตง." ชี้ชัด  2 ประเด็นใช้เงินผิดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน-ผิดวัตถุประสงค์องค์กร ระบุต้องมีคนรับผิดชอบ เตรียมเรียกตัวแทนกองทุนฯ เข้าชี้แจงสัปดาห์หน้ารายโครงการ พร้อมเล็งสอบต่อพิรุธ "กรรมการ" หน้าเดิมเวียนกันมาทำหน้าที่ ขณะที่ สตง.รับหนังสือร้องเรียน "เรืองไกร"จ่อสอบเงินสนับสนุน "สถาบันอิศรา" กว่า 100 ล้าน "พิศิษฐ์" ชี้เหตุงบฯไม่ผ่านสภาฯ ส่งผลใช้จ่ายผิดเงื่อนไข ระบุถึงเวลาทบทวนการใช้จ่ายเงินภาษีแบบเดิม

นสพ.กรุงเทพธุรกิจ : พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แถลงวานนี้ (19 ต.ค.) ภายหลังประชุมศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ร่วมกับผู้แทนจาก 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย  คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณภาครัฐ (คตร.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท) เพื่อพิจารณาการตรวจสอบการใช้งบประมาณของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า จากการตรวจสอบของ คตร.และ สตง.พบว่า มีการใช้จ่ายงบประมาณที่ไม่เป็นไปตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งองค์กรหลายโครงการ

ดังนั้นเมื่อมีการใช้จ่ายไม่ตรงตามระเบียบจะต้องมีบุคคลที่รับผิดชอบ และต้องเสนอนายกรัฐมนตรีให้แก้ไขกฎระเบียบของสสส. โดยสัปดาห์หน้าจะมอบหมายให้เลขา ศอตช.เชิญผู้บริหารของ สสส.เข้าชี้แจงข้อเท็จจริงตามข้อเท็จจริงที่ตรวจพบ ซึ่ง คตร.และ สตง.ยืนยันตรงกัน

เล็งเรียก สสส.ชี้แจงรายโครงการ

สำหรับการชี้แจงของผู้บริหาร สสส.นั้น จะขอให้ชี้แจงเป็นรายโครงการว่าเป็นไปตามระเบียบหรือไม่อย่างไร หากไม่เป็นตามระเบียบ ให้ตรวจสอบลึกลงไปว่ามีประเด็นเจตนาทุจริตหรือไม่ รวมถึงเครือข่ายที่ได้รับเงินสนับสนุนจาก สสส.ก็ต้องถูกตรวจสอบด้วยเช่นกันว่ารับเงินไปใช้ตามวัตถุประสงค์หรือไม่ โดยจะตรวจสอบว่าแต่ละโครงการเริ่มต้นที่ใครและไปจบที่ใคร มีการใช้ช่องว่างเพื่อนำไปสู่การใช้จ่ายไม่ตรงกับวัตถุประสงค์หรือไม่      

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิของ สสส.ที่ผ่านมาเวียนกันมาทำหน้าที่ พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า "พวกคุณยังรู้ยังมองออก และคิดว่าผมทราบหรือไม่ ผมไม่ได้กินแกลบนะ ประเด็นนี้ท้ายที่สุดก็จะต้องมีการตรวจสอบ เมื่อ 2 ประเด็นข้างต้นได้ข้อยุติ  แต่ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับ สสส.ด้วย เพราะเชื่อว่าทุกองค์กรมีความตั้งใจดี ซึ่งยังไม่ได้บอกว่า สสส.ผิดหรือไม่ผิด แต่เราต้องตรวจสอบว่าระบบมีการอนุมัติโครงการอย่างไร เนื่องจากวันนี้เป็นเพียงการฟังความข้างเดียวจะยังไม่มีการสรุปใดๆ ทั้งสิ้น  จนกว่า สสส.จะเข้าชี้แจงรายละเอียดทุกโครงการ ในชั้นชี้แจงจึงขอให้ส่งผู้บริหารที่สามารถตอบข้อซักถามโดยละเอียด"     

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวอีกว่า ในส่วนการให้เงินสนับสนุนสื่อ ก็ต้องดูว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ ตรงกับวัตถุประสงค์การก่อตั้งองค์กรนี้หรือไม่ ประเด็นคือ ตรวจสอบว่าการใช้จ่ายตรงตามระเบียบการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินหรือไม่ เพราะในหลักการเห็นว่า  ทุกองค์กรในประเทศนี้ ต้องอยู่ในระเบียบเดียวกัน ไม่ได้คำนึงว่างบประมาณผ่านการตรวจสอบจากสภาฯ หรือไม่ เพราะที่ผ่านมางบที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ ก็มีการทุจริต

การตรวจสอบครั้งนี้จะพิจารณาว่าเงินที่นำไปใช้เป็นเงินของแผ่นดิน ไม่ใช่ว่าองค์กรจะนำไปใช้ตามอำเภอใจ เนื่องจากเรากำลังพูดถึงการใช้งบประมาณแผ่นดิน ซึ่งต้องระมัดระวังในเรื่องนี้  เพราะเรื่องนี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้การปฎิรูปไม่เกิดขึ้นก็ได้ ซึ่ง คสช.ต้องระมัดระวัง

ผู้สื่อข่าวถามว่ารัฐบาลตรวจสอบ สสส.เพราะให้งบฯ อุดหนุนสื่อตรวจสอบรัฐบาลหรือไม่  พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า เป็นการถามนำเพื่อนำไปสู่ความขัดแย้ง ถ้ารัฐบาลหรือ คสช.ทำอย่างนั้น  ก็จะทำให้ขาดความน่าเชื่อถือแล้วจะมาปฏิรูปซึ่งเป็นงานใหญ่กว่านี้ได้อย่างไร ตนไม่ทำอะไรที่ผิดไปจากหลักการ อย่านำไปโยงกัน ขณะนี้เราพูดกันถึงเรื่องการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน  ผิดคือผิด ถูกคือถูก จึงไม่ควรเอามาโยงกับตัวบุคคลหรือกลุ่มใดๆ 

"ผมยืนยันว่าไม่มีเรื่องแบบนี้และจะทำให้รอบคอบ  เพราะเรื่องนี้อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การปฏิรูปไม่สำเร็จก็ได้ เมื่อการตรวจสอบได้ข้อยุติ คตร.และ สตง.จะชี้แจงรายละเอียดในทุกประเด็นให้สิ้นข้อสงสัย" พล.อ.ไพบูลย์ กล่าว

สตง.รับข้อมูลเรืองไกรสอบ "อิศรา"

วันเดียวกันนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย เข้ายื่นหนังสือต่อนายพิสิษฐ์ ลีลาวิชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อขอให้ตรวจสอบการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของ สสส. ที่สนับสนุนสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทยจำนวนกว่า 100 ล้านบาท ว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 หรือไม่

พร้อมทั้งเรียกร้องให้สถาบันอิศรา ในฐานะที่เป็นองค์กรในการตรวจสอบเปิดเผยข้อมูลตัวเลขที่มาที่ไปของการใช้เงินให้ชัดเจน เนื่องจากมีหลายส่วนที่ยังไม่โปรงใสทั้งการใช้เงินเดินทางไปดูงานที่ประเทศลาว ที่เข้าข่ายผิดวัตถุประสงค์

ด้านนายพิสิษฐ์ เปิดเผยว่า เมื่อปี 2556 สตง.ได้ตรวจสอบการใช้จ่ายของ สสส. และได้รายงานไปยังนายกรัฐมนตรีจนมีการตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบไปแล้วครั้งหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม สตง.จะนำประเด็นการจ่ายเงินให้กับสถาบันอิศราไปพิจารณาตรวจสอบเพิ่มเติมจากข้อมูลเดิมที่มีอยู่

แนะรื้อระบบงบประมาณ สสส.

ส่วนการตรวจสอบการใช้งบประมาณของ สสส. ที่ไม่ต้องผ่านสำนักงบประมาณและเข้าสู่การพิจารณาของสภา การตรวจสอบจึงพบลักษณะการใช้งบประมาณที่ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ เช่น การสนับสนุนการจัดงานวันสำคัญของบุคคลต่างๆ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับสุขภาพ จึงถึงเวลาที่ต้องมีการทบทวนกันบ้าง อาจจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการใช้จ่ายเงินภาษีในลักษณะเดิมๆ และคิดว่าหน่วยงานต่างๆ ที่ได้รับงบประมาณจาก สสส.อยู่นั้นต้องเปิดใจกว้าง หากเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์และเกี่ยวข้องกับสุขภาพก็ไม่น่าจะได้รับผลกระทบ ไม่ว่าอนาคตจะมีการปรับเปลี่ยนการให้งบประมาณอย่างไร เพียงแต่อาจต้องมีการ กลั่นกรองตรวจสอบมากขึ้น    

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการปรับวิธีการให้งบประมาณ สสส.จะทำให้บริษัทสุรายาสูบได้รับผลประโยชน์หรือไม่ เพราะไม่ต้องจ่ายเพิ่ม 2% ให้กับ สสส.อีกต่อไป นายพิศิษฐ์ กล่าวว่าเรื่องนี้อยู่ที่การออกแบบ อาจจะไม่ได้เปลี่ยนจุดนั้น เพียงแต่เปลี่ยนวิธีการ ซึ่งการเก็บภาษีบาปเป็นเรื่องเชิงนโยบาย ถ้าไม่ส่งเสริมสินค้าประเภทนี้ก็เก็บภาษีสูงๆ แล้วเก็บงบประมาณเข้าแผ่นดิน ให้มาบริหารจัดการเป็นกรณีไป คิดว่าการจะแก้ไขนั้น คนแก้ก็มีวิจารณญาณพอ ไม่ใช่แก้เพื่อให้ใครได้ประโยชน์ แต่ต้องการแก้เพื่อใช้เงินให้เกิดประโยชน์คุ้มค่ามากที่สุด

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 20 ตุลาคม 2558