ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มติชนสุดสัปดาห์ : การเข้าไปตรวจสอบสำนักงานกองทุนสนับสนุนและสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คือ บาทก้าว 1 ของกระบวนการ "ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง" หลังจากที่เคยแตะเข้าไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มาแล้ว

เป็นการแตะเข้าไปโดยใช้มาตรา 44 ย้าย นพ.วินัย สวัสดิวร ให้พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพฯ และอยู่ในระหว่างการสอบสวน "ข้อเท็จจริง"

การแตะเข้าไปยังสำนักงานกองทุนสนับสนุนและสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อาจยังไม่มีการโยกย้ายตำแหน่งใดตำแหน่ง 1 แต่ผลที่รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม ขยายผลจากการตรวจสอบ โดยคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)

ขั้นต้น ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนและสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

เหมือนกับเป็นการสร้าง "สปิริต" ขณะเดียวกัน ก็เท่ากับเป็นการ "หนี" จากปัญหาเฉพาะหน้า

ความเป็นจริงที่เห็นและเป็นอยู่ก็คือ การเดินหน้าตรวจสอบสำนักงานกองทุนสนับสนุนและสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ยังดำเนินต่อไป

โดย "ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.)” เป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน

คุณธรรม ความดีร้าวรวด สั่นสะเทือน

บทสรุปจากที่ประชุมศูนย์อำนวยการต่อต้านบการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) อันประกอบด้วย 1 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 1 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) 1 คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) 1 สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)

สรุปได้ 3 ประเด็น กล่าวคือ 1 พบมีการใช้จ่ายงบประมาณไม่เป็นไปตามระเบียบการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน 1 เมื่อไม่เป็นไปตามระเบียบการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน ต้องมีคนรับผิดชอบ 1 ต้องแก้ไขระเบียบของสำนักงานกองทุนสนับสนุนและสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกฎหมายอันเกี่ยวกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนและสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

แถลงจากประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.)

จะเชิญผู้บริหารสำนักงานกองทุนสนับสนุนและสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มาชี้แจง ต้องสอบเครือข่ายที่ได้รับงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนและสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

"ถ้าถึงใครดำเนินการหมด" นั่นหมายความว่าไม่เพียงแต่คณะกรรมการบริหารของสำนักงานกองทุนสนับสนุนและสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จะต้องได้รับการตรวจสอบ หากองค์กรเครือข่ายใดที่ได้รับผลประโยชน์ผ่านงบประมาณของกองทุน ก็จะต้องได้รับการตรวจสอบด้วย

ประเด็นจึงมิได้อยู่ที่การบริหารงานกองทุนจะเป็นการดำเนินการและตีความความหมายของ "สุขภาพ" ประการเดียว หากอยู่ที่ว่าวิถีแห่งสุขภาพนั้นเป็นไปตามระเบียบหรือไม่ อย่างไร

ที่สำคัญเป็นอย่างมากก็คือ รายงานของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ระบุว่า การจัดทำประมวลจริยธรรมของสำนักงานกองทุนสนับสนุนและสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ไม่เป็นไปตามแนวทางของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) อีกด้วย

ทั้งหมดนี้เท่ากับทะลวงเข้าไปในกระบวนการของ "คนดี" ที่ทำงานเพื่อ "สุขภาพ" ทำงานเพื่อสังคมอย่างลึกซึ้ง

ประมวลความผิดรายงานของ "สตง."

สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จัดทำรายงานและประมวลกรณีผลประโยชน์ทับซ้อนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนและสร้างเสริมสุขภาพ  (สสส.) ในที่ประชุมศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ว่าประกอบด้วย

1. การจัดทำแผนไม่รองรับและไม่สอดคล้องกับตัวชี้วัด

โดยจัดทำแผน 3 ปีไม่รองรับกับยุทธศาสตร์ 10 ปี ขาดความเชื่อมโยงกับแผนดำเนินงานประจำปี มีเพียงการกำหนดแผนและงบประมาณของแต่ละแผนโดยไม่กำหนดจำนวนและวงเงินงบประมาณ

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนและสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สามารถปรับแผนได้ร้อยละ 10 ของเงินงบประมาณในปี 2557 ทำให้การดำเนินงานไม่บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมาย

2. การจัดทำงบประมาณไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสม เพราะไม่ได้นำงบประมาณบริหารจัดการสำนักงานที่เป็นค่าใช้จ่ายมารวมไว้ในงบประมาณรายจ่าย ทำให้เกิดภาระผูกพันด้านงบประมาณที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจจะเป็นสาเหตุให้ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องในอนาคต

3. มีการอนุมัติโครงการไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์การจัดตั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนและสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เช่น โครงการสวดมนต์ข้ามปี ใช้งบฯ 33.45 ล้านบาทในการประชาสัมพันธ์โครงการและไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อการสร้างเสริมสุขภาพ

การจ่ายเงินอุดหนุนโครงการเป็นค่าจ้างบุคคลและไม่เป็นไปตามกรอบอัตรากำลัง

การอนุมัติเงินอุดหนุนโครงการเอื้อประโยชน์เฉพาะกลุ่มบุคคล องค์กร หรือมูลนิธิ ขาดหลักธรรมาภิบาลและไม่โปร่งใส

4. ขาดระบบการประเมิน การรายงานและติดตามผล

เพราะสำนักงานกองทุนสนับสนุนและสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กำหนดให้มีการประเมินผลเชิงลึกสำหรับแผนงานชุดโครงการขนาดใหญ่ที่มีวงเงินงบประมาณกว่า 20 ล้านบาท แต่ไม่ได้กำหนดแนวทางอย่างชัดเจนสำหรับโครงการที่มีวงเงินน้อยกว่า 20 ล้านบาท

ทั้งหมดเท่ากับสะท้อนให้เห็น "แนวโน้ม" และ "เป้าหมาย" ที่จะรื้อโครงสร้างของสำนักงานกองทุนสนับสนุนและสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อย่างเด่นชัด

เป็นความหมายเชิงรูปธรรมของ "ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง"

เริ่มต้นที่ "สสส."องค์กร ตระกูล "ส."

จากนี้จึงเห็นได้ว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ถูกทะลวงแล้ว สำนักงานกองทุนสนับสนุนและสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ถูกทะลวงแล้วเหมือนกับการจัดระบบภายใน "กระทรวงสาธารณสุข"

กระบวนการปรับ ครม. ที่ตัดทั้ง นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน พ้นจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข

แล้วนำ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เข้ามาแทนที่ กระบวนการทั้งหมดนี้คือการปรับเปลี่ยนสายการบังคับบัญชาและการบริหารงาน ความสัมพันธ์ระหว่างกระทรวงสาธาธารณสุขกับองค์กร "ตระกูล ส."

เป็นไปตามหลักการ "ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง" ครบถ้วน

ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 - 29 ต.ค. 2558 คอลัมน์ กรองกระแส