ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.กรุงเทพธุรกิจ : ศอตช.เรียก สสส.แจงใช้งบประมาณ 26 ต.ค.นี้ ก่อนเรียกผู้ที่ได้รับเงินสนับสนุนเข้าชี้แจงเป็นคิวต่อไป  "หมอปิยะสกล" เผยเร่งเดินหน้าสอบความเหมาะสมรายโครงการภายใน 3 เดือน ลั่นต้อง "ชะลอ" ทั้งหมดหากไม่มีความชัดเจน  สตง.สรุปความผิดปกติ 4 ข้อ ส่อเอื้อประโยชน์พวกพ้อง ขาดการติดตามประเมินผลการใช้เงิน หวั่นกระทบต่อสภาพคล่องกองทุนในอนาคต

พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ให้สัมภาษณ์วานนี้ (20 ต.ค.) ถึงกรณีตรวจสอบการใช้งบประมาณของสำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่าในวันจันทร์ที่ 26 ต.ค.นี้ จะเชิญ สสส. มาชี้แจงก่อน โดยจะยังไม่ได้เรียกหน่วยงานที่รับงบประมาณจาก สสส.มาพูดคุย เพราะต้องเป็นไปทีละขั้นตอน

ส่วนการพิจารณาก็ต้องว่าไปตามระเบียบ ซึ่งเท่าที่มีการชี้แจงข้อมูลมาให้ ศอตช.รับทราบ พบว่าการใช้เงินบางส่วนไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ซึ่งตนก็ได้ชี้แจงว่าอะไรที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ก็ต้องแจ้งให้ สสส.รับทราบด้วยว่าต้องดำเนินการแก้ไขอย่างไร เพราะเงินทุกอย่างเป็นเงินของรัฐเป็นเงินของแผ่นดิน ซึ่งตามระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินก็ต้องใช้งบประมาณตามที่ระเบียบกำหนดไว้ ไม่มีสิทธิ์ไปใช้อย่างอื่น

อย่างไรก็ตาม โครงการที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ต้องถูกตรวจสอบอย่างรอบคอบ แต่จะไปยกเลิก สสส.คงไม่ได้ เพราะตัววัตถุประสงค์ของโครงการถือว่าทำได้ดี เป็นประโยชน์กับประชาชน แต่ถ้ามีอะไรที่บกพร่องก็ต้องไปแก้ไขปรับปรุง เพื่อให้การใช้งบประมาณได้เกิดประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ด้าน นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่ ศอตช.สั่งให้มีการตรวจสอบการใช้งบประมาณของ สสส. ว่า นพ.เสรี ตู้จินดา ที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมกำหนดทิศทางการทำงานของ สสส.ตามที่ ศอตช.มอบหมาย จะมีการประชุมหารือเพื่อตรวจสอบว่าโครงการใดเหมาะสมจะเดินหน้าทำงานต่อ ส่วนโครงการใดที่เข้าข่ายน่าสงสัยคงต้องชะลอไว้ก่อน แต่ยังไม่ตัดสินใดๆในตอนนี้ทั้งสิ้น ซึ่งตนจะเข้ารับฟังด้วย

ทั้งนี้ การตรวจสอบต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อน 3 เดือน ตามที่คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) กำหนด ขณะนี้ผ่านไปเพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น

ส่วนการนัด สสส.ชี้แจงในวันที่ 26 ต.ค.นี้ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า เราจะทำเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด เพื่อให้ฝ่ายที่ควรได้รับงบประมาณไปดำเนินงานจะได้ทำงานต่อเนื่อง ขอย้ำว่าอะไรที่ยังไม่ชัดเจนให้ชะลอไว้ก่อน เมื่อถามถึงแนวคิดให้สำนักงบประมาณเป็นผู้อนุมัติเบิกจ่ายโครงการของ สสส.  นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ยังไม่ได้พูดกันถึงขั้นนั้น จะต้องรับฟังรายละเอียดจาก สสส.ที่จะชี้แจงก่อน

พิจารณาข้อมูล คตร.-สตง.ประกอบ

พล.ท.ชาตอุดม ติตถะสิริ ประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) กล่าวว่าการตรวจอสอบการใช้งบประมาณของ สสส. ทางกระทรวงสาธารณสุขได้รับไปตรวจสอบว่าใครมีข้อบกพร่องตรงไหนบ้าง ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการขอดูข้อมูล ซึ่งมาจาก คตร.ส่วนหนึ่งที่ส่งไปสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ได้เข้าไปตรวจสอบก่อนหน้า คตร.แล้ว   

ผู้สื่อข่าวถามว่า สตง.ได้เข้าตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการสวดมนต์ข้ามปี หรือการตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มากจนเกินไป ในส่วนของ คตร.จะเข้าไปตรวจสอบด้วยหรือไม่ ก่อนตอบ พล.ท.ชาตอุดม หัวเราะในลำคอและกล่าวเพียงว่า "เราเห็นข้อมูลทั้งหมดอยู่แล้ว"

สตง.สรุปผล 4 ข้อรายงาน ศอตช.

ขณะเดียวกันแหล่งข่าวกระทรวงยุติธรรมเปิดเผยว่า นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ได้รายงานผลการตรวจสอบกรณีผลประโยชน์ทับซ้อนของ สสส. ให้ที่ประชุม ศอตช. รับทราบว่าจากการที่ สตง.เข้าติดตามและตรวจสอบการดำเนินงานของ สสส. ตามคำสั่ง คตร. พบประเด็นต่างๆที่น่าสนใจ ดังนี้ 1.การจัดทำแผนของ สสส.ไม่รองรับและไม่สอดคล้องกับตัวชี้วัด โดยจัดทำแผนหลัก 3 ปี ไม่รองรับกับยุทธศาสตร์ 10 ปี ขาดความเชื่อมโยงกับแผนการดำเนินงานประจำปี มีเพียงการกำหนดแผนและงบประมาณของแต่ละแผน โดยไม่กำหนดจำนวนและวงเงินงบประมาณของโครงการที่จะดำเนินงานในระยะ 3 ปี

นอกจากนี้ยังกำหนดให้ผู้จัดการกองทุนสามารถปรับแผนได้ 10% ของเงินงบประมาณในปี 2557 ทำให้การดำเนินงานไม่บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมาย

2.การจัดทำงบประมาณไม่ถูกต้องและเหมาะสม เพราะ สสส. ไม่ได้นำงบบริหารจัดการสำนักงานที่เป็นค่าใช้จ่ายมารวมไว้ในงบประมาณรายจ่าย ทำให้เกิดภาระผูกพันด้านงบประมาณ ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจเป็นสาเหตุให้ สสส.ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องในอนาคต

พบขาดการประเมิน-ติดตามผล

3.มีการอนุมัติโครงการไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์การจัดตั้ง สสส. เช่น โครงการสวดมนต์ข้ามปีใช้งบ 33.45 ล้านบาท ในการประชาสัมพันธ์โครงการ และไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อการสร้างเสริมสุขภาพ การจ่ายเงินอุดหนุนโครงการเป็นค่าจ้างบุคคลโดยไม่ผ่านกระบวนการสรรหาตามหลักบริหารงานฝ่ายบุคคล และไม่เป็นไปตามกรอบอัตรากำลังของ สสส.

การอนุมัติเงินอุดหนุนโครงการ เอื้อประโยชน์เฉพาะกลุ่มบุคคล องค์กรหรือมูลนิธิขาดหลักธรรมาภิบาลและไม่โปร่งใส เช่น กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับ สสส.หลายรายได้จัดตั้งมูลนิธิและเสนอโครงการมาเป็นผู้รับเงินอุดหนุนเป็นจำนวนเงินสูงและต่อเนื่อง เป็นระยะเวลานาน การปฏิบัติดังกล่าวเป็นการเอื้อประโยชน์กันหรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนในการอนุมัติโครงการ อนุมัติเงินอุดหนุนโครงการแก่กลุ่มคน หรือมูลนิธิเดิมเป็นจำนวนเงินสูงมาก และจ่ายเงินงวดไม่เหมาะสม โดยอนุมัติเงินอุดหนุนโครงการมีการจ่ายเงินงวดสูงถึงร้อย 50-100% ของวงเงินอนุมัติ

4.ขาดระบบการประเมินการรายงานและติดตามผล เพราะ สสส.กำหนดให้มีการประเมินผลเชิงลึกสำหรับแผนงานชุดโครงการขนาดใหญ่ที่มีวงเงินงบประมาณกว่า 20 ล้านบาท แต่ไม่ได้กำหนดแนวทางอย่างชัดเจน สำหรับโครงการที่มีวงเงินน้อยกว่า 20ล้านบาท แสดงให้เห็นถึงขั้นตอนการรายงานให้ผู้บริหารทราบตามลำดับชั้นช

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 21 ตุลาคม 2558